ไม่มีผี

มาหามังกร – ไม่มีผี ก็เลยไม่เจอผี?

ตั้งแต่เด็ก เท่าที่จำความได้ ผมเป็นคนกลัวความมืด กลัวผีหลอก ซึ่งก็ไม่ต่างจากใครหลายคนที่ไม่กล้าไปไหนมาไหนคนเดียวในเวลากลางคืน หรือแม้กระทั่งเวลากลางวันในสถานที่รกร้าง เงียบสงัด และดูเปล่าเปลี่ยว หรือจะเป็นที่ที่ทำให้ระลึกถึงคำบอกเล่าเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับ ฉากในภาพยนตร์สยองขวัญที่หลอนติดตาทุกครั้งตอนเผชิญกับความมืด

        เราโตขึ้นมาพร้อมกับเรื่องผีๆ โรงภาพยนตร์ก็ฉายหนังผี เปิดโทรทัศน์ดูก็เจอโฆษณาหนังผี ละครผี หรือแม้กระทั่งรายการของผู้ที่มีพลัง ‘จิตสัมผัส’ สามารถสื่อสารกับวิญญาณได้ เมื่อเปิดวิทยุก็มีรายการ เดอะช็อค หนังสือการ์ตูน ขายหัวเราะ ก็ชอบเล่นมุกเกี่ยวกับผี อยู่กับเพื่อนก็ตั้งวงเล่าเรื่องผี แม้กระทั่งคุณครูบางคนยังชอบเล่าเรื่องผีหน้าชั้นเรียน

        เรียกได้ว่าสังคมเราพูดถึงผีในหลายมิติทีเดียว ซึ่งโดยมากจะพูดถึงในด้านความเฮี้ยน ความประหลาดน่ากลัว และความสยองขวัญเป็นหลัก

        จะมีจริงหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่สภาพแวดล้อมของสังคมเราหล่อหลอมให้จิตใจของใครหลายคนเชื่อในเรื่องภูตผีอย่างช่วยไม่ได้ และเพราะว่าคนเหล่านั้น ‘เชื่อ’ ว่ามีอยู่จริง จึง ‘กลัว’ ที่จะเจอ และคอยหลีกเลี่ยงการนำตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงที่จะเจอ

         อย่างไรเสีย คงจะมีหลายท่านที่เคยไปต่างประเทศและรู้สึกไม่กลัว หรือกลัวน้อยลงกว่าตอนอยู่ที่ไทย เพราะการรับรู้เรื่องผีในพื้นที่ต่างถิ่นนั้นมีไม่แยะอย่างตอนที่อยู่ไทย หรือบางคนอาจคิดว่าผีต่างชาติไม่น่ากลัวมากเท่าผีไทย

        จากพฤติกรรมดังกล่าวชี้ให้เราเห็นว่า ความกลัวที่มีต่อผีนั้นขึ้นอยู่กับระดับความเชื่อเรื่องผี อันความเชื่อนั้นเกิดมาจากการรับรู้ข้อมูลและเรื่องราวเกี่ยวกับผีอีกที

        ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุให้หลายคนกลัวผีนั่นเอง

 

        แต่จะเชื่อหรือไม่ก็ตามแต่ ประเทศจีนคือสังคมที่ไม่เชื่อเรื่องผี ที่ไม่เชื่อนั้นก็เพราะคำว่า ‘ผี’ แทบจะไม่ถูกนำเสนอในขึ้นมาเลยนั่นเอง อันเป็นผลมาจากนโยบายที่มีความเข้มงวดและตวามละเอียดในการควบคุมไม่ให้ภาพของผี หรือสิ่งลี้ลับที่สร้างความงมงายให้กับจิตใจมนุษย์ มิให้มาเผยแพร่ในสื่อหรือตามที่สาธารณะ

        หนังผีไม่สามารถเป็นภาพที่ขึ้นอยู่บนป้ายโฆษณา และไม่สามารถเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ได้ จะมีอยู่ประปรายเฉพาะในบริการสตรีมมิง ซึ่งโดยมากจะเป็นหนังผีจากต่างประเทศที่ไม่ได้ถ่ายทำในจีน หากลองนึกดูดีๆ ภาพยนตร์จีนที่เคยผ่านตาเรามาก่อน แทบจะไม่มีเรื่องใดที่เป็นหนังผีเลย หากจะมีบ้าง ก็คงจะเป็นแนวผีกระโดดดึ๋งๆ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นภาษาจีน แต่แท้จริงแล้วเป็นภาพยนตร์ฮ่องกง ไม่ได้ถูกผลิตในจีนแผ่นดินใหญ่

        การพยายามทำหนังผีในจีนกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก ผู้กำกับทั้งหลายก็หลีกเลี่ยงในการผลักดันหนังผี เพราะจะทำให้เสียทั้งเงิน ทั้งเวลา

        และเหตุผลในการกีดกันหนังผีนั้นก็ง่ายดายนัก ที่รัฐบาลจีนไม่ต้องการให้มีหนังผี ก็เพื่อเป็นการป้องกันความเชื่องมงายไร้เหตุไร้ผลแพร่ระบาดในความคิดประชาชน ซึ่งนอกเหนือจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์แล้ว วงการสื่ออื่นๆ ก็ถูกควบคุมอย่างเข้มข้น ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ รายการโทรทัศน์ วิทยุ และอื่นๆ

        การควบคุมที่จริงจังและเข้มงวดนี้ให้ผลอย่างดีเยี่ยม เพราะทำให้คนจีนไม่เชื่อเรื่องผี ที่ไม่เชื่อก็เพราะไม่รู้จัก ไม่ใช่ว่าไม่รู้จักคำว่า ‘ผี’ โดยสิ้นเชิงเลย แต่เป็นการเห็นว่าเรื่องผีนั้นไกลตัว และเป็นเพียงเรื่องเล่าสนุกปากเท่านั้น คำว่า ‘ผี’ บางครั้งถูกนำมาเป็นคำล้อเล่นสนุกปากเท่านั้น

        แต่จะบอกว่าคนจีนอยู่อย่างไร้ซึ่งความเชื่อก็ไม่ถูก เพราะคนจีนยังเชื่อในเรื่องของดวงชะตา โชคลาง และฮวงจุ้ย ซึ่งเป็นการเชื่ออีกรูปแบบที่เน้นการยึดเหนี่ยวทางจิตใจ การสร้างความหวังที่จะได้มาซึ่งโชคลาภเงินทอง ความร่ำรวย ความสำเร็จ และเกียรติยศเท่านั้น ไม่ใช่ความเชื่อที่สร้างความกลัวและต้องคอยกราบไหว้บูชา

        เมื่อมองภาพรวม ก็ยังคงมีคนจีนบางส่วนทางภาคใต้ที่ยังเชื่องเรื่องผี โดยได้รับอิทธิพลมาจากฮ่องกง โดยความเชื่องมงายเหล่านั้นดูจะไม่ใส่ใจความเกรงกลัวต่ออำนาจนัก แต่เป็นไปในทิศทางของการรีดเร้นทรัพย์สินในทุกวิถีทาง จะเชื่อหรือไม่ แต่ก็บูชาไว้ก่อน เพราะถ้าบูชาแล้วได้ดีจริงก็ถือเป็นลาภ หรือต่อให้ไม่เป็นเรื่องจริง การสละเวลาเล็กน้อยเพื่อมาบูชาก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย

        ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าการนำเสนอผ่านสื่อนั้นสร้างอิทธิพลต่อจิตใจคนในแต่ละพื้นที่ ในพื้นที่ที่สื่อนำเสนอเรื่องงมงายน้อย ความเชื่องมงายในหมู่ชนย่อมน้อย ในทางตรงข้าม ในพื้นที่ที่สื่อนำเสนอเรื่องงมงายเยอะ ความเชื่องงมงายในหมู่ชนย่อมมีอยู่แยะ

        แล้วอย่างไรล่ะ ประเทศไทยเรานำเสนอเรื่องราวงมงายมากน้อยแค่ไหน ความเชื่องมงายในหมู่ชนมากน้อยแค่ไหน ก็ลองคิดดูนะครับ