กฎหมายกตัญญู

‘ความกตัญญู’ จากวัฒนธรรมสู่กฎหมายเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนให้ประเทศจีน

百善孝 – อันคุณธรรมทั้งปวง ความกตัญญูคืออันดับแรก”

        หนึ่งในภาษิตจีนทีเหล่าซือประจำคลาสนำมาสอนอยู่บ่อย ๆ จนผมท่องจำได้อย่างแม่นยำ

        ตอกย้ำให้ชัดเจนถึงความสำคัญของคุณธรรมว่าด้วยความกตัญญูในหมู่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ และชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งมองว่าความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณคือสิ่งที่นำพาเราสู่ความเจริญรุ่งเรือง และผู้มีพระคุณสูงสุดสำหรับชาวจีนก็คงหนีไม่พ้น ‘บุพการี’ หรือพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดนั่นเอง

        คนจีนนั้นยึดถือคุณธรรมมากมายหลายข้อ ทั้งความขยันหมั่นเพียร ความซื่อสัตย์ ทำมาหากินสุจริต ถือสัจจะ เสียสละ และประหยัดอดออม ฯลฯ แต่ความสำคัญของคุณธรรมเหล่านี้ล้วนเทียบไม่ได้กับความกตัญญู กล่าวคือ ความกตัญญูคือเครื่องมือที่สร้าง ‘แรงผลักดัน’ ให้ผู้คนยึดถือคุณธรรมข้ออื่นๆ แทบจะทั้งหมด

        ถึงแม้ว่าแนวคิดความกตัญญูตามแบบฉบับจีนโบราณที่บัญญัติขึ้นโดย ‘ขงจื้อ’ มุ่งเน้นเรื่องการเคารพรัก ตอบแทนบุญคุณ เชื่อฟังคำสอน อ่อนโอน ไม่ขัดใจผู้มีพระคุณโดยเฉพาะบุพการี อาจฟังดูเก่าแก่คร่ำครึในสมัยนี้ แต่หารู้ไม่ว่าความกตัญญูสำหรับคนจีนถือเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่มีส่วนทำให้ชาวจีนมีนิสัยทะเยอทยาน ต้องการให้ตัวเองประสบความสำเร็จมากที่สุด

        กดดันให้ตัวเองให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อประโยชน์แก่ครอบครัว เมื่อพ่อแม่กดดันให้ลูกตั้งใจเรียน ไม่ทำตัวเหลวไหล หรือทำให้พ่อแม่ต้องเสียหน้า เด็กที่เคยชินกับการฟังคำพ่อแม่ก็จะโตขึ้นมาอย่างมีวินัยเคร่งครัด ขยันทำมาหากิน และมีเป้าหมายในชีวิต เมื่อต้องการจะที่ประสบความสำเร็จ แรงจูงใจและระดับของความตั้งใจทำงานก็ย่อมเพิ่มสูงขึ้น เมื่อลูกประสบความสำเร็จ แต่งงานกับคนดี กลายเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคม พ่อแม่ก็จะพลอยได้รับความเคารพนับถือ และคำชื่นชมว่า ‘เลี้ยงลูกได้ดียิ่งนัก’ เสมอๆ

        หากว่ากันด้วยเหตุผลนี้ ความกตัญญูจึงไม่ใช่แค่เพียงการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ หรือการเป็นลูกที่ดี แต่ยังส่งผลให้เกิดความขยันขันแข็งเพื่อชื่อเสียงของครอบครัว รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการทำงาน ซึ่งส่งผลดีต่อสังคม ทำให้ประเทศชาติก้าวหน้าไปในทางที่ดีขึ้นได้

        การปฏิวัติวัฒนธรรมคือช่วงเวลาหนึ่งที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์จีน เป็นช่วงเวลาที่พรรคคอมมิวนิสต์ปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้ล้มล้างวัฒนธรรมเก่า เพื่อสร้างค่านิยมใหม่ที่เต็มไปด้วยความเท่าเทียมตามอุดมคติของคอมมิวนิสต์เหมาอิสต์ เมื่ออุดมการณ์ทางการเมืองเข้ามาแทนที่ศีลธรรม เด็กๆ ถูกส่งเสริมให้แสดงพฤติกรรมแข็งข้อ กล่าวโทษว่าพ่อแม่ของตนมีความคิดล้าสมัย เก่าแก่คร่ำครึ สิ่งที่โหดร้ายที่สุดในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมคือการที่สังคมจีนกลายเป็นสังคมที่ไร้ซึ่งความรัก สายใยครอบครัวมากมายถูกตัดขาด ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อคนในครอบครัวถูกทำลายสิ้นซากอยู่ยาวนานกว่าสิบปี

        ภายหลังจากการปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลง คณะผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์ชุดใหม่ที่ขึ้นมารับหน้าที่ได้ปรับเปลี่ยนทิศทางโดยการเปิดประเทศ และเริ่มนำศีลธรรมโบราณกลับมารื้อฟื้น เพื่อให้คนในประเทศมีจุดยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ความกตัญญูกลับมาเป็นคุณธรรมที่ถูกสรรเสริญอีกครั้ง ด้วยวิธีทางการตลาดของรัฐบาล ผ่านการโปรยคำขวัญในสื่อโทรทัศน์วิทยุ สุนทรพจน์ของผู้นำ และการปลูกฝังผ่านระบบการศึกษา

        จนปัจจุบัน ความกตัญญูได้กลับมาสู่วิถีชีวิตของคนจีนอีกครั้ง และภาครัฐได้ยกระดับความกตัญญูขึ้นไปอีกขั้นโดยการออกกฎหมายที่เรียกว่า ‘กฎหมายกตัญญู’ (李道法) ขึ้นมา เพื่อให้ตอบสนองกับจีนยุคที่กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เป็นปัญหาสืบเนื่องจากยุค ‘นโยบายลูกคนเดียว’ ที่ผ่านมา

        กฎหมายกตัญญู พูดง่ายๆ คือข้อบังคับให้ลูกหลานชาวจีนกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่อย่างสม่ำเสมอ บริษัทต่างๆ ก็ต้องยอมให้ลูกจ้างลางานเพื่อกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่ กฎหมายมิได้กำหนดมาตรฐานแน่ชัดว่าต้องกลับบ้านเยี่ยมพ่อแม่เดือนละกี่ครั้ง หรือปีละกี่หน ไม่กำหนดแม้กระทั่งโทษทางอาญาหากฝ่าฝืน แต่ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้พิพากษา

        เหล่าซือประจำชั้นของผมเคยเล่าว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคุณแม่ชาวจีนวัยชราผู้หนึ่งได้ฟ้องร้องลูกๆ ของตนเองด้วยข้อหาทอดทิ้งให้อยู่คนเดียว ไม่ยอมกลับมาดูแลเป็นเวลาหลายปี โดยศาลได้ตัดสินให้ลูกๆ จ่ายค่าบำรุงรักษา และต้องกลับมาเยี่ยมแม่วัยชราที่บ้านทุกๆ 2 เดือน

        สำหรับผม แน่ละในเบื้องต้นย่อมมองว่าเป็นวิธีการที่แปลกพิลึก แต่ก็ต้องยอมรับว่าได้ผล เพราะค่านิยมก่อนหน้าที่คนจีนแข่งกันทำงานในวันหยุดเพื่อรับค่าแรงสองเท่าได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเมื่อใกล้ถึงวันหยุด สิ่งแรกที่เข้ามาในหัวคนจีนคือกลับบ้านเกิดไปหาพ่อแม่

        หากวิเคราะห์ผ่านสายตาของผม การส่งเสริมความกตัญญูถือเป็นคุณต่อชาติบ้านเมืองอยู่ไม่น้อย เพราะนอกจากจะทำให้ผู้คนยึดถือในคุณธรรม ยังเป็นการส่งเสริมให้กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นอีกด้วย

        สำหรับคนต่างจังหวัดที่เข้ามาในเมืองใหญ่เพื่อแสวงหาโอกาสและความรุ่งโรจน์ รู้ตัวอีกทีก็ลืมบ้านเกิดเสียแล้ว การมีค่านิยมความกตัญญูในสังคม อาจทำให้ลูกหลานอยากกลับบ้านมากขึ้น เป็นกุศโลบายที่ทำให้คนจีนไม่ลืมบ้านเกิด ไม่ลืมที่มา ไม่ลืมว่าตัวเองเป็นใคร ทำให้เรามีความรักความผูกพันต่อพ่อแม่ เพื่อนพ้อง ญาติพี่น้อง และสถานที่ที่เป็นบ้านเกิดมากขึ้น ยิ่งทำให้มีความคิดที่อยากจะทำประโยชน์ให้บ้านเกิดฝังลึกลงไปในจิตใจ เมื่อประสบความสำเร็จในเมืองใหญ่ก็ไม่ลืมที่จะนำความรู้ความสามารถกลับไปพัฒนาชุมชนของตัวเอง

        สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ หากฝังลึกลงไปในใจของคนส่วนใหญ่ในสังคมจีนได้ ย่อมทำให้เกิดคุณประโยชน์ใหญ่หลวงต่อประเทศจีนได้

        ความกตัญญูหาใช่เพียงการเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ไม่ แต่เป็นแรงจูงใจสำคัญของคนในสังคมจีน เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความพัฒนา เป็นแรงขับเคลื่อนในคราบของคุณธรรม

        ถ้าถามว่าความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณสามารถนำมาซึ่งความเจริญได้จริงไหม – ผมขอตอบว่าใช่!