มาหามังกร

จาก ‘ทรัมป์’ สู่ ‘ไบเดน’ คู่ชกคนใหม่ในการเมืองจีน-สหรัฐฯ

จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ทั่วโลกจับตามอง โดย ‘โจ ไบเดน’ ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตผู้ชนะการเลือกตั้งกำลังจะกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา และดูเหมือนว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะส่งสัญญาณขานรับเป็นอย่างดี

        คำถามที่ถูกนำมาวิเคราะห์อย่างกว้างขวางคือความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะเป็นไปฉันใด

        เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าความขัดแย้งระหว่างสองประเทศเป็นไปอย่างตรึงเครียดตลอดช่วง 4 ปีที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ จาก ‘สงครามการค้า’ พัฒนาเป็น ‘สงครามเทคโนโลยี’ สู่ ‘สงครามความมั่นคง’ และมีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็น ‘สงครามเย็น 2.0’ ตามที่นักวิเคราะห์ทั้งหลายได้วิเคราะห์เอาไว้

        ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญการเมืองระหว่างประเทศ แต่เท่าที่ผมเห็นตามโซเชียลมีเดียของจีน พอจะพูดได้ว่าคนจีนส่วนใหญ่สนับสนุนไบเดนมากกว่า ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะที่ผ่านมาทรัมป์ได้วางตัวเป็นปรปักษ์กับจีนมาตั้งแต่ต้น ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่คนจีนจะไม่ชอบ

        แต่ก็มีนักวิชาการชาวจีนบางท่านและสื่อจีนบางสำนักวิเคราะห์เอาไว้ว่าอย่างน่าสนใจว่าแท้จริงแล้วผู้นำจีนอาจจะอยากให้ทรัมป์อยู่ต่อมากกว่า

        ทำไมน่ะหรือ?

        เพราะการที่ทรัมป์วางตัวเป็นศัตรูตัวร้ายของจีน ได้สร้างกระแสรักชาติให้กับประชาชนชาวจีนทุกระดับอย่างกว้างขวาง กล่าวคือยิ่งทรัมป์ฟาดฟันจีนหนักเท่าไหร่ คนจีนยิ่งรักสมัครสมานกันมากขึ้นเท่านั้น และความสามัคคีก็นำไปสู่เป้าหมายของคนในชาติที่จะยิ่งขยันทำงาน พัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเตรียมพร้อมกับทุกสถานการณ์ จนนักวิเคราะห์หลายท่านพูดถึงปรากฏการณ์นี้ว่าการวางตัวของทรัมป์ที่ผ่านมาน่ะ…

        แทนที่จะ ‘Make America Great Again’ มันจะกลับกลายเป็น ‘Make China Great Again’ หรือไม่?

        แต่ไม่ว่าทรัมป์หรือไบเดนจะชนะ ‘สี จิ้นผิง’ ก็จะยังคงเป็นประธานาธิบดีของจีนต่อไปอยู่ดี!

        ท่าทีของสองมหาอำนาจตลอดเวลา 4 ปีที่ทรัมป์ครองตำแหน่งมีลักษณะเป็นสงครามยืดเยื้อ บางช่วงก็ตีกันดุเดือด บางช่วงก็มีข่าวดีว่าทั้งสองเหมือนจะตกลงอะไรกันได้ แต่ก็เป็นเพียงการสงบศึกระยะสั้น สุดท้ายกลับมาตีกันยาวๆ โดยนักวิชาการฝ่ายสหรัฐฯ วิเคราะห์ว่าเป็นการเล่นเกมถ่วงเวลาของจีนที่ตั้งใจแสดงท่าทีให้ดูเหมือนจะยอมเจรจา แต่กลับปฏิเสธสัญญาในช่วงโค้งสุดท้าย

        ทางนักวิเคราะห์ฝ่ายจีนเองก็วิเคราะห์กันว่าเป็นความเหลื่อมกันระหว่างสีจิ้นผิงและทีมเจรจาของจีน โดยประธานสีมองว่าทีมเจรจาฝ่ายจีนมีท่าทียอมโอนอ่อนตามสหรัฐฯ มากเกินไป เป็นเหตุให้สีต้องตัดสินใจหักดีลตอนสุดท้าย เพื่อแสดงให้สหรัฐฯ รู้ว่าจีนจะไม่ยอมอ่อนข้อ

        เหตุการณ์ดำเนินไปในลักษณะนี้อยู่ตลอดระยะ 4 ปี ตลาดหุ้นผันผวนอยู่ทุกระยะ ก่อนจะเข้าสู่ยุคโควิด-19 ที่ท่าทีของทั้งสองฝ่ายดูจะทวีความแข็งกร้าวขึ้นอีกหลายเท่า จนหลายฝ่ายเกรงกลัวว่าจะเกิดเป็นสงครามในอนาคต

        กลับมาที่คำถามว่าทิศทางความขัดแย้งจะดำเนินต่อไปอย่างไรในยุคของ โจ ไบเดน?

        แน่นอนว่าตัวเลขสีเขียวบนกระดานหุ้นคงจะไม่โกหกเราหรอก การขึ้นมารับตำแหน่งของไบเดนเป็นสัญญาณอันดีที่ทั้งสองมหาอำนาจจะได้กลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กันอีกครั้ง ท่าทีของฝ่ายจีนก็ค่อนข้างชัดเจนว่าพร้อมจะให้ความร่วมมือในการหาทางออกจากปัญหาความขัดแย้ง แต่ก็ยังไม่เชื่อใจเต็มร้อย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับท่าทีของสหรัฐฯ ด้วย

        แน่นอนว่าหลังจากนี้รูปแบบของเกมกำลังจะเปลี่ยนไป นักวิเคราะห์ชาวจีนหลายท่านได้ออกมาพูดถึงการรับตำแหน่งของไบเดนว่าจะมีผลกระทบในทางลบในบางข้อ เช่น…

        ความเป็นไปได้ที่การจากไปของทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีที่วางตัวเป็นคู่แข่งอาจทำให้กระแสชาตินิยมของจีนลดลง

        อีกประการหนึ่งคือท่าทีของไบเดนที่ไม่ได้วางตัวเป็นนักเลงโตเดินวางก้ามส่ายอาดๆ ชัดเจนเหมือนทรัมป์ อาจทำให้ยากต่อการคาดเดา เพราะไม่ว่าจะมีใครเป็นผู้นำ ทิศทางใหญ่ของสหรัฐฯ หาเปลี่ยนแปลงไปไม่ การคบหากับไบเดนอาจต้องมีเงื่อนไขเรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีการค้า รวมถึงการเข้มงวดกับทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอาจจะเป็นการยากและซับซ้อนกว่าการคบหากับทรัมป์ที่เป็นนักธุรกิจ ต่อรองทุกอย่างเป็นราคาได้โดยคำนึงถึงเพียงความคุ้มค่าเท่านั้น

        แต่ในเบื้องต้น เราน่าจะวาดหวังได้ว่าจะเห็นการพักศึกสงครามการค้าแล้วหันมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโควิด-19 มากขึ้น

        ไม่ว่าจะอย่างไร นักวิเคราะห์ชาวจีนส่วนหนึ่งยังออกมาเตือนในทำนองว่า ไม่ว่าทรัมป์หรือไบเดนจะชนะ ทั้งคู่ต่างต้องปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาอยู่ดี เพราะฉะนั้น ผู้นำจีนก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะตั้งรับเช่นกัน

        ดูเหมือนว่าชัยชนะของไบเดนจะไม่ใช่จุดจบของความขัดแย้ง แต่เป็นเพียงการพักรบ และลดความตึงเครียดของเวทีการเมืองโลกเท่านั้น

        ทิศทางความขัดแย้งและการปรับตัวของแต่ละฝ่ายจะเป็นอย่างไรต่อ คงต้องติดตามกันต่อไปครับ