มู่หลาน

มู่หลาน ความจีนในความไม่จีน

Mulan ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ประจำปีจากค่ายดิสนีย์ ที่ตั้งแต่เริ่มเข้าฉายในโรงภาพยนตร์และสตรีมบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงเซอร์วิส ก็มีประเด็นดราม่าต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นจุดยืนทางการเมืองของนักแสดงนำ และการปรับเปลี่ยนเนื้อหา รวมถึงบทของตัวละครที่แตกต่างไปจากฉบับการ์ตูน

        สำหรับผมที่ศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีน ค่อนข้างเข้าใจบริบทของสังคมจีน และได้ยินเรื่องราวของมู่หลานผ่านบทเรียนในบางวิชามาก่อน พบว่าการกล่าวถึงมู่หลานในแบบฉบับของคนจีนนั้นแตกต่างจากในฉบับการ์ตูนโดยดิสนีย์เมื่อปี 1998 ที่คล้ายจะเป็นต้นแบบของภาพยนตร์ Mulan ฉบับคนแสดงเรื่องล่าสุดในปีนี้

        ได้ลองเข้าไปอ่านความคิดเห็นบนโลกโซเชียลมีเดียของจีน พบว่าประเด็นเรื่องการเลือกใช้วัฒนธรรมจีนผ่านมุมมองคนนอกของผู้สร้างที่เป็นชาวตะวันตก เป็นปัญหาที่ขัดใจคนจีนอยู่พอสมควร

        อ่านเจอคอมเมนต์หนึ่งในบล็อกวิจารณ์หนังของสำนักข่าวชื่อดัง กล่าวว่า “ดู Mulan เวอร์ชันนี้เหมือนดูฝรั่งทำข้าวผัด” ข้าวผัดก็คืออาหารที่คนจีนนิยมกินในชีวิตประจำวัน เป็นอาหารสามัญประจำบ้านที่พ่อครัวแม่ครัวชาวจีนทำได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ไม่ใช่สำหรับฝรั่งที่ไม่ได้นิยมกินเมนูข้าว

        บางคนก็บอกว่า Mulan เป็นหนังที่ต้องดูไปส่ายหัวไป บางฉากถึงกับถอนหายใจแล้วพูดว่า “ไอหยา…” ทีเดียว

        การแสดงความคิดเห็นเหล่านี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าความพยายามในการใส่ ‘ความเป็นจีน’ ลงไปในหนังเรื่องนี้ มิได้เป็นไปในทางที่ถูกต้องเท่าใดนักสำหรับแฟนหนังชาวจีน

คุณธรรม 3 ข้อ มาจากไหน ?

        ‘忠: ภักดี ,勇: กล้าหาญ,真: ซื่อสัตย์’ คืออักษรสามตัวที่ได้รับการสลักลงบนดาบของมู่หลาน เป็นคุณธรรม 3 ข้อของชายชาติทหาร และยังเป็นกุญแจสำคัญในการเดินเรื่อง ความคับข้องใจของแฟนหนังชาวจีนคือการไม่รู้ถึงที่มาของคุณธรรม 3 ข้อนี้ แน่นอนว่าคุณธรรมทั้งสามเป็นสิ่งที่คนจีนยึดถือมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษ โดยหากยึดตามคำสอนของขงจื๊อที่เป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของคนจีน คุณธรรมของขงจื๊อไม่ได้มีแค่ 3 ข้อ แต่มีถึง 8 ข้อ ได้แก่ ความกตัญญู ความรักใคร่ปรองดอง ความจงรักภักดี ถือสัจจะ มีจริยธรรม สันโดษมักน้อย สุจริตธรรม และการละอายต่อความชั่ว

        โดยคุณธรรม 3 ข้อที่ถูกยกมาใน Mulan ถูกคนจีนตั้งข้อสังเกตว่ามีความใกล้เคียงกับสิ่งที่ทหารชาวตะวันตกยึดถือเสียมากกว่า โดยยกตัวอย่างวรรณกรรมชื่อดังอย่าง ‘Sir Gawain and the Green Knight’ ที่เน้นเรื่องคุณธรรม 3 ข้อคือ ‘ซื่อสัตย์ กล้าหาญ และภักดี’ เช่นกัน แก่นที่คุ้นเคยและเข้าถึงง่ายจึงเป็นเหตุให้ชาวตะวันตกชื่นชอบภาพยนตร์ Mulan เวอร์ชันนี้

        เหตุผลที่ผู้ชมชาวจีนทั้งคุ้นเคยและไม่คุ้นเคยกับดาบของมู่หลานเล่มนี้เป็นเพราะแนวคิดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างลับๆ ในการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม

ในที่สุด หนังก็คืนคุณธรรม ‘ความกตัญญู’ ให้กับมู่หลานในตอนท้ายของเรื่อง

        ‘李: ความกตัญญู’ แท้จริงแล้วควรจะเป็นคุณธรรมข้อแรกที่จะต้องกล่าวถึงในภาพยนตร์ที่สร้างจากวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์อย่างมู่หลาน แม้กระทั่งตัวผมเองยังรู้สึกแปลกใจ เมื่อเห็นดาบของมู่หลานมีคุณธรรมเขียนอยู่เพียง 3 ข้อ และ ‘ความกตัญญู’ ไม่ได้เป็นหนึ่งในนั้น จนท้ายที่สุดก็เข้าใจว่าแท้จริงแล้ว ‘ความกตัญญู’ เป็นคุณธรรมข้อเอกที่หนังต้องการจะนำเสนอ โดยการเก็บเอาไว้พูดถึงในตอนสุดท้ายอย่างสง่างาม

        แต่สำหรับคนจีนที่ยึดถือภาษิตที่ว่า ‘百善孝为先 อันคุณธรรมทั้งปวง ความกตัญญูคืออันดับแรก’ หมายความว่าความกตัญญูเป็นคุณธรรมข้อที่สำคัญที่สุด การที่ไม่ได้กล่าวถึงคุณธรรมข้อนี้ตั้งแต่ต้น ถือว่าผู้สร้างยังทำการบ้านมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร

ความไม่จีนในความจีน

        นอกจากที่ภาพยนตร์ต้นฉบับได้รับการถ่ายทำเป็นภาษาอังกฤษ ลดทอนความเป็นจีนลงไปในระดับหนึ่งแล้ว การเลือกใช้วัฒนธรรมแบบผิดๆ ก็เป็นเหตุให้ผู้ชมชาวจีนเกิดความตะขิดตะขวงใจอยู่ไม่น้อย เช่นการที่มู่หลานซึ่งในกวีต้นฉบับเขียนว่าเป็นชาวจีนเชื้อสายเติร์ก อาศัยอยู่ทางภาคตะวันตกของจีน แต่มู่หลานในภาพยนตร์กลับอาศัยอยู่ในหมู่บ้านทรงถู่โหลว (土楼) ซึ่งเป็นรูปแบบการอยู่อาศัยของคนในมณฑลฝูเจี้ยนที่อยู่ติดทะเลตะวันออก

        หรือจะเป็นการที่ตระกูลฮวาของมู่หลานบูชา ‘เทพฟินิกซ์’ ซึ่งผมเข้าใจว่าเทพฟินิกซ์ในหนังอาจมีความตั้งใจจะหมายถึง ‘เทพหงส์’ ของจีน แต่การนำเสนอภาพลักษณ์ของเทพตนดังกล่าวในหนังนั้นมีความคล้ายคลึงกับนกฟินิกซ์ของอิยิปต์ หรือฟินิกซ์ในตำนานเทพปกรณัมของกรีกโบราณ

        รวมถึงการแต่งตัวขององค์ฮ่องเต้ที่ดูประหลาด คล้ายกับนักบวชลัทธิเต๋ามากกว่า

        ซึ่งหากไม่คิดอะไรและมองในมุมผู้สร้างที่ต้องการสร้างหนังที่ดูสนุกและทำรายได้ การสร้างหนังเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนเพื่อนำเสนอสู่สายตาคนทั้งโลกให้ได้แก่นแท้ของวัฒนธรรมจีนนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างยาก บางส่วนที่ไม่จำเป็นก็ต้องตัดออก บางส่วนที่จะทำให้เนื้อหาน่าสนใจขึ้นก็ต้องใส่เพิ่มเข้ามา

        ยิ่งเป็นหนังจากค่ายดิสนีย์ที่เน้นสีสัน ความแฟนตาซี และความสง่างามของตัวละครในเรื่อง ความเป็นจีนที่มากเกินไปอาจลดทอนเอกลักษณ์บางประการของทางค่าย ส่วนไหนที่มากเกินไปก็ต้องตัดออก

        แต่ก็เข้าใจคนจีนนะครับ เพราะผมก็ใช้ชีวิตอยู่ที่จีนมานาน เข้าใจความรู้สึกผิดหวังจากการกินผัดกะเพราใส่พริกหยวก หรือส้มตำรสจืดๆ ในร้านอาหารไทยที่มีพ่อครัวเป็นคนจีน แต่อย่างไรก็ดี คนจีนเขาชอบกินพริกหยวกกัน การใส่พริกหยวกลงไปในผัดกะเพรากลับเป็นสิ่งที่ถูกใจชาวจีน หรือถ้าเป็นส้มตำมีรสเผ็ดมากเกินไป คนจีนก็จะกินไม่ได้

        สุดท้ายคนที่เข้าร้านอาหารไทยในจีนก็คือคนจีน คนไทยอย่างผมถือเป็นคนส่วนน้อย รสชาติของอาหารก็ต้องปรับให้เข้ากับลิ้นของคนในพื้นที่ถึงจะขายได้

        เช่นเดียวกับกรณีภาพยนตร์ Mulan นี้ การยึดติดกับวัฒนธรรมดั้งเดิมโดยที่ไม่มีการปรับตัวเลยก็อาจทำให้หนังถูกลดทอนความน่าสนใจลงได้ ในขณะเดียวกัน ผู้สร้างหนังก็ต้องให้ความเคารพจารีตทางสังคมของผู้ที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมเช่นกัน

        ผมเชื่อว่าวิชา ‘Cross-Culture’ หรือ ‘การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม’ เป็นสิ่งที่ควรจะได้รับการตีแผ่มากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งเช่นนี้ หากคนทั้งโลกมีความรู้ความเข้าใจต่อวัฒนธรรมของกันและกันมากพอ การสื่อสารและการเข้าถึงกันของแต่ละวัฒนธรรมจะลดความขัดแย้งลงได้

        และภาพยนตร์ Mulan ก็เป็นหนึ่งกรณีที่น่าศึกษาในวิชา Cross-Culture