มาหามังกร

สงครามฝิ่น จุดเริ่มต้นสู่จุดสูงสุด

เป็นที่รู้กันดีในปัจจุบันว่าจีนมีเป้าหมายที่จะยกระดับประเทศขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งก็ไม่ใช่แค่ความฝัน เพราะในปัจจุบันเศรษฐกิจของจีนมีขนาดใหญ่จนสามารถไล่ขึ้นมาตีคู่แข่งกับแชมป์เก่าอย่างสหรัฐอเมริกาใกล้เข้ามาทุกที

        จุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่นี้คือเหตุการณ์ไหน?

        บางคนวิเคราะห์ว่าหลังจากฝ่ายอักษะพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และญี่ปุ่นถอนทัพออกจากจีน บ้างว่าหลังจากก๊กมินตั๋งปฏิวัติระบบฮ่องเต้ บ้างก็ว่าตอนที่เหมาเจ๋อตงก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จนชนะสงครามภายในและก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนสำเร็จ หรือบ้างก็ว่าเป็นช่วงหลังจากที่เติ้งเสี่ยวผิงดำเนินนโยบายเปิดประเทศ

        แต่หากถามผม ขอตอบว่าเหตุการณ์ที่ทำให้ชาติจีนยิ่งใหญ่ในทุกวันนี้คือ ‘สงครามฝิ่น’ ต่างหาก

        สงครามฝิ่นเริ่มต้นปลายยุคสมัยราชวงศ์ชิง อันเป็นราชวงศ์สุดท้ายในระบบการปกครองแบบฮ่องเต้ ในยุคนั้นจีนทำการค้ากับชาวตะวันตกโดยการใช้ระบบผูกขาดโดยกงหาง หรือพ่อค้าจีน และจำกัดการค้าขายแค่ในเมืองกว่างโจว ทำให้ชาวตะวันตกไม่สามารถเข้าไปทำการค้าได้อย่างอิสระเสรี ในทางกลับกัน ใบชาจีนกลับเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษ ทำให้อังกฤษนำเข้าใบชาจากจีนเป็นจำนวนมหาศาล การที่อังกฤษไม่สามารถเข้าไปทำการค้าได้อย่างเสรี ทำให้ต้องเสียดุลการค้ามหาศาลในระยะแรก

        จนกระทั่งในทศวรรษ 1820 อังกฤษนำสินค้าตัวใหม่เข้ามาเปิดตลาดในจีน

        คือฝิ่น!

        พืชที่ปลูกในประเทศอินเดียขณะเป็นอาณานิคมของอังกฤษ กลายเป็นสินค้านำเข้าที่ทำกำไรมหาศาล การค้าฝิ่นส่งผลให้สภาพการเสียดุลการค้าของอังกฤษฟื้นฟูขึ้นอย่างรวดเร็ว

        ในขณะเดียวกัน พิษภัยของฝิ่นบ่อนทำลายวิถีชีวิตของชาวจีนอย่างรวดเร็ว ภายในแค่ 10 ปีมีชาวจีนติดฝิ่นแล้วกว่า 10 ล้านคน และจีนก็ได้ก้าวเข้าสู่ “ยุคป่วยไข้” การเสพติดฝิ่นของคนจีนในทุกชนชั้นทำให้รัฐบาลราชวงศ์ชิงตระหนักถึงภัยคุกคามต่างๆ ทั้งความเกียจคร้านของชนชั้นแรงงาน ที่เอาเวลาทำงานไปดูดฝิ่น ข้าราชการมากมายที่มึนเมาและหันมากระทำการทุจริตฉ้อฉล

        ผลที่เลวร้ายจากการที่คนในชาติมึนเมา ทำให้ราชสำนักเกรงกลัวว่าจะต้องถึงคราวล่มสลาย จึงจำเป็นที่จะต้องสั่งห้ามให้มีการนำเข้าฝิ่น หากพบว่าผู้ใดครอบครองฝิ่น โทษนั้นคือปรหาร

        แล้วคิดว่าอังกฤษจะยอมหรือ?

        เพิ่งจะกลับมาได้ดุลการค้าอยู่หมาดๆ อยู่ดีๆ คิดจะห้ามก็ห้ามแบบนี้ ยอมให้ง่ายๆ ไม่ได้

        เป็นไปได้ว่าอังกฤษกำลังมองมาตรการปราบปรามฝิ่นของจีนเป็นโอกาสที่จะสำแดงอำนาจเรือรบและยุทโธปกรณ์ล้ำสมัยของพวกเขา โดยใช้คำว่า ‘การค้าเสรี’ เป็นข้ออ้างในการทำสงคราม เพื่อให้จีนยอมถอยมาตรการปราบปรามฝิ่น และยอมให้มีการค้าฝิ่นเช่นเคย

        สำหรับคนจีน เมื่อมีใครถืออาวุธเข้ามารุกล้ำ ก็ต้องสู้กันให้ตายไปข้างหนึ่ง สงครามจึงยืดเยื้ออยู่หลายปี เกิดเป็นสงคราม 2 ระลอกใหญ่ คือช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1834-1843 และปี ค.ศ.1856-1860

        ภาพของสงครามก็จะประมาณว่าเรือสำเภาชนเรือรบติดปืนใหญ่ ทหารอังกฤษไว้หนวดเคราสวยงาม ใสชุดเครื่องแบบสุดเท่ รองเท้าหนังพร้อมหมวกทรงสูง มือถือปืนยาว ปลายกระบอกติดดาบ ต่อแถวกันเป็นระเบียบ ยิงปืนแม่นยำ และใส่กระสุนอย่างเชี่ยวชาญ ในขณะที่ทหารจีนถักเปียยาว ใส่หมวกฟางทรงสามเหลี่ยม ชุดเก่าๆ มีปืนแค่เฉพาะบางหน่วย ปืนก็ดีไม่เท่าอังกฤษ ยิงก็ไม่ค่อยแม่น กระสุนก็น้อย หน่วยที่ไม่มีปืนก็ต้องจับหอกจับดาบวิ่งเข้าไปสู้กับห่ากระสุน

        แค่นี้ไม่ต้องเดาผลแพ้ชนะแล้ว…

        สงครามฝิ่นในมุมมองอังกฤษเป็นแค่เรื่องการค้าเท่านั้น ชาวอังกฤษเรียกสงครามครั้งนี้ว่าสงครามการค้า (Trade War) ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าพวกเขามองข้ามประเด็นมนุษยธรรมว่าด้วยการเป็นผู้ค้ายาเสพติด แต่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางการค้า เมื่อมีอุปสงค์ก็ย่อมต้องมีอุปทาน ทั้งยังมองว่าการติดฝิ่นในจีนเป็นเพราะตัวคนจีนไร้วินัยเอง จีนไม่ควรมาห้ามเราค้าขายแบบนี้ การใช้กองกำลังเข้ามาบุกรุกก็เพียงเพื่อข่มขวัญ หวังผลต่ออายุการค้า หาได้ต้องการทำลายล้างจีนให้สิ้นซากไม่

        ส่วนในมุมมองคนจีน การคุกคามด้วยการเอาทหารถือปืนเข้ามาคือการประกาศสงครามต่อราชวงศ์ของแผ่นดินที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานนับพันปี เป็นดินแดนที่เป็นไปด้วยสุสานของบรรพบุรุษ การมารุกรานโดยอารยชนตะวันตกถือเป็นการรบกวนวิญญาณบรรพบุรุษทั้งหลายและวิญญาณฮ่องเต้องค์เก่า ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญต่อจิตใจคนจีนเป็นอย่างมาก ที่สำคัญ หากวันนี้เราเลือกที่จะถอยมาตรการปิดกั้นพื้นที่ค้าขายชาวอังกฤษ วันหน้าเขาจะมาล้มล้างราชวงศ์ขึ้นมา เราต้องถอยให้เขาอีกไหม

        สงครามจบลงเมื่อทัพอังกฤษยกมาประชิดกรุงหนานจิงซึ่งเป็นเมืองหลวง ณ ขณะนั้น จีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และต้องยอมเซ็น ‘สนธิสัญญาหนานจิง’ และสัญญาอื่นๆ ที่ทำให้จีนต้องเปิดเมืองท่าตามชายฝั่งเพื่อปล่อยให้ชาวอังกฤษเข้าไปค้าขายได้อย่างอิสระ โดยมีสิทธิพิเศษมากมาย หนึ่งในนั้นคือ หากชาวอังกฤษกระทำผิดกฎหมาย ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นศาลในจีน

        โดยในภายหลัง ‘สิทธิสภาพนอกอาณาเขต’ เหล่านั้นก็กลายเป็นประเด็นที่พ่อค้าจากตะวันตกชาติอื่นเรียกร้อง และเข้ามากอบโกยเงินทองและผลประโยชน์มหาศาล ที่ร้ายแรงที่สุด คือการที่จีนต้องเสียเอกราชในส่วนของเกาะฮ่องกง นับเป็นช่วงเวลาที่น่าอัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์จีน

        ถามว่าทำไมผมถึงมองว่านี่คือจุดเริ่มต้นสู่จุดสูงสุดของประเทศจีน?

        สงครามครั้งนี้ทำให้คนจีนได้เรียนรู้ว่าแท้จริงแล้วยังมีประเทศอื่นข้างนอกที่มีวิทยาการล้ำสมัยกว่า ยุทโธปกรณ์ดุดันกว่า และมีหัวทางการค้ามากกว่า ประเทศจีนก็ไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาลอย่างที่บรรพบุรุษปลูกฝังให้เชื่อ และบารมีของ ‘โอรสสวรรค์’ อย่างฮ่องเต้ก็ไม่สามารถคุ้มครองชาวจีนจากภัยคุกคามภายนอกได้จริง

        คนจีนจึงเริ่มละทิ้งความเชื่อเก่า การปกครองด้วยระบบฮ่องเต้กลายเป็นสิ่งที่ไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว เมื่อประเทศขาดจุดศูนย์รวมทางจิตใจจากภายในประเทศ จึงมีคนบางกลุ่มนำเข้าแนวคิดจากนอกประเทศมา ไม่ว่าจะเป็นหลักการประชาธิปไตยที่เน้นสิทธิเสรีภาพ หรือหลักการสังคมนิยมที่เน้นความเท่าเทียม อันแนวคิดเหล่านี้ก็นำพามาซึ่งจุดจบของราชวงศ์ชิง

        ประเทศจีนยุคหลังราชวงศ์ชิงเป็นยุคที่สับสน เหมือนคนตาบอดที่กำลังพยายามคลำหาทางเดินต่อ เพราะนอกจากเศรษฐกิจที่พังย่อยยับ ยังมีการรุกรานจากประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศจีนต้องลองผิดลองถูกกับระบอบประชาธิปไตยที่ล้มเหลวเพราะควบคุมกองทัพไม่ได้ ระบบคอมมิวนิสต์แบบเหมาเจ๋อตงก็ล้มเหลวทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านมนุษยธรรม

        หลังจากการเสียชีวิตของเหมาเจ๋อตง การปฏิวัติวัฒนธรรมถึงคราวสิ้นสุด เติ้งเสี่ยวผิงที่ขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นที่ 2 ก็ให้ความสำคัญกับทุนนิยมมากขึ้น และทำการปฏิรูปเปิดประเทศ ให้โอกาสต่างชาติเข้ามาลงทุนในระดับที่ควบคุมได้อีกครั้ง อันเป็นจุดสิ้นสุดของ ‘จีนยุคป่วยไข้’ อย่างแท้จริง

        เห็นได้ชัดเจนว่าหลังยุคสงครามฝิ่น ประเทศจีนแม้ยังคงถูกพายุพัดโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน ทั้งสงครามภายนอกและภายใน สังเวยชีวิตคนไปเป็นหลายสิบล้าน ประชาชนอดอยาก แต่ที่สุดก็กลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง จนตอนนี้ ด้วยเวลาเพียงไม่ถึงร้อยปี จีนกลับมาผงาดอีกครั้ง

        หากไม่ใช่เพราะสงครามฝิ่น จีนอาจยังคงยังจมอยู่ในระบบความคิดเก่าๆ ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ที่ทำให้ไม่เห็นภาพจริงในปัจจุบัน

        สงครามฝิ่นไม่ใช่จุดที่ทำให้ชาติพัฒนาโดยตรง แต่เป็นความเจ็บปวดที่ในที่สุดทำให้คนจีนเห็นว่าประเทศที่เราภูมิใจนักหนา แท้จริงแล้วยังมีจุดอ่อน ที่ต้องพัฒนาแก้ไขอีกมากมายเลยทีเดียว

        …หรือว่า …สิ่งใหม่จะเกิดขึ้นมาได้ สิ่งเก่าต้องจากไปเสียก่อนเสมอ?