มาหามังกร

เมื่อวัฒนธรรม ‘รักหน้ายิ่งชีพ’ ของคนจีนถูกตั้งคำถาม

ผู้คนแต่ละถิ่นต่างมีลักษณะนิสัยที่เป็นเอกลักษณ์ หลังจากที่ผมเริ่มต้นเข้ารับการศึกษาในประเทศจีน สร้างมิตรภาพและเข้าสังคมร่วมกับคนจีน ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสกับลักษณะนิสัยอย่างหนึ่งที่มีเฉพาะในหมู่คนจีน ที่ทั้งแปลก และน่าชื่นชม ในเวลาเดียวกัน

 

        “เกิดเป็นชายรักหน้าตา หากเป็นหญิงต้องรักชื่อเสียง”

        ในชีวิตประจำวันผู้คนมักจะได้ยินคำว่า “ยอมเสียได้ทุกอย่าง แต่จะไม่ยอมเสียหน้า” สำหรับคนจีนส่วนใหญ่ คำว่า ‘หน้า’ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด แต่คำว่า ‘หน้า’ ที่ว่านี้ ไม่ได้หมายความถึง ‘ใบหน้า’ หรือความสวยความหล่อ หากหมายถึง ‘หน้าตา’ อันเป็นนามธรรมไร้ซึ่งรูปร่าง หมายถึงภาพลักษณ์ ศักดิ์ศรี เกียรติยศ และฐานะทางสังคม

        เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะชอบเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเปรียบเทียบผู้อื่นกับตัวเอง โดยผู้คนมักจะรู้สึกยินดีเวลาตัวเองอยู่เหนือผู้อื่น เป็นผู้ชนะมากกว่าผู้แพ้ ผู้หญิงชาวจีนมักจะมีความกระตือรือร้นเป็นพิเศษในการค้นหาสามีที่ตัวสูง ขาว รวย หน้าตาดี และมีความสามารถ อีกทั้งยัง ‘มีระดับในสังคม’ ในขณะที่ผู้ชายก็จะรู้สึกพึงพอใจเวลาที่ตัวเองเข้างานสังสรรค์ และได้ควงหญิงสาวที่สวย เรียบร้อย สุภาพ และมีศีลธรรม อยู่ข้างกาย

        ผมเดินทางท่องเที่ยวไปเกือบทั่วทั้งโลก ยอมรับว่าพฤติกรรมการ ‘รักหน้า’ ของชาวจีนนั้นโดดเด่นที่สุด หลายครั้งที่พวกเราคนไทยมักจะเห็นทัวร์จีนที่ส่งเสียงดังไปทั่ว มีความเป็นไปได้สูงว่าเหตุผลที่คนจีนชอบพูดเสียงดังเป็นเพราะต้องการที่จะโดดเด่น 

        สืบเนื่องจากเหตุผลดังกล่าว เพื่อความโดดเด่น นอกจากคนจีนจะพูดเสียงดัง เนื้อหาที่พูดก็มักจะเกี่ยวข้องกับตัวเอง เป็นการคุยโวโอ้อวดแบบอ้อมๆ คือไม่ถึงกับพูดจาชื่นชมตัวเองตรงๆ แต่พูดถึงประสบการณ์ การแสดงออกให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองฉลาด โชว์ความสามารถและความมั่งคั่งให้คนอื่นเห็นแบบอ้อมๆ และเมื่อมีคนมาชื่นชมว่า

        “ท่านช่างเป็นยอดคน ทำให้ผมรู้สึกเลื่อมใส”

        ผู้ถูกชมก็จะยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ถึงแม้ในใจจะยินดีกับคำสรรเสริญเยินยอแค่ไหน แต่ก็จะตอบกลับไปอย่างถ่อมตนว่า

        “ที่ไหนกัน ไม่ขนาดนั้นหรอกน่า”

        นี่เป็นเหตุการณ์ที่ผมพบเจอบ่อยมาก การพูดจาเพื่อชงให้คนอื่นชื่นชม และเมื่อมีคนชื่นชมก็จะปฏิเสธคำชมเพื่อให้ดูเป็นคนถ่อมตัว ยอมรับตรงๆ ว่าขนาดตัวผมเองก็ยังมีติดนิสัยแบบนี้มาบ้างเล็กน้อย

        นอกจากนี้นิสัย ‘หน้าใหญ่’ ของคนจีน ก็มักจะนำมาซึ่งเหตุการณ์ยอดนิยมอันเป็นที่เลื่องลือกันทั่วโลก นั่นก็คือการ ‘แย่งกันจ่าย’ คนจีนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนจีนรุ่นเก่า จะไม่นิยมแชร์เงินจ่ายค่าอาหารในมื้อพิเศษที่เป็นการรวมตัวกันของเพื่อนเก่า เพื่อนร่วมงาน พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ มักจะต้องมีใครคนใดคนหนึ่งเป็นคนออกเงินเลี้ยงอีกฝ่าย ซึ่งนอกจากเหตุผลทางมิตรภาพแล้ว การออกเงินเลี้ยงยังมีนัยยะในการแสดงความกว้างขวาง น้ำใจ และความมั่งมีของตัวเองให้ได้รับรู้กันในหมู่ผู้คนรอบข้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าคนจีนนั้นหน้าใหญ่

        สำหรับคนที่ไม่รัก ‘หน้า’ นั้นเกือบจะเทียบเท่ากับการไร้ศักดิ์ศรี ไม่มีความเคารพนับถือในตนเอง เพราะสำหรับคนจีน โดยเฉพาะคนจีนรุ่นเก่า ศักดิ์ศรีคือความหมายของชีวิต เป็นพลังขับเคลื่อนของบุคคล เช่นนี้ ชายหญิงทั้งหลายจึงควรที่จะรักษาเกียรติ ปฏิบัติตนอย่างมีศักดิ์ศรี และรัก ‘หน้า’ ของตัวเองเข้าไว้

        ทำไมต้องรัก ‘หน้า’ ขนาดนั้น?

        หากกล่าวในเชิงจิตวิทยา ภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาสาธารณะย่อมมีพลังในการดึงดูดผู้คนเสมอ หากเรามีภาพลักษณ์ที่ดี พูดอะไรออกมาก็จะมีแต่คนอยากฟัง หากเราเป็นคนไร้ภาพลักษณ์ ไม่มีเครดิต ก็เป็นการยากที่จะมีคนเชื่อถือคำพูดของเรา อาจกล่าวได้ไหมว่าการมีภาพลักษณ์ที่ดีก็คือ ‘อำนาจ’ อย่างหนึ่ง ที่สร้างโอกาสให้คนเราสามารถพูดได้ ‘เสียงดัง’ ยิ่งขึ้น ทำให้เราดูเป็นคนน่าเชื่อถือ และดึงดูดผลประโยชน์เข้าหาตัวได้มากขึ้น

        แต่กระนั้น ข้อเสียของการรัก ‘หน้า’ มากเกินไปก็มีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว 

        เพราะว่ากันตามจริงแล้วคำว่า ‘ยึดมั่นในศักดิ์ศรี’ กับคำว่า ‘หยิ่งยโส’ นั้นมีเพียงเส้นบางๆ เท่านั้นที่กั้นอยู่ การรัก ‘หน้า’ มากเกินไปในบางครั้งที่ขาดความจริงใจ อาจกลายเป็นพฤติกรรมที่ทำให้ผู้คนรอบข้างรังเกียจเข้าได้

        อีกประการหนึ่งที่นับว่าเป็นข้อปัญหาระดับประเทศ คือการที่คนจีนบางกลุ่มรัก ‘หน้า’ จนเกิดเป็นค่านิยมผิดๆ เป็นการรักหน้าที่ทำร้ายตัวเองและคนรอบข้าง ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวบางครอบครัวฐานะไม่ดี แต่ต้องการให้ลูกชายเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนค่าเทอมสูงเกินตัว เพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้กับตระกูล ทำให้ต้องติดหนี้ธนาคาร สุดท้ายก็ตกเป็นภาระของลูกหลาน

        หรือค่านิยมที่ว่าการหย่าร้างคือเรื่องน่าอับอาย ภรรยามากมายในจีนถูกสามีทุบตีทำร้ายร่างกาย แต่กลับไม่กล้าขอหย่า หรือไปแจ้งความ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกเสียหน้า

        บางคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เมื่อถึงคราวตกต่ำก็ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากญาติมิตร เพราะกลัวจะต้องอับอาย ไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าตนกำลังลำบาก บางคนไม่กล้าถอนหายใจในยามเหนื่อย ไม่กล้าร้องไห้ในยามเศร้า ฝืนยิ้มในยามที่หมดกำลังใจ กินเหล้าต่อไปทั้งที่เมาไม่ไหวแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกผู้อื่นสบประมาทว่า ‘อ่อนแอ’ เท่านั้น

        ยอมทนทุกข์ทรมานเพื่อรักษา ‘หน้า’ ไปเรื่อยๆ

        อย่างไรก็ดี ด้วยกาลเวลาที่เดินไป ค่านิยมใหม่ๆ ก็เกิดขึ้น คนจีนรุ่นใหม่ไม่เข้มงวดกับการรักษาหน้ามากเท่าคนรุ่นเก่า วัฒนธรรมการแชร์ค่าอาหารเริ่มเกิดขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ ในขณะเดียวกันก็มีผู้ที่กล้าออกมาหย่าร้างมากขึ้นเรื่อยๆ

        ตามทัศนะของผม การรัก ‘หน้า’ ถือว่าเป็นทัศนคติที่ดี หากอยู่ในระดับที่เหมาะสม คือทำให้เกิดการพัฒนาตัวเอง ทำให้เราต้องการทำความดี โดยการสร้างภาพลักษณ์ควรจะมาพร้อมกับความจริงใจด้วย และเหนือสิ่งอื่นใด อย่าให้การรักษาหน้าต้องกลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายตัวเราเองเป็นอันขาด

        เอาเป็นว่าอย่าถึงขนาด ‘รักหน้ายิ่งชีพ’ ก็แล้วกัน