โจรโพกผ้าเหลือง

โจรโพกผ้าเหลือง ม็อบประชาชนยุคสามก๊ก

วันที่ 14 ตุลาคม 2563 นับว่าเป็นอีกวันประวัติศาสตร์หนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคคนรุ่นผม

        ขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ กระแสการเมืองในประเทศกำลังเป็นไปอย่างเข้มข้น ด้านหนึ่งมีการออกมารวมตัวเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา อีกด้านหนึ่งก็มีมวลชนกลุ่มที่คิดเห็นทางการเมืองตรงข้ามออกมารวมตัวกันเพื่อจุดประสงค์ปกป้องสถาบันอันเป็นที่รัก ภาพความขัดแย้งในวันนี้ที่มีความต่อเนื่องมาตั้งแต่ผมยังเด็ก ทำให้อดนึกถึงคนกลุ่มหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนยุคสามก๊กไม่ได้…
        ‘โจรโพกผ้าเหลือง’
        โจรโพกผ้าเหลือง คือกลุ่มคนจีนหลักล้านที่มีเป้าหมายในการโค่นล้มราชวงศ์ฮั่น ในช่วงปี ค.ศ. 184-205 พวกเขาโพกผ้าสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ มี ‘เตียวก๊ก’ เป็นผู้นำ
        สามก๊ก ทุกฉบับในโลกล้วนเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘โจร’ หรือไม่ก็ ‘กบฏ’ แต่แท้จริงแล้วพวกเขาก็คือม็อบของประชาชนรุ่นแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจความอยุติธรรมของราชสำนักจีนยุคนั้น ไม่ต่างจากขบวนการนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตย หรือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลกลุ่มอื่นในรอบ 15 ปีมานี้แต่อย่างใด หากว่าโจรโพกผ้าเหลืองไม่ใช่ฝ่ายพ่ายแพ้ เห็นทีก็คงจะถูกยกย่องสรรเสริญว่าเป็น ‘วีรชนโพกผ้าเหลือง’ กระมัง
        ทว่าก็เป็นธรรมเนียมของมนุษยชาติ โดยเฉพาะในการเมืองจีนโบราณ ที่นิยมเหยียบย่ำซ้ำเติมผู้แพ้ให้ต่ำเตี้ยจมลงไปในดิน ดังนั้นขบวนการม็อบโบราณกลุ่มนี้จึงถูกเหยีดหยามว่าเป็นเพียง ‘กบฏ’ หรือ ‘โจร’ ซึ่งแปรผันไปจากเจตจำนงที่ต้องการจะกอบกู้แผ่นดินของพวกเขาไปค่อนข้างมาก
        ต้องเล่าย้อนกลับไปในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นที่เค้าลางกลียุคเริ่มก่อตัวตั้งแต่ ‘พระเจ้าฮั่นเต้’ ฮ่องเต้องค์ที่ 3 ก่อนสิ้นราชวงศ์ฮั่นที่หลายคนเชื่อว่าเป็นหมัน ไม่สามารถมีลูกได้ จึงต้องไปขอลูกชาวบ้านมาเลี้ยงและตั้งให้เป็นอุปราชสืบทอดราชบัลลังก์ ครั้นเมื่อลูกชาวบ้านผู้นั้นขึ้นเสวยราชย์ก็ทรงพระนามว่า ‘พระเจ้าเลนเต้’ ด้วยความที่ไม่ใช่ลูกแท้ๆ ที่สืบเชื้อสายจากวงศ์กษัตริย์ จึงไม่ได้รับความรักเป็นพิเศษจากฮั่นเต้ และถูกเลี้ยงโดยเหล่าขันทีเป็นหลัก เมื่อโตขึ้นและเสวยราชสมบัติ ลักษณะนิสัยที่ถูกสร้างสมบ่มเพาะโดยขันทีจึงติดตัวมาด้วย นับว่าเป็นนิมิตหมายอันเลวร้ายยิ่งสำหรับแผ่นดินฮั่น
        ความสนิทสนมของพระเจ้าเลนเต้และเหล่าขันทีกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ราชสำนักตกอยู่ในยุคเสื่อมสลาย เมื่อเหล่าขันทีร่วมมือกันครอบงำอำนาจบริหารของพระองค์ และดำเนินการกำจัดขุนนางที่แสดงอาการให้เห็นว่าไม่เป็นพวก บางคนถูกสังหารอย่างโหดร้ายทารุณ อำนาจของขันทีก็ล้นฟ้า และในที่สุดขันทกลุ่มหนึ่งที่ถูกเรียกว่า ‘สิบขันที’ กราบบังคมทูลฮ่องเต้ให้แต่งตั้งคณะสิบขันทีให้เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน หรือคล้ายๆ กับตำแหน่งองคมนตรีในบ้านเรา
        การทุจริตของเหล่าขันทีสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจีนในทุกหย่อมหญ้า เจ้าเมืองตามหัวเมืองต่างๆ ต้องขูดรีดภาษีจากพ่อค้าและชาวนาเพื่อจ่ายส่วยให้ขันที หากผู้ใดไม่นำส่วยมาจ่ายให้ครบตามจำนวน แก๊งขันทีก็จะรวมหัวกันเพ็ดทูลฮ่องเต้ให้ปลดเจ้าเมืองผู้นั้น และเแต่งตั้งคนใหม่ที่พร้อมจะจ่ายส่วยสินบนให้ครบ คล้ายกับการซื้อขายตำแหน่งในบ้านเรา
        ภาพของแผ่นดินฮั่นในเวลานั้นเต็มไปด้วยการทุจริต ข้าราชการท้องถิ่นตั้งตัวเป็นมาเฟียข่มขู่รีดนาทาเร้นทรัพย์สินจากชาวบ้านเพื่อไปจ่ายส่วย ชาวบ้านอดอยากแร้นแค้น เกิดการปล้นชิงวิ่งราว เมื่อบ้านเมืองถึงคราววิกฤต ประชาชนจึงต้องพึ่งพาตัวเอง…
        ‘เตียวก๊ก’ แห่งเมืองกิลกุ๋นเป็นหมอที่มีวิชาความรู้ มีลูกศิษย์ลูกหาเป็นจำนวนมาก และยังได้รับการนับหน้าถือตาในหมู่ชาวบ้านอย่างกว้างขวาง ต่อมาเหล่าลูกศิษย์ของเตียวก๊กที่ได้รับการสั่งสอนให้คิดช่วยเหลือผู้อื่นได้ตั้งกองกำลังป้องกันตัวเองขึ้นมา เป็นกองกำลังอาสาที่ติดอาวุธ ด้านหนึ่งเพื่อต่อสู้กับพวกโจรลักเล็กขโมยน้อยและอาชญากรในพื้นที่ อีกด้านหนึ่งเพื่อต่อสู้กับขุนนางและข้าราชการที่เข้ามากดขี่ข่มเหง
        สิ่งที่กองกำลังป้องกันตัวเองทำนั้นเป็นไปตามความต้องการของราษฎรทั่วหล้า เป็นเหตุให้มีผู้มาเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ และขยายสาขาออกไปตามหัวเมืองต่างๆ รอบข้างอย่างรวดเร็ว ในไม่ช้า กลุ่มอาสาป้องกันตัวเองก็มีประชาคนเข้าร่วมด้วยนับล้าน
        เมื่อมีคนมาเข้าร่วมด้วยล้นหลามจนตั้งเป็นกองทัพใหญ่ได้ขนาดนี้ ก็เป็นธรรมดาที่บรรดาลูกศิษย์ของเตียวก๊กจะรู้สึกฮึกเหิม ต่อมาจึงยุยงส่งเสริมให้เตียวก๊กเห็นแก่ส่วนรวม กอบกู้แผ่นดิน ฟื้นฟูชาติบ้านเมืองให้ราษฎรได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
        เดิมทีเตียวก๊กก็ไม่เห็นด้วยกับการตั้งตัวเป็นใหญ่ ด้วยพื้นเดิมที่ถือคุณธรรม มีนิสัยถ่อมตน ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง แต่อำนาจก็เป็นสิ่งที่เย้ายวนใจ และมีผลต่อวิสัยทัศน์ของคนเป็นอย่างมาก ดังคำที่ว่า “อันศิลาแปดศอกตอกเป็นหลัก ไปมาผลักบ่อยเข้าเสาก็ไหว” นั่นแหละ
        เมื่อเตียวก๊กตั้งตนเป็นใหญ่ คำว่า ‘กลุ่มป้องกันตัวเอง’ ที่มีความหมายในเชิงรับ ถูกเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘กลุ่มต่อต้าน’ ทำให้กองกำลังนี้กลายเป็นกองกำลังที่มีเป้าหมายในเชิงรุกในทันที เกิดเป็นเหตุการณ์กบฏโจรโพกผ้าเหลืองขึ้นตามที่เขียนไว้ข้างต้น
        สำหรับผมแล้ว สิ่งที่โจรโพกผ้าเหลืองทำถือว่ามีความชอบธรรมยิ่ง เพราะราชสำนักฮั่นอ่อนแอ เปิดโอกาสให้คนชั่วเข้ามาปกครองบ้านเมือง ทำให้ประชาชนทุกข์ยาก การป้องกันตัวเองอย่างเดียวคงไม่พอที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดความเปลี่ยนแปลง ยิ่งทำให้ผมไม่เห็นด้วยกับการเรียกคนจำนวนนับล้านนี้เพียงคำว่า ‘โจร’ อย่างที่ปรากฎ
        แต่ก็ต้องเข้าใจครับ ผู้แพ้ไม่ใช่คนเขียนประวัติศาสตร์  แน่นอนว่ากองทัพโจรโพกผ้าเหลืองส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ไม่ได้รับการฝึกแบบทหาร ย่อมไม่ใช่คู่ต่อสู้ของทหารทางการ นี่ยังไม่ได้พูดถึงอาวุธยุทโธปกรณ์
        แต่ด้วยความที่บ้านเมืองอยู่ในยุคอ่อนแอ กองทัพจากทางการจึงไม่เข้มแข็งเท่าที่ควรเช่นกัน ราชสำนักจึงต้องป่าวประกาศให้มวลชนที่จงรักภักดีต่อฮ่องเต้ออกมาต่อต้านกลุ่มโจรโพกผ้าเหลือง โดยจะมีการตบรางวัลให้อย่างงามกับผู้ที่สร้างผลงานได้โดดเด่น ซึ่งก็มีการตั้งกองกำลังมวลชนมากมายมาสมทบกับกองทัพฮั่น
        สงครามโจรโพกผ้าเหลืองจึงกลายเป็นสมรภูมิที่เปิดโอกาสให้นายกองทหารรุ่นใหม่อย่างเช่น ‘โจโฉ’ ได้สร้างผลงาน และไต่เต้าขึ้นเป็นขุนนางในวังในเวลาต่อมา เป็นสมรภูมิที่ทำให้ผู้มีเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นอย่าง ‘เล่าปี่’ และพี่น้องร่วมสาบาน ‘กวนอู’ และ ‘เตียวหุย’ ได้มีโอกาสสร้างชื่อเสียง โดยทั้งโจโฉและเล่าปี่ก็เป็นตัวละครที่สำคัญทางการเมืองในยุคสามก๊ก
        จุดเริ่มต้นของทั้งเล่าปี่และโจโฉ คือการขี่ม้าไล่ตัดหัวโจรโพกผ้าเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ต้องการเพียงต่อสู้กับความอยุติธรรม กับอำนาจที่กดขี่ข่มเหงประชาชน สู้เพื่อนำผลประโยชน์กลับสู่ประชาชน
        ถ้าพูดกันในมุมนี้ ทั้งเล่าปี่และโจโฉไม่ใช่คนที่มีความชอบธรรมในการจะพูดคำว่า ‘ทำเพื่อแผ่นดิน’ เพราะไม่ได้มองเห็นหัวประชาชนตั้งแต่เริ่มต้น แต่พวกเขากลับกลายเป็น ‘รัฐบุรุษ’ ที่ยิ่งใหญ่ และถูกพูดถึงมากเกือบที่สุดในประวัติศาสตร์จีน ในขณะที่โจรโพกผ้าเหลืองที่สู้เพื่อความถูกต้อง กลับเป็นเพียงแค่ขั้นบันไดสำหรับการไต่เต้าของเหล่านักการเมืองเท่านั้น
        ไม่แน่ใจว่าเรื่องราวของโจรโพกผ้าเหลืองจะได้สะท้อนภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันบ้างหรือไม่…
        แต่ที่แน่ๆ การรวมตัวของประชาชนเพื่อต่อสู้เรียกร้องความถูกต้องกับภาครัฐล้วนมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ สำหรับผู้ที่ทำการสำเร็จก็จะได้รับการเรียกขานเป็น ‘วีรชน’, ‘วีรบุรุษ’ แต่สำหรับคนที่ล้มเหลว ก็เป็นได้แค่ ‘กบฏ’ หรือแย่กว่านั้นคือ ‘โจร’ ในหน้าประวัติศาสตร์
        เหมือนดั่งชะตากรรมของกลุ่มโจรโพกผ้าเหลืองนั่นเอง!