ตัวตนของ ‘จีน’ กับ ‘อเมริกัน’ ต่างกันอย่างไรเมื่อดูจากการออกแบบบ้าน

มนุษย์แต่ละชนชาติมีถิ่นกำเนิดแตกต่างกัน ภูมิประเทศและภูมิอากาศแตกต่างกัน มนุษย์ในแต่ละพื้นถิ่นจึงย่อมมีวิถีชีวิตในแบบเฉพาะของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการกินอยู่ การแต่งกาย พิธีกรรม และความเชื่อ วิถีชีวิตเหล่านั้นเมื่อผ่านการบ่มเพาะโดยกาลเวลา หล่อหลอมเกิดเป็น ‘วัฒนธรรม’ ต่างๆ บนโลกขึ้น

        มีคำกล่าวที่ว่า “วัฒนธรรมคือจิตวิญญาณของผู้คน” สามารถตีความได้หลากหลาย เพราะวัฒนธรรมคือหนึ่งในสิ่งที่หล่อหลอมแนวคิด และคอยควบคุมวิถีปฏิบัติของผู้คนในสังคมนั้นๆ และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘วัฒนธรรมการอยู่อาศัย’ เป็นหนึ่งในวิถีปฏิบัติที่สะท้อนลักษณะนิสัย แนวคิด รวมถึงวิธีการทางสังคมของคนในพื้นที่

        จีนและสหรัฐอเมริกาเป็นสองชาติที่มีวัฒนธรรมการอยู่อาศัยที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ส่วนเรื่องความแตกต่างทางแนวคิดของคนในชาติทั้งสองนั้น คงไม่จำเป็นต้องพูดมากให้เจ็บคอ…

        เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมการอยู่อาศัยของจีน เป็นไปได้ว่าคนส่วนใหญ่จะนึกถึงพระราชวังต้องห้าม ณ กรุงปักกิ่ง คฤหาสน์ตระกูลฉีในเมืองเทียนจิน สวนอวี้หยวนในเซี่ยงไฮ้ ที่ทั้งยิ่งใหญ่และเต็มไปด้วยลวดลายมังกร สิ่งแรกที่เราจะเห็นได้จากภายนอกบ้านของชาวจีนคือกำแพงและหลังคาบ้าน คนจีนนิยมสร้างกำแพงบ้านให้สูงใหญ่ บดบังตัวบ้าน เผยให้เห็นแต่หลังคาที่มีทรงยาวสูง ยิ่งกำแพงและหลังคาบ้านสูงเท่าไหร่ ยิ่งบ่งบอกถึงความมั่งคั่งและฐานันดรศักดิ์ของผู้เป็นเจ้าของบ้านนั้น

        ประตูหน้าบ้านชาวจีนนั้นใหญ่และทึบ ทำหน้าที่แยกลานกลางของบ้านออกจากโลกภายนอก เมื่อเปิดประตูใหญ่ออก จะพบกำแพงและประตูชั้นใน ซึ่งจะทำหน้าที่กีดกันสายตาจากผู้คนภายนอกเมื่อประตูใหญ่ถูกเปิด กล่าวคือ ต่อให้จะเปิดประตูใหญ่ออก ก็ยังไม่สามารถมองลอดทะลุไปเห็นกิจกรรมภายในตัวบ้านได้อยู่ดี

 

มาหามังกร

 

        ตรงกันข้ามกับชาวอเมริกัน ที่จะไม่ค่อยนิยมสร้างกำแพงล้อมรอบบ้าน แต่มักจะปูสนามหญ้า ปลูกต้นไม้ หรือทำสวน ทำให้บรรยากาศรอบบ้านร่มรื่น สามารถมองเห็นตัวบ้านทั้งหลังได้อย่างโจ่งแจ้ง ประตูบ้านขนาดพอดีตัวคน หลังคาสูงพอดีตัวบ้าน มีหน้าต่างอยู่รอบตัวบ้าน ซึ่งหากไม่ปิดผ้าม่านเอาไว้ คนที่ผ่านไปมาก็จะสามารถมองทะลุผ่านหน้าต่างเข้าไปเห็นกิจกรรมในตัวบ้านได้อย่างง่ายดาย

        ภายในตัวบ้านของชาวอเมริกันจะมีการแบ่งห้องชัดเจน ทั้งห้องน้ำ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องเก็บของ และกระทั่งห้องใต้ดิน แต่ละห้องจะถูกกั้นด้วยผนังบ้าน เข้าออกแต่ละห้องต้องผ่านบานประตูย่อย สิ่งสำคัญของบ้านชาวอเมริกันคือการที่ทุกคนมีห้องส่วนตัว ซึ่งสมาชิกในบ้านจำเป็นที่จะต้องเคารพพื้นที่ส่วนตัวของกันและกัน การจะเข้าไปในห้องส่วนตัวของสมาชิกในบ้านคนอื่นจำเป็นที่จะต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าของห้องเสียก่อน ส่วนการขออนุญาตเข้าห้องนั้นทำโดยการเคาะประตู ข้อนี้ แม้กระทั่งผู้ปกครองก็ไม่สามารถมีอิสระในการเข้าออกห้องของลูก และลูกๆ เองก็ไม่สามารถเข้ามาในขอบเขตของพ่อแม่ในบางส่วน

        ผิดกับชาวจีนโดยสิ้นเชิง ขณะที่บ้านมีกำแพงสูงใหญ่ปลอดภัยจากสายตาคนภายนอก แต่ภายในบ้านชาวจีนนอกจากห้องสุขาแล้ว แทบจะไม่มีประตูกั้นในแต่ละห้องภายในตัวบ้านเลย แต่ละห้องจะกั้นด้วยผนังไม้บางๆ ไม่มีบานประตู มีแต่เพียงคานประตูและธรณีประตูเป็นทางเข้าออกแต่ละห้องเท่านั้น และแม้ว่าตัวบ้านของชาวจีนจะกว้างขวางแค่ไหน แต่เด็กชาวจีนส่วนใหญ่ต้องใช้ห้องนอนร่วมกับผู้ปกครองจนถึงวันที่ตัวเด็กจะแต่งงาน จึงจะย้ายออกจากบ้าน… หากเป็นหญิง หรือแยกห้องไปอยู่กับคู่ครองของตนเอง… ในกรณีเป็นชาย

       ในแง่ของความเป็นส่วนตัว เพียงผ่านประตูชั้นในเข้ามา สภาพในครัวเรือนจีนก็แทบจะไม่มีมุมใดที่มีความเป็นส่วนตัวอย่างสมบูรณ์เลย สิ่งของภายในเป็นส่วนรวม โดยมีแนวคิดว่า “ของฉันก็เหมือนของเธอ ของเธอก็เหมือนของฉัน” ด้วยเหตุนี้ การมีความลับในบ้านจึงเป็นสิ่งที่ยากลำบากเป็นอย่างมาก

        หากเด็กชายอายุห้าขวบเดินเข้าไปในห้องของพ่อแม่ แล้วทำโทรศัพท์มือถือของคุณแม่ตกแตก คุณแม่ชาวจีนจะสั่งสอนลูกว่า

        “ระวังหน่อยสิลูก เป็นเด็กเป็นเล็ก อย่าซนแบบนี้สิ คราวหลังต้องระวังให้มากกว่านี้นะ แล้วอย่าทำของตกแตกอีกล่ะ!”

        ในขณะที่คุณแม่ชาวอเมริกันจะสั่งสอนลูกว่า

        “ลูกเข้ามาในห้องพ่อแม่ได้ยังไง ทำไมมายุ่งกับโทรศัพท์มือถือของแม่ รู้ไหมว่านี่คือของใช้ส่วนตัว คราวหลังห้ามมายุ่งกับโทรศัพท์มือถือของแม่อีก แล้วก็อย่าเข้าห้องคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกล่ะ!”

        ความแตกต่างของวัฒนธรรมการอยู่อาศัยของประเทศทั้งสองนั้นชัดเจน ชี้ให้เห็นแนวคิดที่เป็นผลสืบเนื่องจาก ‘วัฒนธรรม’ ของพวกเขาได้เป็นอย่างดี สามารถนำมาศึกษาเพิ่มเติม และวิเคราะห์ออกมาได้หลายแง่มุมเลยทีเดียว…

        แม้กระทั่งรูปแบบการเมืองการปกครอง!

        ตามทัศนะของผม สนามหญ้า สวน และต้นไม้รอบบ้านชาวอเมริกัน เป็นตัวบ่งบอกว่าชาวพื้นถิ่นนั้นรักในอิสรภาพ ลักษณะนิสัยมีความผ่าเผย ตรงไปตรงมา ในขณะที่กำแพงบ้านและหลังคาที่สูงใหญ่ของบ้านชาวจีนแสดงให้เห็นถึงความหวงแหนในภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ การยึดมั่นในชื่อเสียงเกียรติยศ โดยไม่พร้อมที่จะเปิดเผยจุดด้อยภายในตัวเองให้ผู้อื่นเห็น กำแพงบ้านที่สูงใหญ่นั้นก็เปรียบเสมือนกับหน้ากากที่สวมใส่ในยามที่ต้องเข้าสังคม หน้ากากในที่นี้หมายรวมถึงมารยาทและประเพณีสารพันด้วย

        ส่วนการแบ่งห้องชัดเจนภายในตัวบ้านของชาวอเมริกันแสดงให้เห็นถึงการรู้จักแยกแยะ มีความรับผิดชอบ และการรู้หน้าที่ ในขณะที่การไม่มีประตูกั้นในแต่ละห้องในบ้านของชาวจีนแสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ การช่วยเหลือเกื้อกูลที่มีต่อคนในแวดวงรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูง ญาติมิตร คนในครอบครัว และเพื่อนบ้านหรือชุมชนและสังคม

        ในส่วนของการแยกห้องส่วนตัวในบ้านชาวอเมริกัน แสดงให้เห็นถึงการเคารพพื้นที่ส่วนตัว และการไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศฝั่งตะวันตกทั้งหลาย ทางฝั่งของจีนที่ไม่นิยมแยกห้องนอนกับคนในครอบครัว และไม่เห็นความจำเป็นของพื้นที่ส่วนตัวของคนในบ้าน อาจหมายถึงการให้ความสำคัญของการเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในครอบครัว ความสามัคคี ความเป็นปึกแผ่น อยู่รวมกันเป็นตระกูล และการนึกถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว

        ความแตกต่างทางวัฒนธรรมการอยู่อาศัยของชาวจีนและชาวอเมริกันชี้ให้เห็นพฤติกรรมประจำสังคม แนวคิด และวิถีชีวิตที่แตกต่างกันอย่างแทบจะสิ้นเชิงของคนทั้งสองชาติอย่างลึกซึ้ง ซึ่งก็ไม่สามารถบอกได้ว่าแบบไหนดีกว่า เพราะทั้งสองวัฒนธรรมมีรากฐานที่แตกต่าง มีจุดเด่นและข้อด้อยแตกต่างกันไปตามสภาพสังคมของพื้นที่ในแต่ละช่วงเวลา

        ซึ่งหากมองลึกลงไปกว่านั้น ก็อาจจะเห็นประวัติศาสตร์ และรากฐานความเป็นมาของทั้งสองชาติมหาอำนาจที่กำลังช่วงชิงกันอยู่ในทุกสมรภูมิ ซึ่งต้องอาศัยมุมมองที่เปิดกว้างและเปิดใจ จึงจะสามารถเข้าใจและวิเคราะห์ออกมาได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน

        แล้วผู้อ่านทุกท่านล่ะครับ?

        บ้านของท่านเป็นแบบใด หรือท่านมีความต้องการในการเป็นเจ้าของบ้านสไตล์ไหน ลองคิดดูว่านั่นบ่งบอก ‘ตัวตน’ ของความเป็นตัวคุณได้แค่ไหน อย่างไร หรือไม่ ?