racism

เมื่อจีนเหยียดไทย: ความซับซ้อนของการเหยียดที่หลายครั้งเราอาจไม่รู้ตัว

หลังจากเกิดกระแสการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ จากการกระทำอันเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้การต่อต้านการเหยียดสีผิวทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปขึ้นสู่กระแสสูง ผู้คนออกมาชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่องและรุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน แฮชแท็ก #BlackLivesMatter ปะทุขึ้นอย่างดุเดือดในโลกออนไลน์…

        ผมที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีนจึงอดนึกถึงประสบการณ์โดยตรงที่เคยถูก ‘เลือกปฏิบัติ’ ไม่ได้…

        ก็จริงอยู่ การเหยียดเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวสีในจีนคงจะไม่เข้มข้นและชัดเจนเท่าในสหรัฐฯ ด้วยความที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากกว่า ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ในจีนเป็นคนจีนเชื้อสายฮั่น ปนด้วยประชากรจากชนเผ่าจำนวนน้อย ส่วนชาวต่างชาตินั้น ส่วนใหญ่จะเป็นจำพวกที่อาศัยอยู่เพียงชั่วคราว เพราะหน้าที่การงาน หรือธุรกิจ

        สำหรับผมถือเป็นกรณีพิเศษ เพราะอยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้ซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดในประเทศจีน เนื่องจากเป็นเมืองเอกในการค้าขายกับชาวต่างชาติ ตัวผมจึงได้มีโอกาสอยู่ในสังคมร่วมกับคนหลากถิ่นจากประเทศทั่วโลก อันเป็นเหตุให้ได้รู้จักกับคำว่า ‘เหยียด’ อย่างแท้จริง 

        ประสบการณ์โดนเหยียดของผมแม้จะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงเหมือนกับที่เป็นประเด็นสังคมตอนนี้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกอึดอัดอยู่ไม่น้อยในบางคราว

        ปีแรกที่เริ่มใช้ชีวิตในเซี่ยงไฮ้ ผมได้รับการชักชวนจากรุ่นพี่ให้มาทำงานเป็นครูสอนพิเศษวิชาศิลปะให้กับเด็กปฐมวัย ซึ่งทางโรงเรียนต้องการชาวต่างชาติที่พูดภาษาอังกฤษได้ ผมเป็นชาวไทยคนหนึ่ง ภาษาอังกฤษอาจจะไม่ถือว่าเลิศเลอนัก แต่พูดได้คล่อง ติดอยู่แค่สำเนียง ส่วนเรื่องศิลปะผมมีพื้นฐานดีพอควร จึงผ่านเกณฑ์และถูกจ้างงานเป็นครั้งแรกในชีวิต

        เมื่อถึงเวลาเข้าสอนในวันแรก ก่อนเข้าคลาส เจ้าของโรงเรียนพิเศษซึ่งเป็นคนจีนเดินมาหาและเรียกไปคุย เขากำชับกับผมว่า

        “ห้ามแนะนำตัวว่าเป็นคนไทย ให้บอกไปว่ามาจากสิงคโปร์ จะได้มีภาพลักษณ์โกอินเตอร์ต่อหน้าผู้ปกครองเด็กๆ ด้วย”

        ……..

        ผมไม่กล้าถามต่อ เพราะคิดว่าตัวเองเข้าใจความหมายที่เขาต้องการจะสื่อสารดี ถ้าคิดในแง่ร้ายคือเขาดูถูกประเทศไทย คำว่า ‘ไม่โกอินเตอร์’ อาจหมายถึงความไม่เจริญ ไม่ใช่ประเทศที่พัฒนา จึงให้แสร้งทำว่ามาจากสิงคโปร์ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ผู้ปกครองพวกนั้นก็คงจะไม่พอใจถ้าลูกไม่ได้เรียนกับครูที่ ‘โกอินเตอร์’

        หรือถ้าคิดในแง่ดี ก็อาจมองได้ว่าเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในเรื่องสกิลภาษาอังกฤษ เพราะประเทศสิงคโปร์ถึงแม้จะใช้ภาษามลายูเป็นภาษากลาง แต่ก็ต้องยอมรับว่ามาตรฐานภาษาอังกฤษของประเทศเขาดีกว่าของเรา 

        แต่ถึงจะมองในแง่มุมไหน ผลสุดท้ายคือผมถูกเลือกปฏิบัติ และถูกตอกย้ำให้รู้สึกว่า ประเทศไทยด้อยกว่าสิงคโปร์ ถึงผมจะยอมรับเช่นนั้น หรืออาจจะไม่ยอมรับ คนไทยที่เหลือจะเห็นด้วยหรือเห็นต่าง แต่มันไม่สำคัญ เพราะคนชาติอื่นเขาคิดเช่นนั้น ตัดสินเช่นนั้น และจัดอันดับเช่นนั้น

        สุดท้ายผมก็ไม่ได้โต้แย้งแต่อย่างใด เพราะเห็นว่าถึงอย่างไรก็ต้องยอมรับความจริง และยิ่งกว่านั้นคือเขาก็ยังคงจ่ายค่าจ้างให้ผมตามที่ตกลงกันไว้

        เมื่อผมทำงานที่นี่ได้สักพัก อยู่มาวันหนึ่งก็มีเหตุต้องลากิจ ผมแจ้งล่วงหน้ากับทางโรงเรียน ทางโรงเรียนอนุญาตให้ผมลางานได้ และให้ผมช่วยหาคนมาสอนแทนในเวลาของผม แน่นอนว่า เขาต้องการชาวต่างชาติ

        ผมรู้จักกับเพื่อนคนหนึ่ง เป็นชาวยูเครน พูดภาษาอังกฤษคล่องพอกับผม ติดสำเนียงรัสเซีย ลักษณะภายนอกของเธอดูเป็นชาวตะวันตก ตัวสูง ผิวขาว ตาสีน้ำตาลเข้ม ผมหยักศกมีสีน้ำตาลอ่อน จมูกโด่ง ปากกว้าง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Elena เธอเป็นผู้หญิงที่มีความชอบในงานศิลปะ ผมแนะนำเธอให้กับเจ้าของโรงเรียน เธอเข้าสอนแทนผมในชั่วโมงที่ผมลาหยุด

        ใครจะรู้ว่านี่เป็นก้าวที่พลาดอย่างมหันต์…

        หลังจากที่ Elena เข้าสอนแทนผมเพียงครั้งเดียว เจ้าของโรงเรียนก็เลิกจ้างผม หันไปจ้าง Elena ด้วยค่าจ้างที่มากกว่าผมประมาณ 3.5 เท่า

        เมื่อมองย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้น ที่ทางโรงเรียนต้องการ ‘ชาวต่างชาติ’ มาทำงาน อาจหมายถึงคนที่มีลักษณะของความเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งต้องเป็นชาติที่ ‘โกอินเตอร์’ ด้วย ตัวผมเป็นคนไทยเชื้อสายจีน หน้าตาย่อมต้องคล้ายคนจีน คงไม่ใช่ ‘ชาวต่างชาติ’ ในความหมายที่เขาต้องการ

        เป็นอีกครั้งที่ผมถูกเลือกปฏิบัติ คราวที่แล้วเป็นการตอกย้ำให้รู้สึกว่าไทยด้อยกว่าสิงคโปร์ เป็นการเลือกปฏิบัติที่มองในมิติของความเป็นประเทศพัฒนาเท่านั้น แต่คราวนี้เป็นการเลือกปฏิบัติในมิติของเชื้อชาติ ตอกย้ำให้ผมรู้สึกว่าเกรดของประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเหนือกว่าเอเชีย ไม่ใช่การเหยียดโดยตรง ไม่ใช่การพูดจาเหยียบย่ำเราให้จมดิน แต่เป็นการยกย่องเชิดชูอีกฝ่าย ให้ค่ากับเขาจนตัวเรารู้สึกด้อยค่า

        เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองเช่นนี้แล ยิ่งใหญ่ หรูหรา มีแต่การแข่งขัน บริษัทต่างๆ ก็ย่อมต้องแข่งกันสร้างภาพลักษณ์เพื่อทำยอดขายและสร้างความน่าเชื่อถือ การมีชาวต่างชาติมาร่วมทำงานในบริษัทย่อมส่งผลให้ภาพลักษณ์ดูมีความเป็นสากล หรือ ‘โกอินเตอร์’ มากขึ้น

        ชาวต่างชาติในเซี่ยงไฮ้จึงเป็นที่ต้องการตัวอยู่มาก บริษัทน้อยใหญ่ต่างพยายามหาทางแย่งชิงตัวชาวต่างชาติมาร่วมงาน และเพื่อให้ตอบโจทย์คำว่า ‘สากล’ หรือคำว่า ‘โกอินเตอร์’ ชาวต่างชาติที่พูดภาษาอังกฤษได้จึงเป็นที่ต้องการตัวมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็น Native Speaker ค่าตัวก็จะยิ่งแพง ส่วนกลุ่มที่พูดอังกฤษไม่คล่อง หรือมีสำเนียงไม่ดี ก็จะถูกจัดอันดับรองลงมา ส่วนชาวจีนและชาวต่างชาติที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้จะถูกจัดอันดับให้รั้งท้าย

        หากพูดถึงการเหยียดเชื้อชาติ เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่มีการเหยียดทางอ้อมมากกว่าทางตรง เหยียดโดยการจัดอันดับความสำคัญและการเลือกปฏิบัติ ตัวผมที่เคยถูกเลือกปฏิบัติ เป็นการเหยียดที่เกิดขึ้นโดยสภาพสังคม ถึงแม้จะไม่ได้ตั้งใจ และไม่ทำให้ผมถึงขั้นเลือดตกยางออกหรือขาดอากาศหายใจ แต่การเลือกปฏิบัติแบบนี้ย่อมส่งผลต่อความมั่นใจของผม

        อย่างที่เขียนบอกไว้ตอนต้นว่าการเหยียดเชื้อชาติที่นี่อาจไม่รุนแรงเทียบเท่าในสหรัฐฯ แต่ก็มีมิติที่แตกต่างกันไป เมื่อเกิดเรื่องกรณีของ จอร์จ ฟลอยด์ ขึ้น ก็ทำให้คนทั้งโลกได้กลับมาให้ความสนใจต่อเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ และการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวสี ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนเชื้อสายแอฟริกา หรือความรุนแรงที่มีต่อคนผิวดำในสหรัฐฯ เท่านั้น การเลือกปฏิบัติต่อชาวเอเชีย ชาวอินเดีย หรือชาวตะวันออกกลางก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน

        เฉพาะในปี 2020 ก่อนที่ จอร์จ ฟลอยด์ จะถูกฆาตกรรม ย้อนกลับไปเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ในช่วงต้นของการระบาดของ COVID-19 ก็มีการเหยียดคนเอเชียอย่างเหมารวม โดยเฉพาะชาวเอเชียที่ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศและถูกรุมทำร้ายโดยชาวผิวสีอื่นๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา โดยใช้เรื่อง COVID-19 มาเป็นข้ออ้าง

        ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ผมเพียงเห็นว่าภาพรวมการเหยียดผิวไม่ได้มีแค่สีขาวและสีดำ แต่ยังมีสีแดง สีเหลือง และสีอื่นๆ มากกว่านั้น มิติของการเหยียดก็แสนลึกซึ้ง ซับซ้อน หากว่าตอนนี้มันไม่เพียงพออีกแล้วที่จะ ‘ไม่เหยียดเชื้อชาติ’ (No-Racist) แต่เราต้อง ‘ต่อต้าน/ขจัดการเหยียดเชื้อชาติ’ (Anti-Racist) ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาทางสังคมอีกมาก

        หวังว่าโลกนี้จะมีทิศทางต่อเรื่องนี้ดีขึ้นในอนาคต