‘การแพทย์’ คือหนึ่งในศาสตร์ที่ช่วยให้เผ่าพันธุ์มนุษย์มีอายุขัยยืดยาวในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับในอดีต 100-150 ปี ในยุคที่การแพทย์ยังไม่ทันสมัยนัก ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน สามารถช่วยฟื้นฟูเยียวยาสุขภาพ และรักษาอาการป่วยให้หายได้ เป็นเหตุให้โดยเฉลี่ยแล้ว มนุษย์ในปัจจุบันอายุยืนกว่าในศตวรรษที่ผ่านมาถึง 2 เท่า
แพทยศาสตร์เกิดขึ้นโดยภูมิปัญญาของมนุษย์ เพื่อใช้รักษาและบรรเทาความเจ็บปวดจากโรคภัยไข้เจ็บ แบ่งเป็นหลายแผนตามความเชื่อของคนในแต่ละพื้นที่ การแพทย์แผนที่ได้รับความนิยมที่สุดเห็นจะเป็นการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือการแพทย์แผนตะวันตกนั่นเอง แต่ก็ยังมีการแพทย์ทางเลือกอีกหลายแผนที่ยังคงได้รับความนิยมเฉพาะในบางพื้นที่ เช่น แพทย์แผนจีน แพทย์แผนไทย อายุรเวท กระทั่งการใช้ธรรมชาติบำบัด
ขณะที่นวัตกรรมทางการแพทย์กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองของมนุษย์กลับถดถอย ด้วยความที่แพทยศาสตร์คือการรักษาอาการป่วยด้วยการรับปัจจัยจากภายนอกเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาภายในร่างกาย เช่น การใช้/กินยาแก้ปวด การฉีดวัคซีน หรือการผ่าตัด เป็นเหตุให้ภูมิคุ้มกันภายในร่างกายถูกใช้งานน้อยลง ประสิทธิภาพในการทำงานก็ย่อมด้อยลง ยิ่งทำให้ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีทางการแพทย์มากขึ้น
ถึงแม้จะอายุยืนขึ้น แต่นับวันร่างกายของเรากลับยิ่งอ่อนแอลงเรื่อยๆ – ทุกรุ่น!
ในขณะเดียวกัน ไม่ต่างจากเทคโนโลยีการแพทย์ เชื้อโรคและไวรัสต่างๆ ก็วิวัฒนาการตัวเองอยู่ตลอดเวลาไม่ต่างจากมนุษย์ เป็นเหตุให้เกิดอาการป่วยแบบใหม่ เชื้อโรคและโรคระบาดใหม่ๆ ในทุกระยะ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นสงครามที่มนุษย์พยายามต่อสู้ และหาหนทางเอาชนะ
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ได้เปิดโอกาสให้ศาสตร์แพทย์แผนจีนได้แสดงศักยภาพด้วยการรักษาที่เน้นการมองร่างกายมนุษย์เป็นองค์รวม การสร้างสมดุลในร่างกาย โดยให้ความสำคัญกับมาตรการตั้งรับและฟื้นฟู รวมถึงการเสริมสร้างร่างกายด้วยความแข็งแรงของภูมิคุ้มกัน
โจทย์ที่ยากที่สุดในการรักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไม่ใช่การกำจัดไวรัสออกจากร่างกาย แต่คือการฟื้นฟูบำรุงปอดหลังจากปลอดเชื้อแล้ว เห็นได้ชัดในหลายกรณีที่ผู้ติดเชื้อหายจากการติดเชื้อไวรัส แต่เสียชีวิตในเวลาต่อมาเพราะสภาพปอดที่ถูกทำลายเละเทะไปในระหว่างติดเชื้อจนไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาทำงานได้อีกครั้ง
เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์จีนได้ออกมาเปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับงานวิจัยที่เกี่ยวกับตำรับยา ‘ชิงเฟ่ย ผายตู่’ (清肺排毒汤) แปลเป็นไทยคือสูตรต้มยาขับพิษและชำระล้างปอดให้สะอาด ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19
‘ชิงเฟ่ย ผายตู่’ มีส่วนผสมของสมุนไพรหลายชนิด ช่วยลดไข้ และเพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดให้กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เป็นการป้องกันไม่ให้อาการของผู้ติดเชื้อทรุดหนักถึงขั้นวิกฤต โดยสถิติชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วยมากกว่า 90% ในจีนที่เข้ารับการรักษาโดยใช้แพทย์แผนจีน ล้วนมีอาการดีขึ้นในระดับที่น่าพอใจจนถึงหายขาด อีกทั้งยังไม่มีอาการทรุดลง
กรณีการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่ดีของ ‘วิธีคิดแบบการแพทย์แผนจีน’ ซึ่งนิยามได้ว่าเป็น ‘การมองเป็นองค์รวมและรักษาจากภายในสู่ภายนอก’ การฟื้นฟูอวัยวะและภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายเกิดความสมดุล แข็งแรงพอที่จะขับสารพิษหรือสิ่งแปลกปลอมอันเป็นเหตุแห่งการเจ็บไข้ได้ป่วยออกจากร่างกาย
นอกจากการใช้สมุนไพรแล้ว ในการแพทย์แผนจีนยังมีการฝังเข็ม การนวดทุยหนา ครอบแก้ว รมยา และอื่น ๆ
ทั้งนี้ทั้งนั้น การแพทย์แผนจีนยังไม่ถึงกับเป็นที่ยอมรับเชื่อถือในวงกว้าง โดยเฉพาะในหมู่ชาวตะวันตกหรือผู้นิยมตะวันตก แม้กระทั่งชาวจีนบางคนก็เลือกที่จะหันหน้าเข้าหาการแพทย์แผนปัจจุบันที่มีความเป็นรูปธรรม และสามารถอธิบายเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างถี่ถ้วน
การแพทย์แผนจีนเป็นตำราวิชาที่ไม่ตายตัว การรักษาจึงต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญเป็นอย่างมาก ผลลัพธ์ของการรักษาด้วยการแพทย์แผนจีนมิอาจเห็นผลได้อย่างรวดเร็วทันใจ แต่จะมีผลดีในระยะยาว ด้วยความที่ไม่มีการใช้ตัวยาที่มีส่วนผสมเป็นสารเคมีซึ่งแทบจะไม่เป็นพิษแก่ตับ/ไต และไม่มีกระบวนการรักษาที่ทำให้ร่างกายต้องรับรังสีที่อาจทำให้มีผลข้างเคียง จึงทำให้การรักษาด้วยแพทย์แผนจีนมีความปลอดภัยต่อร่างกาย ไร้ซึ่งอาการแทรกซ้อน… หากรักษาอย่างถูกหลักโดยผู้เชี่ยวชาญ เรียกได้ว่าออร์แกนิกล้วนๆ
แพทย์แผนจีนมีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย แพทย์แผนปัจจุบัน รวมถึงแพทย์ทางเลือกแขนงอื่นๆ ก็เช่นกัน ตามทัศนะของผม จะเป็นการดียิ่งหากมีการประยุกต์ใช้ศาสตร์การแพทย์หลากหลายแขนงมาปรับใช้ร่วมกัน และนำจุดเด่นของแต่ละแขนงมาเติมเต็มจุดด้อยของอีกแขนง…
ใช้นวัตกรรมการแพทย์แผนปัจจุบันในการรักษาอาการป่วยเฉพาะหน้า และใช้การแพทย์แผนจีนในการฟื้นฟูเยียวยา และสร้างพื้นฐานที่ดีให้กับร่างกายในระยะยาว
แม้ว่าศาสตร์การแพทย์แต่ละแผนอาจมีหลักคิดแตกต่างกัน แต่มิได้หมายความว่าศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งด้อยกว่าหรือดีกว่า สุดท้าย เมื่อขึ้นชื่อว่า ‘การแพทย์’ เป้าหมายเดียวกันของทุกศาสตร์ก็ย่อมเป็นการพยายามรักษาคนไข้ให้หายจากอาการป่วย
จะเป็นการดีกว่าไหม ถ้าจะนำข้อดีของศาสตร์การแพทย์แต่ละแขนงมาผสมผสาน เพื่อต่อยอดและพัฒนาการรักษา ให้ประโยชน์ล้นท้นแก่คนไข้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้
**บทความนี้ได้รับข้อมูลและแรงบันดาลใจมาจากบุคคลใกล้ตัวที่ศึกษาเฉพาะทางเกี่ยวกับวิชาการแพทย์แผนจีน