เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผมเพิ่งกัดฟันถอย Oculus Quest 2 เฮดเซตที่จะพาเราเข้าสู่โลกเสมือนจริงในระดับราคาที่คนทั่วไปเอื้อมถึง แต่สิ่งที่ผมประหลาดใจคือคนเดียวในบ้านที่รู้จักแบรนด์ Oculus กลับเป็นคุณหมอพ่อตาที่มีประสบการณ์ทำงานกว่า 40 ปี เขาบอกว่าเคยเห็นเครื่องแบบนี้ในการใช้สำหรับฝึกผ่าตัดในโลกเสมือนจริงของเหล่าแพทย์ประจำบ้าน
นี่คือความรู้ใหม่ที่ฟังแล้วก็อดไม่ได้ที่จะตาลุกวาว หลังจากค้นข้อมูลก็ยิ่งพบว่าวงการแพทย์นั้นอยู่ ‘แถวหน้า’ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Virtual Reality) หรือที่ตอนนี้มีคำเรียกติดหูว่า Metaverse มาเนิ่นนานกว่า 20 ปี!
อ่านไม่ผิดหรอกครับ แวดวงสาธารณสุขเริ่มประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงสำหรับการรักษามายาวนานกว่าสองทศวรรษ โดยกลุ่มแรกที่หยิบมาใช้คือเหล่าจิตแพทย์สำหรับการรักษาด้วยวิธีบำบัดโดยการเผชิญหน้ากับความกลัวเป็นเวลานาน (Prolonged Exposure Therapy) ผ่านโลกเสมือนจริงท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเพื่อจัดการกับภาวะวิตกกังวล เช่น ความหวาดกลัวที่จะนั่งเครื่องบิน กลัวที่แคบ กลัวความสูง หรือกระทั่งกลัวแมงมุม
การบำบัดดังกล่าวจะพาคนไข้ไปเผชิญกับความกลัวในโลกเสมือน เช่นในกรณีที่คนไข้กลัวความสูง เขาหรือเธอก็จะสวมแว่นตาไปเจอกับสะพาน ระเบียง และลิฟต์ในโลกเสมือน โดยคนไข้จะสามารถใช้เวลาในแต่ละสถานการณ์นานตามความต้องการเพื่อบรรเทาความวิตกกังวล ส่วนนักบำบัดก็จะคอยควบคุมดูแลผ่านหน้าจอพร้อมกับให้คำแนะนำตามความเหมาะสม มีการศึกษาพบว่ากลุ่มคนไข้ที่ผ่านการรักษาในรูปแบบดังกล่าวจะช่วยลดความวิตกกังวลและความตึงเครียดเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์เหล่านั้นในโลกออฟไลน์ลงอย่างมีนัยสำคัญ
เทคโนโลยีนี้ยังถูกนำมาใช้รักษาสภาวะป่วยทางจิตใจหลังจากต้องเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรงหรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ของกลุ่มทหารที่ผ่านศึกสงครามมา นักบำบัดจะพาพวกเขาเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริง เช่น สภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับสงครามที่พวกเขาเคยผ่านมา พร้อมทั้งคอยกำหนดระดับความเข้มข้นของประสบการณ์ที่คนไข้ต้องพบเจอผ่านการควบคุมภาพและเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงปืน เสียงระเบิด และเสียงตะโกน มีการศึกษาพบว่า วิธีบำบัดในลักษณะนี้ช่วยบรรเทาอาการ PTSD ได้อย่างมีประสิทธิผล
ขนาด 20 ปีก่อนยังล้ำขนาดนี้ สงสัยกันไหมครับว่าปัจจุบันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนในทางการแพทย์ได้ก้าวมาไกลมากขึ้นมากแค่ไหน
ฝึกมือในห้องผ่าตัดเสมือนจริง
แพทย์ประจำบ้านหรือเหล่าแพทย์ฝึกหัดที่อยู่ตามโรงพยาบาล แม้ว่าจะผ่านการศึกษาในห้องเรียนมาอย่างเข้มข้นและได้ร่วมเข้าชมการผ่าตัดหลายต่อหลายครั้ง แต่พวกเขาก็มีโอกาสที่จะฝึกฝนการผ่าตัดเพียงไม่กี่ครั้งกับอาจารย์ใหญ่ก่อนที่จะได้ลงมือกับคนไข้จริง จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลลัพธ์ของการผ่าตัดโดยเหล่าแพทย์ฝึกหัดจะออกมาแย่กว่าเมื่อเทียบกับแพทย์ที่มีประสบการณ์ซึ่งผ่านการฝึกฝนมานับครั้งไม่ถ้วน
แต่เทคโนโลยี Metaverse กำลังจะทำให้การฝึกฝนผ่าตัดของเหล่าแพทย์เปลี่ยนแปลงไป เพราะพวกเขาจะสามารถเข้าถึงห้องผ่าตัดเสมือนจริงได้บ่อยครั้งเท่าที่ต้องการโดยงบประมาณไม่บานปลาย
หนึ่งในตัวอย่าง เช่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ใช้ซอฟต์แวร์ใหม่ล่าสุดที่รวมเอาผลลัพธ์จากเครื่อง MRI ซีทีสแกน และการตรวจหลอดเลือดด้วยเครื่องเอกซเรย์ สร้างเป็นแบบจำลองสามมิติซึ่งแพทย์และคนไข้สามารถสำรวจและปรับแต่งได้ไม่ต่างจากกำลังเล่นเกมในโลกเสมือนจริง
ห้องเรียนของเหล่าแพทย์ประจำบ้านจึงย้ายจากห้องผ่าตัดมายังห้องปฏิบัติการสำหรับเข้าสู่โลก Metaverse หลังจากพวกเขาสวมใส่เฮดเซต ผู้บรรยายก็จะปรากฏตัวในอวาตาร์ชุดสีขาวที่พร้อมจะพานักศึกษาเข้าไปในสมองของคนไข้พร้อมกับฟังก์ชันให้ผู้บรรยายสามารถชี้ให้เห็นบริเวณที่เส้นเลือดแดงโป่งพอง กระดูกจุดที่ทำให้กะโหลกผิดรูป หรือเนื้อเยื่อที่กำลังพัฒนาไปเป็นเนื้องอก พร้อมทั้งสามารถหมุนภาพแบบ 360 องศา และดำเนินการผ่าตัดรักษาคนไข้ในโลกเสมือนโดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผ่าผิวหนังภายนอก
แต่ประโยชน์ของเครื่องมือดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่กับแพทย์ประจำบ้านเท่านั้น เพราะเหล่าแพทย์ที่มีประสบการณ์ก็สามารถมาใช้ห้องปฏิบัติการเพื่อศึกษาภาพสามมิติก่อนผ่าตัดซึ่งจะแสดงพยาธิสภาพของคนไข้จริงๆ ซึ่งจะช่วยทำให้วางแผนการผ่าตัดได้ง่าย แม่นยำ และมีความปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ แบบจำลองสามมิติยังช่วยในการสื่อสารกับคนไข้ให้เข้าใจสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่อายุน้อยหรืออาจไม่มีความรู้ด้านศัพท์แสงทางการแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมาแพทย์มักจะหยิบแบบจำลองมาตรฐานของอวัยวะมนุษย์แล้วชี้ให้คนไข้จินตนาการว่าความผิดปกติเกิดขึ้นตรงไหน แต่เทคโนโลยี Metaverse จะทำให้ผู้ป่วยสามารถเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกายด้วยสองตาของตัวเอง
ปัจจุบัน นวัตกรรมดังกล่าวได้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์โดยมีบริษัทแนวหน้าอย่าง ImmersiveTouch และ OssoVR ที่ใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนสำหรับวิเคราะห์ ฝึกฝนและวางแผนก่อนการผ่าตัด พร้อมกับมีงานวิจัยยืนยันว่าเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยลดความผิดพลาดระหว่างผ่าตัดลงไปถึง 54 เปอร์เซ็นต์
ตัวอย่างการฝึกฝนผ่าตัดในโลกเสมือนจริงของ ImmersiveTouch
ดูแลสุขภาพใน Metaverse
ถอยออกมาจากห้องผ่าตัด การประยุกต์ใช้โลกเสมือนในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยก็ก้าวไปไกลมากเมื่อเทียบกับยุคแรกเริ่ม เช่นงานวิจัยชิ้นสำคัญจากซีดาร์-ไซไนน์ เมดิคัล เซ็นเตอร์ สหรัฐอเมริกา ที่ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่องการใช้โลกเสมือนจริงในการบรรเทาอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาสามัญเพื่อระงับการปวดอย่างมอร์ฟีน
ในการศึกษาชิ้นดังกล่าวครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วย 120 คนที่มาเข้าพักรักษาตัวที่ซีดาร์-ไซไนน์ เมดิคัล เซ็นเตอร์ จากอาการเจ็บป่วยหลากหลายรูปแบบ อาทิ โรคกระดูก โรคทางเดินอาหาร และโรคมะเร็ง ซึ่งเผชิญกับความเจ็บปวดอย่างน้อย 3 จาก 10 คะแนน
ผู้ป่วยจำนวนครึ่งหนึ่งจะได้รับเฮดเซตสำหรับเข้าสู่โลกเสมือนจริงที่บรรจุโปรแกรมเสริมสร้างความผ่อนคลาย ทั้งโยคะและการนั่งสมาธิพร้อมได้รับคำแนะนำให้ใช้โปรแกรมดังกล่าวอย่างน้อย 3 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 10 นาที ผลลัพธ์ปรากฏว่าคนไข้กลุ่มดังกล่าวมีคะแนนความเจ็บปวดต่ำกว่ากลุ่มควบคุมถึง 1.7 หน่วย ศูนย์สุขภาพจึงได้ขยายผลกับคนไข้รายอื่นๆ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 3,000 ราย และได้ผลที่น่าพึงพอใจคือเวลาในการรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนในการรักษาอย่างมาก
อีกก้าวหนึ่งที่น่าสนใจคือการสร้างที่ปรึกษาเสมือนจริงของโครงการ SimCoach ที่มีกลุ่มเป้าหมายคือเหล่าทหารในสงครามอิรัก ระบบดังกล่าวจะรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่ไม่ระบุตัวตนของผู้เข้ารับคำปรึกษาทั้งประวัติส่วนตัวและความกังวล สร้างเป็นบุคคลเสมือนแบบออนไลน์เพื่อให้คำปรึกษาเบื้องต้นแก่ทหารและครอบครัวซึ่งยังไม่อยากไปเข้ากระบวนการรักษากับแพทย์ตัวจริง ครอบคลุมประเด็นตั้งแต่สุขภาพจิต อาการบาดเจ็บทางสมอง การใช้สารเสพติด ไปจนถึงเรื่องอื่นๆ เช่น ปัญหาเรื่องการเงิน หรือการเปลี่ยนผ่านจากทหารสู่การเป็นพลเรือน
ตัวอย่างบุคคลจำลองใน SimCoach ที่คุณสามารถปรับแต่งได้ว่าต้องการจะคุยกับใคร
ขยับเข้ามาสู่เรื่องที่ใกล้ตัวกันบ้าง ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ หลายคนที่โหยหาการออกกำลังกายก็อาจไม่มั่นใจที่จะไปตามโรงยิม ผมอยากจะชวนให้มาลองออกกำลังกายใน Metaverse ที่มีสารพัดเกมให้ขยับแข้งขยับขา ตั้งแต่ควงดาบไลต์เซเบอร์ฟาดตามจังหวะเพลงอย่างเกมยอดฮิต BeatSaber หรือคว้าอาวุธฟาดฟันกับเหล่ามอนสเตอร์ในสารพัดเกมผจญภัยหลากหลายรูปแบบ
ส่วนใครที่ไม่ได้อินกับการเล่นเกมสักเท่าไหร่ โลกเสมือนจริงก็มีแอปพลิเคชันสำหรับออกกำลังกายแบบจริงจังที่คุณสามารถเลือกได้ว่าวันนี้อยากเรียกเหงื่อหน้าหอไอเฟล แพลงก์บนเทือกเขาเอลป์ หรือคาดิโอที่ไหนก็ได้บนโลก พร้อมกับโค้ชส่วนตัวที่พร้อมให้คุณเรียกใช้งานแบบ 24 ชั่วโมง
นี่นับเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ Metaverse กับการประยุกต์ใช้ในแวดวงสุขภาพนะครับ รับรองว่าในอีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้าคงจะมีสิ่งน่าตื่นตาตื่นใจที่เราคาดไม่ถึงอย่างแน่นอน
เอกสารประกอบการเขียน
• https://www.nature.com/articles/s41746-018-0026-4
• https://vrscout.com/news/vr-saves-lives/
• https://medicalgiving.stanford.edu/news/virtual-reality-system-helps-surgeons-reassures-patients.html