Floreo โลกเสมือนเพื่อให้เด็กออทิซึมผลิบาน

ในชีวิตของ วิชัย ราวินทราน (Vijay Ravindran) และ วิภา ซาสาวอล (Vibha Sazawal) ไม่เคยนึกเลยว่าจะต้องมาข้องเกี่ยวกับงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กที่มีภาวะออทิซึม วิชัยเป็นอดีตวิศวกรซอฟต์แวร์ที่แอมะซอนและวอชิงตันโพสต์ ส่วนวิภาเป็นอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ University of Maryland สหรัฐอเมริกา

        แต่ภาวะออทิซึมก็กลายเป็นแกนกลางชีวิตของทั้งคู่ เมื่อมาโนช บุตรชายของทั้งสองได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเข้าข่ายกลุ่มอาการดังกล่าวในปี พ.ศ. 2555 หลังจากนั้นวิภาก็ลาออกจากงานและใช้เวลาส่วนใหญ่ดูแลเด็กชาย ไม่นานเธอก็สังเกตพบว่ามาโนชหมกมุ่นกับแอพพลิเคชันอย่าง Google Street View หลังจากนั้นเธอก็แนะนำให้มาโนชเข้าสู่โลกเสมือนครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 7 ขวบ เขาตกหลุมรักมันทันทีและพร้อมที่จะสานสัมพันธ์กับตัวละครต่างๆ ในโลกดิจิทัล

        เมื่อเทคโนโลยีโลกเสมือนเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ทั้งสองจึงตัดสินใจก่อตั้ง Floreo หรือ ‘ผลิบาน’ ในภาษาละติน สตาร์ตอัพที่จะจำลองสถานการณ์ต่างๆ โลกเสมือนเพื่อให้เด็กที่มีภาวะออทิซึมสามารถเรียนรู้ที่จะรับมือเมื่อเจอกับสถานการณ์ในโลกความจริง

        ออทิซึมเป็นภาวะความบกพร่องด้านการพัฒนาการ เด็กที่เข้าข่ายออทิซึมจะมีความบกพร่องในการสื่อสารและมีปัญหาเมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ในสหรัฐอเมริกา สถิติเด็กที่มีภาวะออทิซึมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเด็ก 1 ต่อ 125 คนเมื่อ พ.ศ. 2553 เพิ่มเป็น 1 ต่อ 59 คนในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยเองก็พบแนวโน้มดังกล่าวโดยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่มีภาวะออทิซึมคิดเป็นสัดส่วน 3 ต่อ 200 คน 

        แม้จะมีภาวะออทิสซึมเหมือนกัน แต่เด็กพิเศษแต่ละคนก็มีลักษณะที่แตกต่างกัน บางคนอาจไม่รู้ว่าคนอื่นกำลังพูดกับตนเองอยู่จึงไม่ตอบสนอง บางคนอาจอ่อนไหวกับเสียงดัง หรือบางคนอาจมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่ำเกินไป จึงเป็นความท้าทายของพ่อแม่ ครู และทีมแพทย์ในการออกแบบการเรียนรู้เฉพาะบุคคลเพื่อส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม

        วิชัยและวิภา คู่สามีภรรยาจึงพัฒนาโปรแกรมในโลกเสมือนเพื่อรับมือความต้องการที่แตกต่างหลากหลาย โดยแขกกิตติมศักดิ์ที่เข้าร่วมทดลองในโครงการดังกล่าวก็คือลูกชายของทั้งสองนั่นเอง

        โปรแกรมทดลองตัวแรกเริ่มของ Floreo มีทั้งการฝึกฝนด้านพื้นฐานอย่างการเพ่งความสนใจและการฝึกใช้ภาษาง่ายๆ เพื่ออธิบายสิ่งที่ตนเองต้องการ แต่ทักษะพื้นฐานเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับมาโนช สถานการณ์จำลองที่นับว่าเป็นเรื่องท้าทายของเขาคือการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เผชิญหน้าตำรวจในโลกเสมือนจริง
ภาพ:
Floreo

        การถูกสอบถามโดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก จึงนับว่าเป็นสถานการณ์ที่สร้างความตึงเครียดแม้กับคนทั่วไป จะนับประสาอะไรกับคนที่มีภาวะออทิซึมซึ่งบกพร่องในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม พวกเขาหรือเธออาจแสดงปฏิกิริยาที่น่าสงสัย หลบตา ไม่ตอบสนองต่อคำถาม ตอบตะกุกตะกัก หรือพยายามวิ่งหนี สัญญาณเหล่านี้อาจถูกเข้าใจผิดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาจนำไปสู่โศกนาฏกรรม

        นี่ไม่ใช่ความกังวลที่เกินกว่าเหตุ เพราะย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2556 เจ้าหน้าที่ตำรวจเคยก่อเกตุฆาตกรรม อีธาน เซย์เลอร์ (Ethan Saylor) ชายที่เป็นดาวน์ซินโดรมเพียงเพราะเขาพยายามเข้าไปดูภาพยนตร์โดยที่ไม่ได้ซื้อตั๋ว หรือเหตุปะทะเมื่อ พ.ศ. 2559 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงปืน 3 นัดไปยังชายที่มีภาวะออทิซึมเพราะเข้าใจผิดว่ารถของเล่นสีเงินที่เขาถืออยู่คืออาวุธ

        แน่นอนครับว่าปัญหาส่วนหนึ่งคือการใช้กำลังเกินกว่าเหตุและความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจของคนที่มีภาวะดาวน์ซินโดรมหรือออทิซึม แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเตรียมพร้อมเด็กๆ ที่มีภาวะออทิซึมได้ฝึกฝนเมื่อเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดพร้อมให้คำแนะนำวิธีปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสม

        ข้อดีของโลกเสมือนคือเราสามารถปรับแต่งเหตุการณ์เพื่อเพิ่มระดับความท้าทายได้ตามต้องการ ผู้ดูแลสามารถปรับระดับความตึงเครียดของสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้ากับตำรวจ ตั้งแต่การสอบถามอย่างเป็นมิตรในตอนกลางวัน ไปจนถึงการเผชิญหน้าในยามค่ำคืนที่มีเสียงไซเรนดังกึกก้อง โดยเฝ้ามองประสบการณ์โลกเสมือนที่เด็กเผชิญอยู่จากอีกหน้าจอหนึ่ง

การฝึกฝนผ่านประสบการณ์ในโลกเสมือนจริง
ภาพ: Floreo

        การจำลองโลกเสมือนจริงเพื่อช่วยเหลือคนที่มีภาวะออทิซึมไม่ใช่เรื่องใหม่แต่มีการทดลองมาเนิ่นนานหลายทศวรรษ โดยนักวิจัยพบว่าเทคโนโลยีนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเรียนรู้ของผู้ที่มีภาวะออทิซึม เพราะในโลกจำลองนั้นมีความสม่ำเสมอคงเส้นคงวา ปราศจากสิ่งเร้าหรือสิ่งที่จะมารบกวนสมาธิ อีกทั้งยังไม่มีแรงกดดันเท่ากับอยู่ในสถานการณ์จริง 

        นักวิทยาศาสตร์ใช้เทคโนโลยี VR สำหรับจำลองหลากหลายสถานการณ์ ทั้งการสัมภาษณ์งาน มีปัญหากับเพื่อนบ้าน หรือเที่ยวสองต่อสองกับคนรัก เทคโนโลยีดังกล่าวยังใช้เตรียมความพร้อมให้เด็กที่มีภาวะออทิซึมก่อนการขึ้นพูดต่อสาธารณะ โดยผู้ฟังจำลองจะค่อยๆ จางหายไปหากผู้พูดไม่สบตา การฝึกซ้อมในโลกเสมือนจึงไม่ต่างจากการเล่นเกมที่ให้ผู้เล่นค่อยๆ ปรับพฤติกรรมก่อนเผชิญหน้ากับโลกความเป็นจริง

        Floreo นับเป็นอีกหนึ่งก้าวที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ที่มีภาวะออทิซึมสามารถเข้าไปฝึกฝนในโลกเสมือนจริงได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมีบทเรียนกว่า 175 บทเรียน อาทิ สถานการณ์จำลองเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารด้วยการสบตา การข้ามถนน การควบคุมอารมณ์ การสวมหน้ากากอนามัย การรับฟังและเข้าร่วมบทสนทนา และการรับมือเมื่อโดนบูลลี

บทเรียนการข้ามถนนในโลกเสมือนจริง
ภาพ: Floreo

       ปัจจุบัน Floreo มีผู้ใช้งานจาก 19 ประเทศทั่วโลก พร้อมทั้งจับมือกับโรงพยาบาลเด็กในฟิลาเดลเฟียเพื่อศึกษาผลลัพธ์จากบทเรียนในโลกเสมือน ล่าสุดบริษัทได้รับทุนจาก Autism Impact Fund และ Disability Opportunity Fund เพื่อมุ่งหน้าสู่เป้าหมายการเป็น Metaverse สำหรับบำบัดเชิงพฤติกรรมรายแรกของโลก


เอกสารประกอบการเขียน:-

https://www.floreotech.com/

https://dbknews.com/2019/09/20/umd-virtual-reality-autism-police-floreo-training/

https://www.forbes.com/sites/solrogers/2019/04/03/how-virtual-reality-can-help-those-with-autism/

https://www.edweek.org/teaching-learning/students-with-autism-get-virtual-reality-lessons-in-how-to-interact-with-police/2019/10

เรื่อง: รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ | ภาพ: ภัทร สุวรรณรงค์