“เราทุกคนมี ‘โลกใบที่สอง’ เพิ่มขึ้นไม่อย่างหยุดหย่อน โลกเหล่านี้พื้นที่ใหม่ซึ่งสามารถใช้แสดงตัวตนของเราออกมา แต่หลายคนอาจยังประเมินมูลค่าความต้องการของปัจเจกชนที่จะแสดงตัวตนในโลกเสมือนจริง ด้วยผลิตภัณฑ์เสมือนจริง ผ่านตัวตนเสมือนจริงต่ำเกินไป”
ประโยคข้างต้นคือมุมมองของ โรเบิร์ต เทรียฟัส (Robert Triefus) รองประธานบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของ Gucci หนึ่งในแบรนด์ที่บุกโลกเสมือนจริงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงโอกาสทางธุรกิจของแฟชั่นในโลกเสมือนจริงซึ่งหลายแบรนด์เริ่มตบเท้าเดินเข้าหา โดยเฉพาะผู้บริโภค Gen Z ที่ใช้เวลากว่าวันละ 7 ชั่วโมงในโลกออนไลน์
แฟชั่นในโลกดิจิทัลไม่ใช่เรื่องในฝันอีกต่อไป เมื่อผู้บริโภครุ่นใหม่พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าในโลกเสมือนจริง เราอาจเคยได้ยินการจับมือระหว่างแบรนด์แฟชั่นกับเกม เช่น แบรนด์ Gucci ที่มีของสวมใส่ให้ผู้เล่นบนแพลตฟอร์ม Roblox เกม Pokémon Go และ Animal Crossing หรือแบรนด์ Balenciaga ที่จับมือกับเกมดังอย่าง Fortnite วางขายผลิตภัณฑ์ให้เหล่าเกมเมอร์ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์
ล่าสุดเหล่าแบรนด์แฟชั่นได้ขยับขยายสู่การจัดงานแฟชั่นโชว์และการจัดตั้งย่านแฟชั่นให้เดินช้อปใน Metaverse ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญที่อาจกลายเป็นความปกติใหม่ในวงการแฟชั่น
ถ้าพร้อมแล้ว ผมจะชวนทุกท่านคว้า Wallet แล้วมาเที่ยวถนนสายแฟชั่นใน Decentraland กันเลย!
อาคารจัดงาน Metaverse Fashion Week หรือ MVFW22
ภาพ: Decentraland
มีอะไรใน Metaverse Fashion Week (MVFW22)
เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีอีเวนต์สำคัญของวงการแฟชั่นจัดขึ้นบนแพลตฟอร์มโลกเสมือนจริง Decentraland นั่นคือ Metaverse Fashion Week หรือ MVFW22 แฟชั่นโชว์ในโลกเสมือนจริงครั้งแรกของโลกโดยมีราว 70 แบรนด์ดังเข้าร่วมงานแฟชั่นโชว์ดิจิทัลในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น Estée Lauder, Dolce & Gabbana, Forever 21, Selfridges, DKNY, Karl Lagerfeld และ Philipp Plein
งาน MVFW22 จัดต่อเนื่อง 4 วัน โดยมีผู้ใช้กว่า 108,000 คนแวะเวียนมาเข้าชมตลอดกิจกรรม นับว่าเป็นตัวเลขที่น่าประทับใจหากเทียบกับเทศกาลดนตรีเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เล่นเข้ามาชมราว 40,000 คน
งานแฟชั่นโชว์ในโลกเสมือน ย่อมนำเสนอประสบการณ์ที่ผิดแผกแตกต่างจากโลกจริง เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ในโลกใบใหม่ใบนี้ ทั้งอาคารจัดงานหรูหราอลังการ แบรนด์ Dolce & Gabbana ที่ใช้แมวมาเดินแฟชั่นบนแคตวอล์ก การออกท่าทางลีลาของเหล่านายแบบนางแบบที่เป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ท่ามกลางแสงสีเสียงที่ออกแบบมาให้เป็นท่วงทำนองเดียวกัน กิจกรรมพิเศษอย่างการพูดคุยแบบเป็นกันเองกับดีไซน์เนอร์ชื่อดัง ทอมมี ฮิลฟิเกอร์ (Tommy Hilfiger) ปิดท้ายด้วยการแสดงของ Grimes ในช่วงอาฟเตอร์ปาร์ตี้ที่ชวนผู้เข้าร่วมงานออกมาเต้นในเวทีน้ำวน
นางแบบและนายแบบแมวเหมียวของแบรนด์ Dolce & Gabbanaในงาน MVFW22
นอกจากงานแฟชั่นโชว์ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจหลัก MVFW22 ยังเป็นการเปิดตัวพื้นที่แห่งใหม่ใน Decentraland นั่นคือดินแดนแห่งแฟชั่น (fashion district) ที่หลากหลายแบรนด์ชื่อดังควักเงินก้อนใหญ่เพื่อซื้อที่ดิน สร้างร้านรวงแสดงสินค้าในโลกเสมือนจริงให้ผู้เล่นเข้าไปรับชม ถูกใจสินค้าชิ้นไหนก็สามารถลองสวมก่อนหยิบใส่ตะกร้า บางร้านจำหน่ายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบ NFT ที่นำมาใส่อวดผู้คนโลกเสมือนได้ทันที บางร้านอาจมีจำหน่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ให้ตัวเราทั้งในจอและโลกจริงอินเทรนด์เหมือนกัน แต่พอเห็นราคาแล้วก็อดไม่ได้ที่จะปาดเหงื่อเพราะแบรนด์ดัง เช่น Philipp Plein ราคาเริ่มต้นที่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน
ถนนย่านแฟชั่น (Fashion District) ใน Decentraland
แต่สำหรับใครที่กำลังจะกำเงินมาลงทุนกับโลกเสมือนใบใหม่แห่งนี้ ผู้เขียนขอให้ยั้งมือไว้สักนิด ถึงแม้ว่า MVFW22 จะเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ แต่ก็มีความท้าทายหลายประการที่ต้องฟันฝ่าเพื่อให้ไปได้ถึงฝัน
ความท้าทายของแฟชั่นในโลกเสมือนจริง
แม้ MVFW22 จะเป็นงานแฟชั่นโชว์ที่ประกาศว่าทุกคนสามารถเข้าถึงได้จากทุกมุมโลก แต่การจะเข้าร่วมงานดังกล่าวก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด นอกจากผู้ใช้งานจะต้องมี Wallet สกุลเงินเข้ารหัสเพื่อเข้าไปยังโลกของ Decentraland แล้ว ยังต้องมีคอมพิวเตอร์ที่แรงพอสมควรเพราะแอพพลิเคชันดังกล่าวกินทรัพยากรเครื่องค่อนข้างมาก หากคอมพิวเตอร์ไม่เร็วพอ ประสบการณ์ที่ได้ก็อาจกลายสะดุดมากกว่าสนุก
ที่สำคัญอย่าคาดหวังว่างานปาร์ตี้จะมีคนพลุกพล่านใน Decentraland เพราะแพลตฟอร์มจะแบ่งโลกเสมือนออกเป็นมิติย่อยๆ เพื่อไม่ให้ระบบของผู้ใช้งานต้องรองรับการประมวลผลที่หนักเกินไป ดังนั้น แม้ว่ามิติหนึ่งจะมีคนพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน คุณอาจต้องล็อกอินเข้าไปแล้วเจอเมืองร้างก็เป็นไปได้
นอกจากนี้ Decentraland ยังมีข้อจำกัดในด้านกราฟิกค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้ใช้งานที่อินเทอร์เน็ตความเร็วไม่สูงอาจเห็นภาพราวกับกำลังเล่นเกมเมื่อราวสิบปีก่อน เสื้อผ้าหรือผลิตภัณฑ์แบรนด์เนมหลักหมื่นที่ขายรายละเอียดในเนื้องานก็จะมีสภาพเป็นสี่เหลี่ยมแตกๆ แถมยังดูหน้าตาแสนจะธรรมดาหากเทียบกับเสื้อผ้าหลุดโลกที่เหล่าผู้เล่นดีไซน์ซื้อขายกันเอง
นาฬิกาในรูปแบบ NFT ของแบรนด์ Jacob & Co รุ่น Astronomia Metaverso
เปรียบเทียบระหว่างภาพใน Decentraland (ซ้าย) กับภาพที่แสดงบนเว็บไซต์ (ขวา)
ในวันที่อุตสาหกรรมเกมเติบโตอย่างต่อเนื่องและอาจกลายเป็นอีกส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต แฟชั่นในโลกเสมือนยังอยู่ในช่วงของการนับหนึ่ง แม้ว่า MVFW22 อาจจะขลุกขลักและไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่ใครหลายคนวาดหวัง แต่ก็นับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญที่แบรนด์แฟชั่นชั้นนำทั่วโลกจะนำบทเรียนในปีนี้ไปปรับใช้กับการออกแบบในปีหน้าที่อาจสลัดคราบของแบรนด์แฟชั่นออฟไลน์ สู่แฟชั่นล้ำสมัยที่หลุดจากโลกจริงสู่หน้าจอ
แต่โลกเสมือนจริงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ Decentraland นะครับ เพราะในเมตาเวิร์สมีคู่แข่งมากมายทั้งแพลตฟอร์มอย่าง Roblox หรือเกมยอดนิยม Fortnight ยังไม่นับพื้นที่ใหม่ๆ ที่ต่างผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดหลังจากคำว่าโลกเสมือนจริงเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่สาธารณชน ดังนั้น MVFW22 ที่วันนี้ดูล้ำสมัยก็อาจกลายเป็นเรื่องที่แสนจะสามัญธรรมดาในแวดวงแฟชั่นอีกสามปีห้าปีข้างหน้าก็เป็นได้
เอกสารประกอบการเขียน:
- https://edition.cnn.com/style/article/fashion-week-metaverse-review/index.html
- https://sea.mashable.com/life/19842/in-the-metaverse-fashion-week-is-for-everyone-if-your-browser-doesnt-crash
- https://fashionweekonline.com/fashion-takes-center-stage-in-the-metaverse-at-decentralands-metaverse-fashion-week
- https://www.voguebusiness.com/technology/metaverse-fashion-week-the-hits-and-misses
เรื่อง: รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ | ภาพ: ภัทร สุวรรณรงค์