Metaverse เปลี่ยนแวดวงการท่องเที่ยวไปอย่างไร

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการท่องเที่ยวและต้องเจ็บหนักจากการระบาดของโควิด-19 ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตอย่างต่อเนื่องแทบทุกปี โดยมีเพียงบางปีเท่านั้นที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวชะลอตัวลง เช่น ปีที่พบการระบาดของโรคซาร์ส และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ย้อนกลับไปก่อนการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี พ.ศ. 2562 ตัวเลขนักเดินทางมีจำนวนสูงถึง 1.5 พันล้านคน

        โรคระบาดที่กึ่งบังคับให้ทุกคนต้องอยู่บ้าน ประกอบกับกฎเกณฑ์สารพัดที่ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศยากลำบากขึ้นส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงอย่างฮวบฮาบ โดยเมื่อปีที่ผ่านมายังอยู่ที่ราว 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักท่องเที่ยวก่อนการระบาด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่ากว่าจะฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ก็อาจต้องรอถึงปี พ.ศ. 2567

        ท่ามกลางความปกติใหม่ที่การเดินทางท่องเที่ยวยังไม่สะดวกดายเช่นในอดีต โชคดีที่เรายังมีทางเลือกที่ทำให้ชีวิตไม่เงียบเหงานัก อีกทั้งยังเป็นก้าวสำคัญที่จะพลิกโฉมแวดวงการท่องเที่ยวในปัจจุบันโดยสามารถลิ้มลองประสบการณ์ ‘เสมือน’ ไปเที่ยวได้แบบไม่ต้องก้าวขาออกจากบ้าน!

        ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับ Metaverse นั่นเอง

ดีจริงหรือจกตา? มาดูก่อนได้ในโลกเสมือนจริง

        กระบวนการที่ยุ่งยากและกินพลังมากที่สุดในการท่องเที่ยวคือการตัดสินใจว่าจะไปเที่ยวที่ไหนภายใต้งบประมาณและเวลาที่จำกัด ลองนึกดูสิครับว่านอกจากจะต้องคิดเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ยังต้องคำนึงถึงร้านอาหารและโรงแรมที่อยู่ไม่ไกล รวมถึงกิจกรรมต่างๆ เพื่อกอบโกยประสบการณ์เข้ากระเป๋าให้คุ้มค่าที่สุด ยังไม่นับเรื่องหยุมหยิมจิปาถะอย่างการเดินทาง ทั้งเลือกสายการบิน ศึกษาเรื่องการขนส่งสาธารณะ และอีกสารพัด

        แต่ต่อให้วางแผนมาดีเลิศแค่ไหน ทริปทั้งทริปก็อาจกลายเป็นประสบการณ์ที่น่าผิดหวังหากข้อมูลที่ค้นหาจากอินเทอร์เน็ตแตกต่างกับของจริงราวฟ้ากับเหว ไม่ว่าจะเป็นจุดถ่ายรูปที่ไม่อลังการเหมือนในภาพถ่าย ร้านอาหารที่ไม่เปิดทำการ และห้องพักที่เล็กกว่าในรูปประมาณสองเท่าครึ่ง แต่ประสบการณ์เหล่านี้จะหมดไปด้วยเทคโนโลยี Metaverse ที่จะพาเราไปสถานที่ท่องเที่ยวแบบ 3 มิติ เรียกว่าเจอประสบการณ์เสมือนจริงแบบไม่จกตา

        หลายสายการบินและโรงแรมต่างตัดสินใจเปิดให้ลูกค้าเข้ามาลิ้มลองประสบการณ์เสมือนในโลก Metaverse ไม่ว่าจะเป็นที่นั่งโอ่อ่าชั้นเฟิร์สคลาสของสายการบินหรือห้องพักสุดหรูของโรงแรมนับเป็นทางเลือกใหม่ในการ ‘ลองก่อนตัดสินใจซื้อ’ ในแวดวงการท่องเที่ยวซึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในโลกออฟไลน์

เลาจน์บนเครื่องบินของสายการบินเอมิเรตส์
ภาพ: Emirates VR Experience

ท่องเที่ยวแบบผสมผสาน กรณีศึกษาเมืองอินชอน

        แนวคิดการท่องเที่ยวเสมือนจริงไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวในโลกเสมือนมักอยู่ในรูปแบบของการถ่ายภาพจากสถานที่จริงมาสร้างในรูปแบบสามมิติแล้วให้เราสำรวจพื้นที่เหล่านั้นได้ด้วยตนเองประกอบการบรรยาย เราจึงสามารถเดินทางไปเยี่ยมชมเรือนจำบนเกาะร็อบเบินในแอฟริกาใต้ซึ่งเคยเป็นที่คุมขัง เนลสัน แมนเดลา ดูผลงานศิลปะแบบไม่ต้องแย่งใครที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ในกรุงปารีส หรือชมสถานที่ชื่อดังในอินเดียก่อนจองตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวจริง

        แต่ Metaverse นั้นต่างออกไป เพราะโลกเสมือนแห่งนี้คือโลกอีกใบที่เราสามารถสร้างตัวตนใหม่เพื่อเข้าไปวิ่งเล่นได้จริงๆ ไม่ใช่แค่การเรียงร้อยภาพถ่ายสามมิติอย่างที่เราคุ้นชิน 

        เมื่อ Metaverse กลายเป็นกระแส รัฐบาลหลายแห่งทั่วโลกก็ประกาศเพื่อตามเทรนด์ดังกล่าว แม้แต่ประเทศไทยก็ยังมีการตั้งหมุดหมายว่าจะแปลงภูเก็ตให้เป็น Metaverse City หรือสวนทุเรียนเสมือนจริงโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน แต่ในบทความนี้ผมขอใช้พื้นที่เล่ากรณีศึกษาที่หลายคนจับตามองคือการแปลงสารพัดเมืองในเกาหลีใต้ให้เข้าสู่โลก Metaverse โดยการทุ่มงบประมาณมหาศาลของรัฐบาล โดยเป้าหมายแรกคือเมืองอินชอนที่มีการผสมผสานทั้งโลกเสมือนและโลกจริง

        ‘อินชอนคราฟต์’ (Incheoncraft) คือโลกเสมือนจริงของเมืองอินชอนที่สร้างขึ้นในเกม Minecraft เกมที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นสามารถสำรวจไปในโลกต่างๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด นอกจากอาคารสถานที่ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นอย่างสวยงามแล้ว ในอินชอนคราฟต์ นักท่องเที่ยวยังได้มีโอกาสเรียนรู้เหตุการณ์สำคัญในอดีต ผ่านตัวละครต่างๆ ในประวัติศาสตร์

‘อินชอนคราฟต์’ โลกเสมือนจริงของเมืองอินชอนที่สร้างขึ้นในเกม Minecraft
ภาพ: KR Studio

        นอกจากโลก Metaverse แล้ว เมืองอินชอนยังมีโครงการต่อขยายในโลกจริงด้วย Augmented Reality หรือ AR ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาอินชอนสามารถใช้แอพพลิเคชันในสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตที่นอกจากจะใช้ข้อมูลพื้นฐานของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แล้ว ยังสามารถรับชมความคึกคักในอดีตของสถานที่ดังกล่าวเพื่อเพิ่มอรรถรสในการท่องเที่ยว

ภาพเปรียบเทียบระหว่างโลกจริง (ซ้าย) กับโลกเสมือนจริง (ขวา)
ภาพ: Incheon Smart Tourism City

ถ้าโลกธรรมดาเกินไป ลองตามหาความเป็นไปได้ใหม่ใน Metaverse

        ไหนๆ เราก็ต้องสร้างโลกใบใหม่ขึ้นมาใน Metaverse แล้วทำไมยังต้องจำกัดจินตนาการโดยเลียนแบบโลกแห่งความเป็นจริงล่ะครับ เพราะในโลกดิจิทัลแห่งนี้ทุกอย่างย่อมเป็นไปได้ตราบใดที่ไม่เกินกำลังแพลตฟอร์มและกำลังในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ในมือคุณ

        ผมคนหนึ่งล่ะครับที่มีฝันอยากท่องเที่ยวไปในโลกไดโนเสาร์ แหวกว่ายไปดูสัตว์หน้าตาแปลกประหลาดใต้ทะเลลึก เยือนมหานครแฟนตาซีที่ปรากฏในหน้านวนิยายต่างๆ หรือกระทั่งย้อนกลับไปเห็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในวันที่ยังมีลมหายใจ ตอนนี้มีหลากหลายโครงการทั้งเล็กและใหญ่ที่พยายามปลุกปั้นความฝันเหล่านั้นให้กลายเป็นความจริงซึ่งอาจออกดอกผลได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

        สำหรับใครที่ทนรอไม่ไหว ล่าสุดพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนจับมือกับ Meta สร้างประสบการณ์เดินบนดวงจันทร์แบบไม่ต้องบินออกนอกโลก (แต่ยังต้องบินไปที่สหรัฐอเมริกา) เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีโครงการอพอลโลที่ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ โดยเราจะสวมบทบาทเป็นนักบินอวกาศขณะนำเครื่องลงจอด ก่อนจะลงเดินและมองพื้นผิวของดวงจันทร์ด้วยสองตาของตัวเอง

        ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการประยุกต์ใช้ Metaverse เพื่อการท่องเที่ยวอยู่ในระหว่างการ ‘คลำทาง’ และไม่ได้มีลูกเล่นมากมาย ‘พลาดไม่ได้’ แต่นี่ก็ถือเป็นก้าวแรกของเทคโนโลยีที่ยังมีทางไปต่อ เมื่อเครื่องมือรับส่งสัญญาณระบบสัมผัสและการสร้างโลกเสมือนพัฒนาไปข้างหน้า ในอนาคตเราก็อาจสามารถไปท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องก้าวขาออกจากบ้าน


เอกสารประกอบการเขียน

https://link.springer.com/chapter/10.1007/978-3-030-94751-4_20

https://www.verizon.com/about/news/virtual-travel-metaverse

https://longitudedesign.com/metaverse-the-end-of-travel-as-we-know-it/

เรื่อง: รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ | ภาพ: ภัทร สุวรรณรงค์