“A thing worth doing is worth doing badly.”
เป็นคำของใครกันนะ บางแหล่งบอกว่าเป็นคำของ G.K. Chesterton แต่เมื่อสืบเสาะลงไปก็พบว่าเขาไม่ได้กล่าวเช่นนี้ตรงๆ แต่กล่าวไว้ใกล้เคียงกัน ในขณะที่ผลการเสิร์ช 50,000 การค้นหาคล้ายบอกไปในทางตรงกันข้าม แต่เอาล่ะ, ไม่ว่าใครจะพูด มันก็เป็นประโยคที่ชวนให้นิ่งงัน, สะท้อนใจผมลงลึกลงไปเหลือเกิน มันเปล่งแสงแปลกประหลาด ขัดกับสิ่งที่เราเคยเรียนรู้มาตลอดชีวิต แต่ในแสงแปร่งปร่านั้น ผมก็เห็นประกายของความจริง
“สิ่งใดควรทำ ควรทำอย่างลวกๆ” จริงหรือ คล้ายกับเป็นประโยคของคนขี้เกียจ คนไม่อยากทำอะไรให้ดี คนขี้ยอมแพ้
ตลอดชีวิตผมถูกบ่มเพาะมาตลอดว่า “จงทำดี จงทำดีที่สุดเท่าที่เธอจะทำดีได้” “โอกาสมีครั้งเดียว ถ้าไม่ทำดีที่สุดแล้วจะเสียใจไปตลอดชีวิต” ความยึดถือว่าตัวเองเป็น ‘คนมาตรฐานสูง’ หากปล่อยผลงานแย่ๆ ออกไป (อะไรก็ตาม… งานในบริษัท, งานเขียน, งานวาด) แล้วจะถือเป็นตราบาป เป็นแผลไม่มีวันสมาน แล้วเธอเป็นใคร จะมาบอกให้เราทำอะไรลวกๆ
แต่ถึงอย่างนั้นมันก็เป็นประโยคท่ีน่าหลงใหล คล้ายกับมายกภูเขาไปจากอกที่หนักอึ้ง
ผมขอเล่าถึงปัญหาของการ “ทำดี ทำดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้” ที่ประสบมาตลอดชีวิตอย่างหนึ่ง
ผมเคยเป็นโรคกลัวกระดาษขาว – บรรณาธิการจะรู้ปัญหาข้อนี้ของผมดี เมื่อต้องเริ่มเขียนบทความสักหนึ่งชิ้น สิ่งที่ผมทำคือเปิดโปรแกรม Pages ขึ้นมาแล้วกดสร้างเอกสารใหม่ นั่นไง มันอยู่ตรงนั้นแล้ว หน้ากระดาษขาวเสมือนที่จ้องเราไม่วางตา เราจะพิมพ์ตัวอักษรอะไรลงไปก่อนดีนะ เราจะเริ่มอย่างไรไม่ให้พลาด เราจะหันเข็มทิศของบทความ ของงานชิ้นนี้ไปทางไหนที่จะทำให้เราไปถึงจุดหมายซึ่งคือสิ่งที่เราอยากบอก หากเริ่มต้นพลาดไปหนึ่งก้าวก็เท่ากับจบ อะไรคือประโยคแรกที่จะฟาดใจคนให้อยู่หมัด และมันต้องสะท้อนกลับกับประโยคสุดท้ายเพื่อให้ห่อบทความได้อย่างเรียบร้อยหรือเปล่า ว่าแต่ประเด็นของเราล่ะ มันเป็นประเด็นที่ชวนฉุกคิดพอหรือยัง มันมีหลักฐานสนับสนุนมากพอไหม หรือมันเป็นเพียงการคิดมโนของเราแต่เพียงผู้เดียว การกระโดดจากย่อหน้าหนึ่งไปอีกย่อหน้าไกลเกินไปไหม – นั่นไง – มาแล้ว ภาวะอัมพาต ผมจะเริ่มตรงจุดไหนดีในเมื่อทุกจุดดูมีความเสี่ยงพอๆ กัน
สอบถามเพื่อนพี่นักเขียนว่าประสบภาวะนี้บ้างไหม ใช่ล่ะ ผมไม่ได้เป็นผู้ป่วยโรคกลัวกระดาษขาวเพียงคนเดียว หลายคนมีปัญหานี้ไม่แตกต่าง บ้างมากบ้างน้อย ขึ้นอยู่กับความกล้าในการสู้กับมัน
หรืออีกวิธีที่ช่วยแก้ได้ชะงัดนักคือดุ่มไปเลย สูดหายใจลึกๆ แล้วทิ้งตัวลงใต้ผิวน้ำ และคายสิ่งที่อยากคายออกมาให้หมด
E.L Doctorow พูดถึงการเขียนไว้ว่า “การเขียนก็เหมือนการขับรถในคืนที่หมอกลงนั่นแหละ เราจะเห็นได้แค่ระยะที่ไฟหน้าส่องถึงเท่านั้น – แต่เราก็ไปถึงจุดหมายได้ด้วยวิธีนี้” นี่เป็นประโยคที่ผมเก็บมาคิดบ่อยครั้ง การเขียนเหมือนการขับรถจริงไหม น่าจะจริง เราเห็นการเรียงตัวของคำได้จนจบประโยค ในขณะที่จุดจบบทความนั้นไกลออกไปและยังไม่ใช่ปัญหาของเราในตอนนี้ ปัญหาของเราในปัจจุบันคือการพาประโยคไปให้จบ หนึ่งประโยคก็คือก้อนอิฐของหนึ่งย่อหน้า หนึ่งย่อหน้าคือผนัง เมื่อประกอบผนังเข้าไว้ด้วยกัน เราก็จะได้บ้าน เป็นบทความที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์
กับงานเขียนเรื่องนี้เป็นจริงสำหรับผม กับการงานเหมือนกันไหม?
อาจจริง – ถึงเราจะต้องการแผนที่ในการเดินทาง (หรือทำงานอยู่บ้าง) แต่หลายครั้งที่แผนที่ซับซ้อนเกินทำความเข้าใจ การดุ่มลงไปทำเลยด้วยแรงกำลังและการลงทุนที่น้อยหน่อย อาจทำให้เราได้บทเรียนติดไม้ติดมือมาบ้างและหากโชคดี – ก็อาจได้ความสำเร็จติดกลับมาด้วย เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงคอนเซ็ปต์อย่าง Minimum Viable Product หรือการออก “ผลิตภัณฑ์ที่พอใช้การได้” เพื่อเป็นผู้ลงตลาดก่อน และเพื่อให้ทีมพัฒนาได้บทเรียนกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นต่อ
ในชีวิตเราสามารถออกผลิตภัณฑ์ที่พอใช้การได้ด้วยไหม – เราทำงาน ‘ลวกๆ’ เพื่อให้เสร็จก่อนจะดีหรือเปล่า แน่ล่ะ ผมคิดว่าคงไม่ดี หากเราลวกในจุดเดิมๆ ไปตลอดชีวิต สิ่งที่เราควรทำอาจเป็นการสร้างเชื่อมั่นในตัวเองก่อน ว่าเราจะสามารถประยุกต์บทเรียนที่ผ่านมาเข้ากับการทำงานในครั้งนี้ แล้วพอตั้งสติให้มั่นๆ ได้แล้วก็ดำดิ่งลงไป นั่นอาจเป็นวิธีที่ทำให้เราสลัดโรคกลัวกระดาษขาวได้ดีที่สุด
Just do it เฉยๆ อาจวาดภาพได้ไม่ครบ แต่เป็น Just do it – Learn from it – and do it again.
อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าโรคกลัวกระดาษนี้ไม่มีทางหายขาด ตัวเองรักษามาแล้วกว่าสิบห้าปี ทุกครั้งที่ต้องเริ่มอะไรใหม่ก็ยังคิดเล็กคิดน้อยจนคิดมากเกินไปเสมอ
จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องระลึกไว้ในใจ คำกล่าวของใครก็ไม่รู้ – ที่อาจไม่ใช่ G.K. Chesterton
“A thing worth doing is worth doing badly.”
และนั่นก็ทำให้ผมลงมือทำงานได้อีกครั้ง