เรากลัวการคิดบวกเกินไป
ผมเคยตกเป็นเหยื่อของแนวคิดที่ว่าหากคิดบวกมากๆ จะกลายเป็นพวกโลกสวย เคยคิดว่าการมองโลกแง่งามตลอดเวลาเท่ากับไม่ได้มองโลกอย่างที่เป็น เคยคิดว่าการมองโลกในแง่ลบคือการมองโลกในแง่จริง ปะป้ายตัวเองว่าเป็นพวกเรียลลิสต์แล้วก็ภูมิใจกับป้ายนั้น
อันที่จริง แนวคิดเช่นนี้มีให้เห็นตลอดมาในประวัติศาสตร์ และผมก็ไม่ใช่เหยื่อคนเดียว เรามักมองโลกว่าร้ายกว่าที่เป็น เรามักยึดติดกับข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก มนุษย์ถูกสร้างมาพร้อมกับสัญชาตญาณการเอาตัวรอด ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ การพลาดผลไม้หอมหวานสักลูกไม่เลวร้ายเท่ากับการมองไม่เห็นสัตว์ผู้ล่า ข่าวร้ายมีผลต่อความอยู่รอดมากกว่าข่าวดี เราจึงถูกเข้ารหัสมาให้มองเห็นสัญญาณร้ายและจมปลักอยู่กับสัญญาณร้ายมากกว่า
การเสพข่าวยิ่งทำให้เรามองโลกร้ายกว่าที่เป็น ข่าวร้ายขายได้ ส่วนข่าวดีนั้นรู้ไว้ก็โอเค แต่ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร ข่าวมหันตภัยหรือฆาตกรรมฝังลึกลงในจิตใจ ขณะที่ข่าวคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนหลายล้านกลับเป็นเพียงตัวเลขทางสถิติ ข่าวร้ายนำมาซึ่งยอดเอนเกจเมนต์ ยิ่งทำให้กลายเป็นวงจรสะท้อนย้อนกลับ เมื่อผลิตข่าวร้ายแล้วได้ผลตอบรับ ข่าวร้ายก็ถูกผลิตออกมามากขึ้น วนกันไปไม่รู้จบ
และก็เป็นอีกครั้งที่ขีดเส้นใต้ประโยคที่ว่ายิ่งเล่นโซเชียลฯ มากเกินควร ยิ่งจมปลักลงไปในห้วงอารมณ์ที่ไม่ควรเกิด
แล้วเราจะมีความสุขได้อย่างไรหากมองโลกผ่านเลนส์สีทึมเทา
ช่วงหนึ่ง – ผมดำดิ่งลงไปในความทุกข์จนกลัวว่าตัวเองอาจเป็นซึมเศร้า (อนึ่ง, ผมไม่ได้พูดคำนี้โดยไม่รับรู้ถึงน้ำหนักของมัน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่หนักหนาจริงจนอยากไปพบแพทย์ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไป) วันคืนมืดหม่นจนเข็นไม่ขึ้น ผมไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรดีจึงจะหลุดพ้นช่วงเวลาที่เหมือนเวียนวนซ้ำซากนั้นได้ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ปัญหาและแผลเรื้อรัง ที่ผ่านมา เคยประสบเหตุการณ์แบบนี้หลายครั้งตลอดสามสิบห้าปี แต่เป็นครั้งนั้นที่รู้สึกว่าไม่เห็นเชือกที่จะฉุดขึ้นมาจากหลุมได้เลย ไร้หนทางจนต้องค้นยูทูบดูว่าวิธีมีความสุขเขาทำกันอย่างไร โชคดีที่ไปเจอวิดีโอของ kurzgesagt ในหัวข้อนี้
วิดีโอความยาวสิบนาที เสนอข้อสรุปง่ายๆ ว่า วิธีหนึ่งที่มั่นใจได้ว่าจะทำให้มีความสุขมากขึ้น คือการรู้จักขอบคุณ และไม่ใช่รู้จักขอบคุณเปล่าๆ แต่ควรเขียนบันทึกเพื่อขอบคุณสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันด้วย หรือที่เรียกว่า Gratitude Journal นั่นเอง
ผมเคยอ่านแนวคิดนี้ผ่านตามาบ้างแต่ไม่เคยทำ ได้แต่คิดในใจว่าการรู้สึกขอบคุณจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้นเลยเหรอ ดูเป็นแนวคิดนิวเอจที่สามารถจัดอยู่ในพวกเดียวกับหนังสืออย่าง เดอะ ซีเคร็ต ไม่เข้ากับคาแรกเตอร์ของเราเลย แต่ตอนนั้น เนื่องจากไม่มีทางเลือกในกำมือมากนัก จึงลองทำดู บันทึกระบุไว้ว่าเริ่มทำในวันที่ 14 ธันวาคม 2019
ผมเขียนบันทึกขอบคุณนี้ด้วยลายมือ หวังว่ามันจะให้ผลที่ดีกว่าการพิมพ์บนคอมพิวเตอร์ การเขียนด้วยลายมือบนกระดาษเป็นการส่งสัญญาณกับตัวเองว่ามันจะคงอยู่ที่นั่นตลอดไป และด้วยความที่มันใช้เวลาช้ากว่าการพิมพ์ การเขียนด้วยลายมือจึงเปิดโอกาสให้เราได้คิดทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นว่ามีอะไรควรค่าแก่การขอบคุณบ้างอย่างละเอียด ผมจะค่อยนึกย้อนไปว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างตั้งแต่ตื่นนอนจนฟ้ามืด พยายามนึกย้อนไปถึงแต่สิ่งดีๆ หรือหากเป็นสิ่งที่ไม่ดีนัก ก็พยายามขอบคุณว่าอะไรบ้างที่ทำให้เราผ่านสิ่งนั้นมาได้
ยอมรับ การเขียนบันทึกขอบคุณวันแรกๆ เป็นไปด้วยความยากลำบากและแห้งผาก ผมแทบจะเขียนออกมาเป็นบุลเล็ตที่ไร้อารมณ์ด้วยความที่ยังไม่ชิน และเขินตัวเอง แต่เมื่อเขียนไปได้หลายสัปดาห์ ผมก็เริ่มขอบคุณได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น จากบันทึก ผมขอบคุณทุกสิ่งใหญ่เล็ก ตั้งแต่อาหารที่อร่อยในวันนั้น ไปจนถึงบทสนทนาดีๆ กับเพื่อน ตั้งแต่อุปสรรคที่เราก้าวข้าม ไปจนถึงพี่คนขับแกร็บที่เป็นมิตร ไม่มีอะไรใหญ่หรือเล็กเกินไปสำหรับบันทึกเล่มนี้
ปัจจุบัน ผมเขียนบันทึกขอบคุณมาแปดเดือนขึ้นเก้าเดือนแล้ว แม้มันจะไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัวที่ทำให้เรามีความสุขทุกวันสม่ำเสมอ แต่มันทำหน้าที่มีคุณค่าให้ผมอย่างหนึ่ง นั่นคือมันเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ให้กับผมว่าชีวิตมีช่วงขึ้นช่วงลง เมื่อลงในตอนนี้ จากรูปแบบที่เห็นมาในอดีต อีกไม่นานก็คงขึ้น นั่นเป็นหน้าที่หนึ่ง อีกหน้าที่หนึ่งคือมันช่วยให้ผมมีความสุข ‘โดยเฉลี่ย’ เพิ่มขึ้นได้จริง แม้ความเครียดอาจยังมาเคาะประตูอยู่บ้างเป็นครั้งคราว แต่โดยเฉลี่ยแล้วผมหายเครียดง่ายกว่าเดิมมาก หาทางออกเร็วกว่าเดิมมาก อาจเป็นเพราะผมคุ้นชินกับการหวนระลึกถึงเรื่องดีที่เกิดขึ้นแล้ว ผมจึงหา ‘ที่ที่มีความสุข’ ของตัวเองได้ง่ายกว่าเดิม
ที่ผ่านมามีการทดลองว่าหากเราเล่าเรื่องราวของเราใหม่ด้วยภาษาของเราเอง เราจะสามารถมองชีวิตได้ด้วยมุมมองที่กำหนด ไม่ใช่มุมมองที่เราต้องตั้งรับเพียงอย่างเดียว ผมคิดว่าการเขียนบันทึกขอบคุณก็ถือเป็นการเล่าเรื่องด้วยวิธีการของเราเองแบบหนึ่ง มันทำให้เราเลือกมองในแง่ดีของวันเวลา ซึ่งเป็นการรักษาสมดุลกับแนวโน้มของมนุษย์ที่มักมองโลกแง่ร้าย
ความที่ใช้เวลาไม่มากนักในแต่ละวัน สั้นที่สุดห้านาที ยาวที่สุดสิบห้านาที ผมจึงเขียนบันทึกนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ เกือบเก้าเดือนที่ผ่านมาพลาดเพียงสามสี่ครั้ง ตั้งใจจะดำเนินกิจวัตรต่อไปในอนาคต
นั่นคือสิ่งที่ผมค้นพบในปีนี้ ผมรู้จักวางแว่นสีหม่นลง สวมแว่นเลนส์กุหลาบบ้าง
ความมองโลกแง่ร้ายยังไม่หายไปไหน แต่ที่เพิ่มขึ้นมาคือผมมองโลกในแง่ดีได้อย่างไม่ขัดเขินแล้ว