วัยเรียนรู้

วัยที่ผมเรียนรู้ว่าการรักษาสำคัญพอๆ กับการเริ่มต้น

วันที่บรรณาธิการแจ้งว่าจะย้ายคอลัมน์เดิมของผมไปไว้ที่สื่อหัวใหม่ ขณะที่ a day BULLETIN จะไม่มีพื้นที่ให้ผมอีกแล้วนั้น – ผมโพล่งขึ้นมาว่าถ้าอย่างนั้นเป็นไปได้ไหม ที่ ณ สื่อหัวใหม่ ผมจะเขียนคอลัมน์เดิม แต่ที่ a day BULLETIN ผมจะเขียนคอลัมน์ใหม่ให้ด้วย – ไม่ต้องงง เรียกง่ายๆ ว่าผมโลภนั่นแหละครับ

        “จะเริ่มคอลัมน์ใหม่อีกเหรอ โจทย์คืออะไร” บรรณาธิการถาม ผมอธิบายว่าโจทย์จะเป็นเรื่องที่ผมได้เรียนรู้ในวัย 35 – ทำไมต้อง 35? ผมคิดว่าตัวเองในวัย 20 นั้นร้อนผ่าว พลังพลุ่งพล่านและกระจัดกระจายไปทุกทิศทาง วัย 30 เป็นวัยที่ทำให้ตัวเองเข้าใจพลังงานของตนมากขึ้น ว่าควรจำกัดพลังงานไว้ที่บริเวณไหน งานไหน กับใคร และการรู้จักควบคุมพลังงานนี้เองที่ทำให้การใช้ชีวิต (อย่างน้อยก็ชีวิตของผมเอง) ดีขึ้น ก่อนที่ผมจะเดินทางเข้าอายุ 40 ผมอยากบันทึกบทเรียนที่เก็บเกี่ยวตามรายทางไว้ ด้วยเหตุผลที่มันจะมีประโยชน์กับตัวผมเองในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และด้วยความหวังเล็กๆ ว่า บทความอาจล่องลอยไปพบกับใครสักคนที่เห็นคุณค่าของมัน

        ผมตั้งชื่อคอลัมน์นี้ไว้ว่า ‘วิชากลางคน’

        นิมิตที่เหมือนกำลังจะบอกว่าเดี๋ยวมึงคงตายตอนอายุเจ็ดสิบ

 

        “โจทย์โอเค แต่จะเขียนไปตลอดแน่นะ” บรรณาธิการถาม เขารู้จักผมดี เขารู้จักผมดีเกินไปว่าผมมีชื่อเสียงด้านการเริ่มต้นอะไรใหม่ แต่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงในการอยู่ยาวอยู่ทน อาจมีฉายาว่าเป็นจอมขี้เบื่อ ผมในวัยก่อนหน้าสนุกกับการค้นหาโจทย์ใหม่ๆ หาวิธีจัดการโจทย์นั้น ก่อนผละทิ้งและไปต่อ แต่ด้วยแนวโน้มที่เป็นอย่างนั้น ทำให้โจทย์บางโจทย์ที่ผมยังแก้ไม่เสร็จ (แต่คิดไปเองว่าแก้เสร็จ) ถูกทิ้งขว้างอย่างน่าเสียดาย และโจทย์บางโจทย์ที่ถูกแก้เสร็จแล้วก็ไม่เปล่งประกายเท่าที่ควร เพราะก่อนที่มันจะได้ฉายแววให้คนอื่นๆ ได้เห็นค่า ผมก็เดินหน้าและเลิกรากับมันไปแล้ว

        เชื่อเถอะ คุณก็มีโหมดนี้อยู่ในตัว (มีใช่ไหม ผมไม่ได้คิดไปเองแน่นะ) คุณอาจมีสมุดบันทึกที่เขียนได้ห้าวันแรกของเดือนมกราคมปี 2018 แล้วก็มีอีกเล่มที่เป็นปี 2019 และอีกเล่มสำหรับปี 2020 คุณอาจมีโปรเจ็กต์ที่เริ่มไว้เยอะแล้วแต่ไม่ได้สานต่อ โปรเจ็กต์ถ่ายรูปนั่นน่ะ เพจที่เปิดไว้นั่นน่ะก็ร้างจนหยากไย่ขึ้นไปแล้ว พอดแคสต์ที่เคยหมายมั่นว่าจะทำก็ทำได้หกตอนแล้วก็เลิก เลิกจนคนฟังถามว่า ไหนวะ ไม่ทำต่อเหรอ ซากปรักแห่งความหยิบหย่งปรากฏอยู่ในทุกที่ที่เหยียบย่ำ แล้วคุณก็เศร้า – ชีวิตนี้กูจะทำอะไรให้สำเร็จตลอดรอดฝั่งได้ไหมวะ

        คุณ, ความหยิบหย่งก็มีคุณค่าของมันเหมือนกัน ผมคิดเข้าข้างตัวเองด้วยเหตุผลแบบนี้ การกล้าที่จะเลิกทำให้เราไม่ต้องทนทู่ซี้อยู่กับอะไรที่ไม่ใช่ วันที่สิ่งหนึ่งสร้างความพอใจได้น้อยกว่าการเป็นภาระ คุณก็อาจถึงเวลาต้องทบทวนแล้วว่าจะเลิกทำมันดีไหม เพื่อเปิดทางใช้เวลา (อันเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด) ให้กับสิ่งใหม่ๆ ที่สนุกกว่า สำคัญกว่า โดยใช้บทเรียนที่ได้จากโปรเจ็กต์หยิบหย่งส่งเป็นฐานที่ทำให้คุณพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นและดีขึ้น

        แต่, คุณ, คุณก็คงเกิดคำถามอยู่ดีว่าแล้วเราจะแยกแยะอย่างไรล่ะ ว่าเราเลิกทำสิ่งหนึ่งเพราะเราเรียนรู้จากมันมากพอแล้ว หรือเราเลิกทำมันเพราะความขี้เกียจหรือความรำคาญในใจ

        เป็นคำถามที่ยาก ไม่มีใครตอบได้ดีไปกว่าตัวคุณเอง แต่สิ่งที่สำคัญที่ผมได้เรียนรู้คือหากเลิก – ต้องเลิกด้วยความตั้งใจ ไม่ใช่เลิกด้วยการหายห่าง ถ้าคุณประเมินแล้วว่าโปรเจ็กต์นี้มันไม่คุ้มเวลา เลิกเสียดีกว่าเว้ย นั่นคือการเลิกอย่างแอ็กทีฟ แต่ถ้าคุณไม่ได้ประเมินอะไรเลย เลิกวิ่งไปเสียเฉยๆ เพราะอยู่บ้านดูซีรีส์เพลิน แบบนี้ผมคิดว่ามันคือการเลิกแบบพาสซีฟ การเลิกด้วยความตั้งใจจะทำให้คุณตอบตัวเองในอนาคตได้และทำให้คุณรู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจ (หรือไม่ได้ตัดสินใจ) ลดลง นี่คือสิ่งที่ผมได้รู้ในช่วงปีที่ผ่านมา

 

        บริษัทที่ผมทำงานอยู่มีระบบฟีดแบ็กประจำปี ความพิเศษคือในระบบนี้ ใครจะฟีดแบ็กใครก็ได้ จะเป็นฟีดแบ็กเชิงบวกหรือเชิงลบก็ได้ เรียกว่าหากคุณเคยทำงานกับคนคนหนึ่ง แล้วรู้สึกชอบใจหรือไม่ชอบใจอะไรเป็นพิเศษ ก็สามารถใช้โอกาสนี้ในการบอกให้เขารู้อย่างเป็นทางการ

        ลองจินตนาการดู การเขียนและการอ่านฟีดแบ็กจากระบบนี้เป็นก้อนหินที่หนักอึ้งในใจทุกคนแน่นอน การอ่านนั้นยากด้วยเหตุผลที่ชัดเจนอยู่แล้ว นั่นคือคุณไม่รู้ว่าคนอื่นรู้สึกกับคุณอย่างไร คุณอาจพอมีไอเดียคร่าวๆ แต่คุณไม่รู้ชัดหรอกว่ามันตรงกับความเป็นจริงมากแค่ไหน แต่การเขียนฟีดแบ็กให้คนอื่นก็ยากเหมือนกัน คุณจะห่อมันด้วยผ้าไหมหรือกระดาษทราย? คุณจะพูดได้ตรงแค่ไหน? คุณจะวางฟีดแบ็กอย่างไรไม่ให้ดูเป็นการโจมตีฝ่ายเดียว

        โมเดลหนึ่งที่ผมพบว่าช่วยได้มากในการฟีดแบ็กให้คนอื่นคือ โมเดล START/STOP/CONTINUE

        ในโมเดลนี้ คุณจะเขียนฟีดแบ็กอยู่บนฐานของคำสามคำ START คือส่วนที่คุณอยากให้คนนั้นๆ เริ่มทำในปีต่อไป เช่น อยากให้มีการสื่อสารที่ดีขึ้น อยากให้แชร์แผนงานล่วงหน้าสักหน่อยคนอื่นจะได้มีเวลาเตรียมตัว STOP คือส่วนที่คุณอยากให้เขาหยุดทำ เช่น เลิกนินทาฉันลับหลังเสียที มีอะไรก็ขอให้มาคุยกันต่อหน้า หรือเลิกทักแชตมาเรื่องงานตอนดึกๆ เสียทีเพราะเช็กไม่ไหว ส่วนหลังสุดเป็นส่วนที่ผมคิดว่าเป็นอัจฉริยภาพของโมเดลนี้คือ CONTINUE มันคือส่วนที่เอาไว้ลิสต์ว่าอะไรที่อีกฝ่ายหนึ่งทำดีแล้ว และควรทำต่อไป เช่น งานนั้นเธอสนับสนุนฉันดีมากเลย ช่วยเหลือหลายอย่าง ขอให้สนับสนุนแบบนี้ในงานต่อไปด้วยนะ

        ทำไมผมจึงคิดว่าโมเดลนี้ช่วยได้มาก เพราะมันทำให้เรามีความชัดเจนในการคิด เราแยกการกระทำออกเป็นสามลำดับ สิ่งที่เขาควรทำ สิ่งที่เขาไม่ควรทำ และสิ่งที่เขาทำได้ดีแล้วและอยากให้ทำต่อ ส่วนที่สามนั้นสำคัญมาก เป็นส่วนที่หลายคนมักหลงลืม เมื่อเราเห็นว่างานชิ้นหนึ่งๆ ผ่านไปได้อย่างราบรื่น เราอาจหลงลืมที่จะบอกผู้มีส่วนร่วมในงานนั้นว่า “ทำได้ดีแล้ว” – การถือความปกติเป็นสรณะนี้เองที่ทำให้เกิดความไม่ชัดเจน คนเราไม่อาจรู้ได้โดยง่ายว่าสิ่งไหนที่ตัวเองทำได้ดี และสิ่งไหนที่ต้องปรับปรุง การแยกและชี้ชัดว่า “อะไรคือสิ่งที่ทำได้ดี” จึงเป็นเรื่องจำเป็น

        นอกจากโมเดลนี้จะช่วยให้เราฟีดแบ็กเพื่อนร่วมงานได้ง่ายขึ้น ผมคิดว่ามันทำให้ผมมองชีวิตตัวเองชัดขึ้นด้วย

        อะไรคือสิ่งที่เราควรเริ่มทำ อะไรคือสิ่งที่เราควรเลิกทำ และอะไรคือสิ่งที่เราควรทำต่อไป

        เราเริ่มทำของใหม่ๆ ไปตลอดไม่ได้หรอก เรามีเพื่อนใหม่ตลอดเวลาโดยไม่รักษาเพื่อนเดิมไม่ได้ เราคิดโปรเจ็กต์ใหม่ตลอดเวลาโดยไม่รอให้โปรเจ็กต์เดิมสุกงอมไม่ได้ เรามีทั้งสิ่งที่ควรเริ่ม – เลิก – และรักษา

        เหล่านี้เองคือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ระหว่างเดินหน้าเข้าอายุ 40

        วัยที่ผมเรียนรู้ว่าการรักษาสำคัญพอๆ กับการเริ่มต้น