คู่มือการใช้ตัวเอง

เข้าใจความหัวดี-หัวร้อนของเรา ผ่านการจดบันทึกลงใน ‘คู่มือการใช้ตัวเอง’

ผมมีสวิตช์ที่ท้ายทอย

        เดี๋ยว – ไม่ใช่ว่าผมเป็นหุ่นยนต์หรืออะไรแบบนั้นหรอกนะครับ – ผมกำลังพูดถึงต่อมน้ำเหลืองตรงท้ายทอยของผมต่างหาก คุณลองเอื้อมมือไปจับบริเวณไรผมหลังหูซ้าย ตรงนั้นแหละ มีก้อนไหมครับ ถ้าไม่มีก็ยินดีด้วย! – ผมมักคลำบริเวณนี้บ่อยๆ โดยเฉพาะทุกครั้งที่รู้สึกว่าชีวิตไม่ได้ดั่งใจ เพราะมันเป็นคล้าย ‘หน้าปัด’ ที่บอกผมว่าร่างกายกำลังรับภาระหนักเกินไปหรือเปล่า

        จำได้ดี ช่วงที่เครียดจากการเป็นบรรณาธิการสำนักคอนเทนต์ ช่วงที่ยังต้องปั่นงานรายวันด้วยกลัวไม่ทันกระแสข่าว ช่วงนั้นสวิตช์ของผมปูดโต อาจเป็นสาเหตุร่วมจากการภูมิคุ้มกันต่ำ นอนน้อย และความกดดันที่โถมทับเข้ามารวมกัน หากคลำแล้วพบว่าสวิตช์บวมโตแล้วยังไม่ปรับแก้นิสัย ร่างกายก็จะงอแงภายในสามวัน ต้องนอนซมจมไข้ไม่เป็นอันทำงาน

        มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมเมินคำเตือน แล้วลุยสุยงานต่อไปโดยไม่ย่อท้อ (แหมคิดว่าตัวเองเท่โคตร โหมงานจนป่วย – ทั้งที่จริงแล้วความเท่นั้น, มองย้อนกลับไป, คือความอหังการ์) ผลลัพธ์หลังปั่นงานจนเสร็จสิ้นก็คือปรากฏผื่นแดงขึ้นทั่วตัว คิดว่าเป็นอาการแพ้ภายนอก แต่ไม่ใช่ มันคืออาการของคนเครียดคล้ายกับที่ตัวละครยุ่นในฟรีแลนซ์เคยเป็น

        ผมจึงเก็บเป็นบทเรียนให้กับตัวเองเสมอมาว่า ถ้ารู้สึกว่าเครียดจงลองสัมผัสสวิตช์ดู สวิตช์โตไหม ถ้าไม่ ก็อาจจะยังพอไปต่อได้ แต่ถ้ามันบวม มันโตแล้ว การขอลาสักพักอาจเป็นทางเลือกที่ฉลาดกว่า

        นั่นเป็นหนึ่งในบทบันทึกในคู่มือการใช้ตัวเองของผม – คู่มือที่อายุสามสิบห้าปีแล้ว ผมก็ยังเขียนไม่เสร็จ

        เราเข้าใจตัวเองมากแค่ไหน ผมคิดว่าทุกคนคงมีความเข้าใจตัวเองในระดับหนึ่ง รู้ว่าอะไรที่เราชอบและอะไรที่เราไม่ชอบ ผมพยายามทำความเข้าใจตัวเองอยู่บ่อยครั้งเหมือนกัน ทำไมเหตุการณ์หนึ่งจึงตกกระทบและฝังเป็นรอยลึกในใจมากกว่าอีกเหตุการณ์ ทำไมเหตุการณ์หนึ่งจึงไม่มีวันจางหายและกลับมาเป็นตัวละครบ่อยครั้งในซีรีส์แห่งชีวิต ทำไมคำพูดหนึ่งจึงพลิกวิธีคิดเราได้จากหน้ามือเป็นหลังมือในขณะที่เราไม่แสวงหาความหมายใดจากอีกคำ ด้วยเหตุนี้ ผมคิดว่าตัวตนของเราเป็นคล้ายกล่องดำ กล่องดำนี้รับอินพุตจากฝั่งหนึ่ง อาจเป็นเหตุการณ์ สื่อที่เราอ่าน กลิ่นรอบบ้านและประโยคของเพื่อนรัก เมื่อรับอินพุตและประมวลผลแล้ว อีกด้านของกล่องดำก็จะคายเอาท์พุตออกมา เริ่มต้นที่อารมณ์ก่อน หลังจากนั้นจึงคายเป็นการกระทำ

        ความที่เรามีชีวิตกันมาก็ยาวนานแล้ว (ใช่ครับ, ทั้งคุณและผม, เดาว่าคุณคงอายุไม่น้อยกว่ายี่สิบหรอกใช่ไหม) เราจึงพอ ‘เดา’ ได้ว่ากล่องดำนี้มีวิธีการทำงานอย่างไร หากรับอะไรเข้าไปจะคายอะไรออกมา แต่คุณ, ผมคิดว่าเราไม่อาจเปิดดูกล่องดำกล่องนี้ได้จริงๆ หรอก เราพอเห็นกลไกการทำงานภายในได้เลือนลางเท่านั้น

        ผมคิดว่าเราจึงต้องสังเกตตัวเอง

        ในช่วง 50 วันที่ผ่านมา ผมเริ่มต้นกิจวัตรใหม่ – เหตุที่ทำให้เริ่มก็เป็นเรื่องง่ายๆ อย่างที่คุณก็คงเคยประสบ การทำงานติดอยู่กับบ้านนั้นทำให้กิจวัตรเดิมของผมล่มสลายลงโดยสิ้นเชิง, สารภาพ, ผมเหมือนคนบ้า, บางวันผมก็ทำงานได้อย่างอุกอาจ เป็นลูกจ้างชั้นดีและเป็นนักเขียนในฝัน, ในขณะที่วันต่อมาผมทำอะไรไม่ได้เลย กระทั่งการลุกจากเตียงยังเป็นเรื่องยากแสนยาก, ในวันที่เป็น ‘แชมป์ดี’ ผมกินอาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังและฮัมตามเพลงอย่างอารมณ์ดี, ในวันที่เป็น ‘แชมป์ไม่ดี’ ผมสั่งฟาสต์ฟู้ดมากิน (และสั่งเยอะด้วย) นอนอืดทั้งวัน กระทั่งรวบรวมสมาธิมาดูหนังให้จบเรื่องยังไม่ได้, ได้แต่เบราซ์เว็บอย่าง Reddit และ 9GAG ให้เวลาไหลเคลื่อนผ่านตัวเราไปเท่านั้น

        แล้วผมก็สงสัย อะไรคือปัจจัยในการเหวี่ยง?

        ผมจึงเริ่มจดบันทึกกิจวัตรประจำวัน มันไม่ใช่ไดอารีนะครับ แต่มันเป็นแผนผังที่บอกว่าวันนี้ผมทำอะไรบ้าง ผมอาบน้ำเย็นตอนเช้าไหม ผมนั่งสมาธิหรือเปล่า ผมออกไปวิ่งไหม ผมอ่านหนังสือไหม ผมเล่นเฟซบุ๊กเกินควรไหม เป็นต้น หาก ‘ใช่’ ผมก็จะติ๊กลงไปในตารางกระดาษ ผมแปะตารางนี้ไว้ในที่ที่มองเห็นได้ชัด และพยายามติ๊กทุกวันไม่เว้น ตารางนี้ไม่ใ่ช่การบังคับว่าเราควรทำหรือไม่ควรทำอะไร มันเป็นแค่การพยายามทำความเข้าใจตัวเอง

        แล้วผมก็พบวงจรบางอย่าง

        ผมพบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ผมจะอยู่ในโซน ‘ดี’ ได้ 7-8 วัน ก่อนจะสลิปลงมาอยู่ในโซน ‘ไม่ดี’ 2-3 วัน ก่อนทำใจได้และไต่ขึ้นไปในโซนดีอีกครั้ง ปัจจัยที่ทำให้สลิปลงมาเกิดขึ้นได้จากหลายอย่าง เช่น การรับรู้ข่าวร้ายหรือดราม่าบนโลกออนไลน์ (การ ‘ทุ่มเถียง’ บนโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่กินพลังมากทั้งกายและใจ ต้องชั่งกับผลลัพธ์อยู่เสมอ) การเห็นคนที่ไม่ชอบพูดอะไรที่ไม่เข้าท่า (สามารถลดละเลิกได้ด้วยการมิวต์เขาออกจากชีวิต ในขณะที่ก็ต้องพึงระวังด้วยว่าอย่าขังตัวเองอยู่ในกรอบความคิดแคบๆ) ส่วนปัจจัยที่ทำให้ไต่ขึ้นมาอยู่ในโซนดีก็มีหลายอย่างเช่นกัน เช่น ได้เอาใจตัวเองจนอิ่มเอิบ (การสั่งของชอบมากินโดยไม่ต้องทำอาหารเอง และ ‘อนุญาต’ ให้ตัวเองกินสิ่งนั้นโดยไม่ต้องรู้สึกผิดอะไรเป็นกลไกหนึ่งของการไต่ขึ้น) การได้อ่านหนังสือดีๆ หรือการได้คุยกับเพื่อนสนิทในเรื่องที่เราคุยกับคนอื่นไม่ได้ (ความจริง, ความฝัน, อนาคต) ทั้งหมดต่างเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้เราลุกขึ้นมาปัดฝุ่นตัวเองและจัดเรียงชีวิตใหม่ให้เข้าท่า

        ผมพบรูปแบบนี้ได้จากการจดกิจวัตรประจำวัน – หากไม่จด ผมก็พอมองเห็นได้ว่าผมคงคิดว่าตัวเองหัวดีหัวร้อนแบบสุ่ม ไม่รู้ว่าปัจจัยอะไรเป็นปัจจัยบวกและลบ (คุณอาจคิดว่าคุณรู้, แต่ก็ไม่แน่นะ, บางสิ่งมันเห็นได้ชัดเจนหลังจากกาลเวลาพาเราออกมาจากจุดนั้นแล้ว) การจดข้อมูลตัวเองและทำตัวเป็นนักวิทยาศาสตร์ทำให้ผมบันทึกบทสรุปลงไปใน ‘คู่มือการใช้ตัวเอง’ ได้อีกหนึ่งบท

 

        คู่มือการใช้ตัวเองนี้เขียนอย่างไรก็ไม่มีวันจบ เราอาจพบองค์ประกอบฐานของตัวตน เราพบปัจจัยบวกและลบกว้างๆ รู้ว่าอะไรที่ทำให้เรารู้สึกรุนแรง อะไรที่เราไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่อย่างที่คุณ, และผม, ก็รู้, ตัวตนเราไม่สถิตนิ่ง มันเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน กล่องดำกล่องนี้เปลี่ยนกลไกภายในไปตามทุกสิ่งที่มันประสบ เราอาจเคยรู้จักแล้ว แต่วันต่อมาเขาก็เป็นคนแปลกหน้า ที่ทำให้เราเซอร์ไพรส์

        จึงเป็นบทเรียนสำหรับผมว่าอย่าหยุดเรียนรู้ และคอยสังเกตตัวเองสม่ำเสมอ

        ถึงจะไม่มีวันเข้าใจจนไม่เหลือสงสัย แต่อย่างน้อย เราก็ได้เข้าใจมันมากขึ้น