คุณนอนดึกไหมครับ
คำว่าดึกของแต่ละคนคงแตกต่างกันออกไป กระทั่งตัวผมเอง ก็ยังมียุคที่เรียกห้าทุ่มว่า ‘ดึก’ ในขณะที่อีกช่วงชีวิตเรียกตีสองว่า ‘ไม่ดึก’ (เพราะช่วงนั้นส่วนมากจะนอนเช้า) ทุกวันนี้ผมพยายามนอนเที่ยงคืน ตื่นเจ็ดโมงเช้าทุกวัน โดยมาตรฐานของตัวเองแล้วเรียกได้ว่า ‘นอนไม่ดึกไม่เร็วจนเกินไป’
แต่ก็นั่นแหละ – มีบางวันที่ไม่รู้ว่าด้วยสาเหตุอะไรที่ทำให้หลงเวลา จนนอนดึกเป็นพิเศษ บางวันไล่ไปตีสองตีสามก็ยังมี พอนอนดึกแล้ว ด้วยความที่อายุก็ไม่น้อยแล้ว วันต่อมาจึงต้องจ่ายค่าปรับให้กับร่างกาย ทั้งวันจะคิดไม่เป็นระบบ จะเหนื่อยเป็นพิเศษ กว่าที่จะหายก็รุ่งเช้าของอีกวันหนึ่ง เหมือนร่างกายมัน ‘เอาคืน’ และพยายามส่งสัญญาณบอกเราตลอดว่าจงนอนให้พอ และเท่านั้นยังไม่พอ – จงอย่านอนผิดเวลา
กับเรื่องนี้ ผมเพิ่งเรียนรู้คำใหม่มา เป็นภาษาจีน, คือคำว่า 報復性熬夜 ที่ผมก็ไม่รู้จะอ่านออกเสียงอย่างไรเหมือนกัน วานผู้รู้ช่วยชี้แนะ แต่คำนี้กำลังฮิตในโซเชียลมีเดียในจีน มันแปลตรงตัวว่า ‘การนอนดึกเพื่อล้างแค้น’ (Revenge Bedtime Procrastination)
ล้างแค้นอะไร ล้างแค้นทำไม?
เขาอธิบายว่า คนที่นอนดึกเพื่อล้างแค้นมักเป็นคนที่ไม่สามารถควบคุมเวลาตัวเองได้ในตอนกลางวัน ตอนกลางวันอาจมีพันธกิจ-ภารกิจมากมายที่ต้องสะสาง อาจเป็นงานที่ไม่อยากทำ งานที่ไม่ก่อให้เกิดความหมายกับชีวิต ตอนกลางวันอาจมีเงื่อนไขที่ทำให้ใช้เวลาได้ไม่เต็มที่ ภาวะฝนตกรถติดที่กรุงเทพฯ ผุดขึ้นมาในหัวสลับกับสโลแกน (ที่ไม่เป็นจริง) อย่างชีวิตดีๆ ที่ลงตัว เมื่อรู้สึกควบคุมไม่ได้ และ ‘ไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิต’ ช่วงกลางวัน ผู้คนจึงเดินหน้านอนดึก – เพื่อทวงคืนเวลาส่วนตัว เพื่อล้างแค้น ‘ระบบ’ ที่ช่วงชิงเวลาของตนเองไป ด้วยการพยายาม ‘ช่วงชิง’ เวลาบางส่วนให้กลับมาเชิดชูใจ ให้พวกเขารู้สึกว่ามีศักดิ์ศรีอีกครั้ง
แน่ล่ะครับ เราอาจไม่ได้คิดแบบนี้ตรงไปตรงมาว่าจะ ‘นอนดึกเพื่อล้างแค้น’ เสียทีเดียว แต่คุณก็คงเคยเป็นใช่ไหม – รู้สึกว่าไม่มีเวลาของตัวเองเลย กว่าจะ ‘ได้อยู่กับตัวเอง’ ก็เป็นเวลาก่อนนอนเสียแล้ว ดังนั้น ขอใช้เวลาช่วงก่อนนอนนี้แหละเพื่อทำอะไรที่ตัวเองชอบ ทำอะไรที่เป็นตัวเองสักหน่อย อาจเป็นการอ่านนิยาย อ่านโซเชียลมีเดีย ฟังเพลง เล่นเกม หรืออะไรก็ตามที่จะทำให้รู้สึกว่า ‘วันนี้ไม่แย่เกินไปนัก’
เมื่อสังเกตตัวเอง ผมก็พบรูปแบบเดียวกัน วันที่นอนดึกมักเป็นวันที่การงานอัดแน่นเป็นพิเศษ แน่นจนรู้สึกว่าการควบคุมหลุดลอยไปจากเงื้อมมือ เมื่อรู้สึกว่าควบคุมไม่ได้แล้ว จึงพยายามทวงการควบคุมกลับคืนมาด้วยการจองเวลาตอนกลางคืน
แต่ก็อย่างที่ว่า การล้างแค้นนี้ไม่ได้ส่งผลเสียกับใครเลย นอกจากกับตัวเอง วันต่อมาร่างกายก็คล้ายจะมีไฟแดงกะพริบย้ำๆ เพื่อเตือนไม่ให้ทำอีก
ผมรู้สึกว่า การนอนดึกเพื่อล้างแค้นอาจไม่ใช่กลยุทธที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง วิธีที่ดีกว่าเพื่อทวงคืนการควบคุมจากเงื่อนไขรอบกายอาจเป็นการ ‘บล็อกเวลา’ เพื่อกำหนดชั่วโมงทอง – ชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ให้ใครเข้ามา
ในบริษัทที่ผมทำงานอยู่ ระบบการทำงานเป็นการ ‘เปิดปฏิทิน’ ผ่าน Google Calendar เพื่อให้ใครก็ตามสามารถเข้ามาจองเวลาเพื่อประชุมกับเราได้ตามสะดวก ระบบเปิดปฏิทินนี้มีข้อดีคือมันเป็นการเปิดให้มีการทำงานร่วมกันโดยที่ไม่ต้องยึดกับระบบทางการ และเป็นการเปิดโอกาสให้ใคร ในระดับไหน ติดต่อกับใครก็ได้ เพียงแค่เปิดปฏิทินของเขาขึ้นมา แล้วจองเวลาลงไป – หากเขาไม่สะดวก เขาจะปฏิเสธเอง
แต่ระบบนี้ก็มาพร้อมกับข้อเสีย ซึ่งคือการควบคุมเวลาของตัวเองได้ยาก หากคิดว่างานงานหนึ่งมีส่วนที่ ‘ต้องทำกับคนอื่น’ และ ‘ต้องทำกับตัวเอง’ สัปดาห์ไหนที่ถูกจองปฏิทินไว้จนแน่นเอี้ยดจนแทบไม่มีเวลาทำงานกับตัวเองเลยย่อมหมายความว่าเราต้อง ‘ทำงานกับตัวเอง’ ในเวลาส่วนตัว ซึ่งอาจหมายถึงหลังหกโมงเย็นหรือก่อนแปดโมงเช้า นั่นเองที่ทำให้รู้สึกว่าควบคุมเวลาตัวเองไม่ได้ ฉะนั้น บางคนจึงใช้วิธี ‘บล็อกเวลา’ ในปฏิทิน เพื่อส่งสัญญาณต่อคนอื่นว่าเวลาดังกล่าวเป็นเวลาที่ฉันกันไว้เพื่อทำงานกับตัวเอง จงอย่าจองเวลานั้นๆ
กลยุทธการบล็อกเวลานี้ไม่ได้ใช้ได้เพียงในเรื่องการทำงานเท่านั้น ผมคิดว่าหากสภาวการณ์เพียบพร้อม เราก็สามารถบล็อกเวลาของตัวเองไว้เพื่อกิจส่วนตัวเช่นกัน บล็อกหนึ่งถึงสองชั่วโมงของทุกวันไว้เพื่อวิ่ง เพื่ออ่านหนังสือ เพื่อนั่งสมาธิ เพื่อเรียนรู้และตรวจสอบตัวเอง จุดที่ยืนอยู่เป็นจุดที่มีความสุข หรือจะนำไปสู่ความสุขไหม เวลาที่บล็อกไว้นี้ควรเป็นชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ให้ใครเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการงานหรือเพื่อนฝูง เราควรปฏิบัติกับมันอย่างเคารพ ทั้งเคารพในช่วงเวลาและเคารพในตัวเอง ไม่ควรย่อหย่อนว่า ‘อ้าว บล็อกเวลาไว้แล้ว แต่เพื่อนชวนกินข้าว ไปกับเพื่อนก็ได้’ เพราะนั่นย่อมทำให้เวลาที่เคยควบคุมได้ ควบคุมไม่ได้อีกต่อไปและนำมาซึ่งความเครียดภายหลัง จนอาจต้องไปนอนดึกเพื่อล้างแค้น
ผมยอมรับว่า กลยุทธการบล็อกเวลานี้อาจทำไม่ได้สำหรับทุกคน ทุกคนมีเงื่อนไขชีวิตต่างกัน บางคนมีครอบครัวต้องดูแลทำให้ ‘ไม่มีเวลาของตัวเอง’ บางคนอาศัยอยู่กับคนอื่นทำให้ ‘เวลาที่บล็อกไว้กลายเป็นเวลาไม่ศักดิ์สิทธิ์’ แต่เมื่อถอยหลังกลับมามองในมุมกว้าง เราก็ยังพอเห็นได้ว่าการควบคุมเวลาได้ถือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของชีวิตที่ทำให้เรายืนตัวตรงและไม่เหนื่อยล้าเกินไป หากมีโอกาส – จึงควรลองกั้น, ไม่ว่าจะใช้ไม้แข็งหรืออ่อน, เพื่อกันเวลาของตัวเองออกมาจากโซ่ตรวนรอบกาย
เวลาแต่ละชั่วโมงถูกสร้างมาต่างกัน เวลาเจ็ดโมงเช้าไม่เหมือนเวลาห้าทุ่ม ผมจะลองสังเกตจังหวะของชีวิตและสติดู เพื่อหาชั่วโมงที่ควรเป็นของตัวเองอย่างสมบูรณ์