วันท้ายๆ ของการหยุดยาวมักเป็นวันที่ผมรู้สึกเศร้า
ใช่ครับ – เศร้าด้วยความที่จะต้องกลับไปทำงาน ต้องกลับไปเจอรูทีนเดิมๆ ก็หนึ่ง แต่ที่รู้สึกรุนแรงกว่านั้นคือความเศร้าที่พบว่าตัวเองใช้วันหยุดได้อย่าง ‘ไม่คุ้ม’ เอาเสียเลย
ผมเพิ่งขอลาหยุดยาวไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นการหยุดยาวที่สมควรได้รับ เพราะตั้งแต่ต้นปี ถึงแม้จะติดอยู่กับบ้าน แต่ก็ไม่ได้ลาหยุดเลยมานานกว่าหกเดือน จนหัวหน้าบังคับให้ลาเผื่อว่าจะได้รีเฟรชตัวเองให้มีพลังงานขึ้นมาได้บ้าง คุณก็รู้ การทำงานอยู่บ้านถึงแม้จะสะดวกสบาย แต่ก็มาพร้อมกับการกัดกินหัวใจอย่างช้าๆ การแบ่งพื้นที่และเวลาระหว่างงานและเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องยาก ความเหนื่อยล้าเริ่มเกาะกุมจนใจกลายเป็นสนิม การขอลาจึงเป็นเรื่องจำเป็น
ก่อนลา ผมหวังมากมายว่าวันหยุดยาวหนึ่งสัปดาห์นี้จะถูกใช้อย่างคุ้มค่า ผมจะอ่านหนังสือให้จบสักสามเล่ม จะดูซีรีส์ที่กองค้างไว้อีกห้าเรื่อง จะออกไปวิ่งทุกวัน จะเล่นเกมให้จบสองเกม และจะเคลียร์เรื่องที่อยากทำที่คั่งค้างไว้ให้หมดสิ้น ผมคาดหวังจะรีดเค้นประสิทธิภาพออกจากวันหยุดออกมาทุกหยด
วันแรกๆ ของวันหยุด – ผมทำได้อย่างที่ตั้งใจ มันเป็นวันหยุดเปี่ยมประสิทธิภาพอย่างแท้จริง แต่วันต่อๆ มา ผมก็เริ่มตกไปอยู่ในหล่มของการนอนอุดอู้อยู่บนเตียง ไม่ได้ทำอะไรอย่างที่ตั้งใจนัก เมื่อไม่มีเหตุผลบังคับให้เราลุกขึ้นจากเตียง สันดานก็เริ่มไหลไปในแนวราบ ไม่เป็นอันทำอะไร จนสามวันสุดท้าย – สารภาพ ว่าผมไม่ได้ออกจากบ้านไปไหนเลย ที่ว่าจะวิ่ง จะอ่านหนังสือ ก็ไม่ได้ทำ กลายเป็นว่านั่งๆ นอนๆ เล่นโทรศัพท์มือถือ ปล่อยเวลาให้ไหลผ่านไปแบบไร้ค่า แล้วผมก็รู้สึกแย่
ตั้งความหวังไว้ว่าจะได้ทำอะไรมากมาย แต่กลับทำได้นิดเดียว
พยายามคิดหาคำตอบเพื่อป้องกันไม่ให้รู้สึกแย่กับวันหยุดครั้งต่อไป แล้วผมก็พบไกด์ไลน์เล็กๆ ว่าเราคงมีความสุขกับวันหยุดเพิ่มขึ้นได้ หากเราลดความคาดหวังต่อมันลง – เราไม่จำเป็นต้องคิดว่าเราจะอ่านหนังสือจบสามเล่ม ซีรีส์ห้าเรื่อง วิ่งทุกวัน เกมสองเกม – เราลดคำสั่งต่อตัวเองให้อยู่ในปริมาณที่จัดการได้ก็พอ ทูดูลิสต์ที่เล็กลงแต่ทำเสร็จทุกข้ออาจมอบความสุขมากกว่าทูดูลิสต์ใหญ่ยักษ์ที่เหลือค้างเติ่งเป็นสิบข้อ มันทำให้เรารู้สึกเติมเต็มมากกว่า ทำให้เรารู้สึกสมบูรณ์กว่า เมื่อโจทย์เล็กลงจนเป็นโจทย์ที่เราจัดการได้
เมื่อถอยกลับมามองในสโคปที่กว้างขึ้น ผมพบว่าตนเองมีปัญหาอย่างเดียวกันกับการตัดสินใจครั้งใหญ่ๆ ไม่ใช่เพียงแค่วันหยุดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนงาน เปลี่ยนประเทศ การเลือกบริหารเวลาในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์และแต่ละเดือนด้วย
หลายครั้งเราพยายามทำหลายอย่างเกินไป
ตัวอย่างเช่น ตอนที่ผมตัดสินใจย้ายงานจากประเทศไทยมาประจำที่สิงคโปร์ ท่ามกลางความยินดี ผมกลับรู้สึกว่าตนจะพลาดอะไรไปหลายต่อหลายสิ่ง ผมต้องห่างจากความสัมพันธ์ของคนที่ไทย ต้องทิ้งตำแหน่งที่เคยอยู่ เรายังอยากเป็นนักเขียน เป็นพิธีกร เรายังอยากทำงานสื่อสารที่ทำในที่ใหม่ไม่ได้ เราตกอยู่ในสถานการณ์แบบได้อย่างเสียอย่าง รายได้อาจดีขึ้นก็จริง ชีวิตแต่ละวันอาจควบคุมได้มากขึ้นก็จริง แต่ก็สูญเสียอะไรบางอย่างไปด้วย
ทางเลือกหนึ่งมาพร้อมกับข้อดี แต่มันก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทุกครั้งที่เราพยายามทำทุกอย่าง พยายามแบ่งจัดสรรเวลา พยายามเค้นประสิทธิภาพออกมาจากทุกวินาทีที่ลืมตาตื่น สิ่งที่พบกลับเป็นความกดดัน กลายเป็นภาระที่หนักหัวใจ งานที่เคย ‘อยากทำ’ กลายเป็นงานที่ทำเพื่อให้เสร็จ ทำเพื่อให้ได้ติ๊กในทูดูลิสต์ว่าทำแล้วนะ แล้วสุดท้ายมันก็ออกมาไม่ดี หรือกระทั่งในกรณีที่ออกมาดี แต่เราอาจไม่ได้มองว่าค่าใช้จ่ายคือการที่เราไม่มีเวลาได้พัก การพยายามกอบกุมทุกอย่างไว้และไม่ยอมสูญเสีย กลับมีค่าใช้จ่ายเป็นความเหน็ดเหนื่อยกายใจที่มากกว่าผลตอบแทน ผมจึงเรียนรู้ว่าหากเราเลือกทางไหนแล้ว เราเลือกที่จะทำอะไรแล้ว เราต้องปล่อยทางที่เราไม่ได้ทำไปอย่างเต็มใจ หากเราชัดเจนแล้วว่าเราเลือกทางนี้ด้วยเหตุผลมั่นคง เราก็ไม่ควรไปเสียดาย หรือไปรู้สึก Missing out กับสิ่งที่เราไม่ได้ทำ ทั้งในทางเลือกใหญ่เล็ก
วันหยุดครั้งต่อไปผมจะตั้งเพียงเป้าหมายเดียว ขอแค่เรื่องเดียวที่ต้องทำให้เสร็จในสามสี่วัน เท่านั้นก็พอใจ
และครั้งต่อไปที่จะต้องเลือกอะไรสักอย่าง ผมจะใคร่ครวญให้ดี และเมื่อเลือกแล้วก็จะไม่มองย้อนกลับไปกอบกู้ทางที่ไม่ได้เลือก