วิชากลางคน

วิชาเลิกผัดวันประกันพรุ่ง: อย่าตามหาแรงบันดาลใจให้มากนัก

ผม – เคยเชื่อว่าแรงจูงใจนำมาซึ่งการกระทำ – Motivation นั้นนำไปสู่ Action – แต่ไม่นานมานี้ได้อ่านบทความว่าแท้จริงแล้วขั้นตอนที่เราเคยเชื่อถือนั้นมันกลับหัวกลับหาง กระบวนการที่เกิดขึ้นจริงคือ Action นั้นนำไปสู่ Motivation ต่างหาก – นั่นทำให้ผมกลับมาคิดทบทวนเทียบกับเรื่องราวในชีวิตตัวเอง

        ไม่แปลกเลยที่เราจะเคยเชื่อว่า Motivation หรือ Passion นำไปสู่ Action 

        เราถูกถล่มด้วยหนังสือสร้างแรงบันดาลใจ ข้อความดีๆ คำคม ไกด์ไลน์ในการใช้ชีวิต หาแรงบันดาลใจให้เจอสิ หาความกระสันอยากให้เจอ หาแรงจูงใจให้เจอ แล้วที่เหลือจะดีเอง จะเริ่มต้นธุรกิจอย่างนั้นเหรอ อย่าเพิ่งรีบลงมือทำ หาแรงบันดาลใจและพลังขับเคลื่อนเสียก่อนค่อยเริ่มลงทุน จะเริ่มทำการบ้านงั้นเหรอ อย่าเพิ่งรีดจรดดินสอลงบนกระดาษ ให้นั่งไตร่ตรองคิดดีๆ เสียก่อนว่าอะไรคือแรงขับเคลื่อนของเรา จะลดน้ำหนักงั้นเหรอ ค่อยๆ ปลุกเสกพลังใจขึ้นมาก่อน ค่อยๆ กอบกุมความกล้าขึ้นมา แล้วค่อยออกไปวิ่ง 

        โมเดลการคิดแบบนี้อาจใช้การได้บ้าง แต่ก็มีอยู่มากที่ไม่เข้าท่าเสียเลย ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ เราอาจทุบตีตัวเองเมื่อพบว่าเราหาแรงบันดาลใจไม่เจอ ช่วงนี้หงอยๆ นั่งรอให้แรงบันดาลใจบินมาเข้าสมอง แต่พอมันไม่มาเสียทีก็โกรธขึ้งตัวเองว่าหรือเราจะเป็นวัยที่หมดแรงบันดาลใจ หมดแรงจูงใจเสียแล้ว เราผิดใช่ไหมที่แรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนไม่มา เราล้มเหลวใช่ไหม แล้วก็เก็บไปคิดเป็นปัญหาหนักอก เอาความไร้แรงบันดาลใจมานิยามตัวเอง 

        ในกรณีที่แรงบันดาลใจมา แรงขับเคลื่อนพลุ่งพล่านอั้นไว้ไม่ไหวก็อาจก่อให้เกิดปัญหาได้อีกแบบ ว่าพอลงมือทำจริง กลับพบว่าแรงบันดาลใจระเหิดหายสลายเป็นอากาศไปอย่างรวดเร็ว อาจเกิดจากการเผชิญอุปสรรคเพียงเล็กน้อย หรือการสำเหนียกว่าไอ้ที่วาดฝันไว้น่ะไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด ก็จะทำให้แรงบันดาลใจฝ่อไปได้ง่ายๆ หากเรายึดแรงบันดาลใจหรือแรงจูงใจเป็นเชื้อเพลิงหลักเสียแล้ว การที่มันฝ่อลงไปก็อาจหมายความว่าเราจะทำงานนั้นต่อไปไม่ได้เสียแล้ว หรือต่อไปก็ต่อไปอย่างห่อเหี่ยว ทำให้เสร็จๆ 

        งานศึกษาโดยนักวิจัยจากเยลและสแตนฟอร์ดสนับสนุนเรื่องนี้เช่นกัน พวกเขาบอกว่าความเชื่อที่ว่าให้หาแรงบันดาลใจก่อน แล้วทุกอย่างจะตามมาเองนั้นผิดพลาด แทนที่จะหางาน หรือหาสิ่งที่จุดประกายฝันให้เราแล้วยึดกับเส้นทางนั้นไปจนตลอดรอดฝั่ง สิ่งที่เราควรทำคือการทดลองความสนใจหลายๆ สาย แล้วค่อยๆ ปลูกฝังแรงบันดาลใจในด้านต่างๆ ต่างหาก – เมื่อมองในมุมนี้ เราก็จะเห็นว่า ความสนใจ แรงจูงใจ แรงบันดาลใจ เป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ ฟูมฟัก มันไม่ได้รอให้เราไป ‘ค้นพบ’ แต่มันเป็นสิ่งที่เราต้องค่อยๆ ปลูกฝังให้มันเติบโตขึ้นต่างหาก

        สาเหตุของความเชื่อสองแนวทางที่แตกต่างกันนี้อาจมาจากมายด์เซตที่แตกต่างกัน หลายคนอาจเคยได้ยินความแตกต่างระหว่างมายด์เซตแบบคงตัว (fixed) กับมายด์เซตแบบเติบโต (growth) คนที่มีมายด์เซตแบบคงตัวมักเชื่อว่ามีคำตอบตายตัวในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หากเป็นเรื่องความรัก เขาก็อาจใช้เวลาไปกับการหา ‘คนที่ใช่’ และคาดว่าคนที่ใช่คือคำตอบหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งความสุขสมบูรณ์ กับเรื่องการงานก็เช่นกัน เขาอาจคิดว่าเมื่อเจอ ‘งานที่ใช่’ แล้วเมื่อนั้นชีวิตก็ถึงจุดหมาย งานที่ใช่จะเป็นคำตอบของทุกสิ่ง แต่โลกเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น – นั่นทำให้คนที่มีมายด์เซตแบบคงตัวอาจต้องพบกับความเจ็บปวด

        คนที่มีมายด์เซตแบบเติบโตเชื่อว่าความสนใจหรือแรงจูงใจสามารถพัฒนาได้ เมื่อเราลงทุนลงเวลา ผ่านประสบการณ์ไป แรงบันดาลใจนั้นจะสามารถเจริญงอกงามขึ้นได้เรื่อยๆ พวกเขาเชื่อว่าไม่มีคำตอบใดคำตอบหนึ่ง มีหลากหลายเส้นทางที่นำไปสู่เป้าหมายได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะลองหย่อนตัวเองลงไปในหลายสถานการณ์มากกว่า โดยไม่จำเป็นต้อง ‘คิดให้จบ’ ก่อนลงมือทำ

        แทนที่จะพูดว่า “เราต้องหาแรงจูงใจก่อนทำอะไร” เราอาจต้องสลับไปพูดว่า “เราต้องเริ่มต้นทำอะไร เพื่อให้เกิดแรงจูงใจ” แทน 

        การทำอะไรอย่างหนึ่งจะทำให้เราเกิดแรงจูงใจในการทำอะไรอีกอย่าง ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ เราอาจเคยรู้สึกว่าพอทำอะไรเสร็จ เราจะรู้สึกชื่นใจ มีแรง มีพลังไปทำอย่างอื่น กลไกแบบนี้เองที่จะทำให้เราสะสมความสำเร็จเล็กๆ ไหลรวมกันเป็นความสำเร็จชิ้นใหญ่ 

        มันเป็นกลไกแบบเดียวกับคำแนะนำที่บอกว่า “ถ้าอยากเลิกผัดวันประกันพรุ่ง ให้ลองเริ่มต้นด้วยการจัดที่นอนให้เรียบร้อยในตอนเช้า” เพราะเมื่อจัดที่นอนเรียบร้อย ความสำเร็จเล็กๆ จะเป็นเชื้อเพลิงให้เรามีแรงมากขึ้น หรือคำแนะนำอย่างที่บอกว่า “ถ้างานไหนเสร็จได้ในสองนาที ให้ลงมือทำเลย” ถึงแม้งานนั้นจะไม่เสร็จภายในสองนาทีจริง แต่การได้ลงมือทำมันก็ถือเป็นความสำเร็จในตัวเอง มันผลักให้เกิดโมเมนตัมเรียบร้อยแล้ว 

        ไม่ใช่ว่าแรงบันดาลใจหรือแรงจูงใจไม่สำคัญ – มันแค่ไม่ได้สำคัญมากเป็นอันดับหนึ่งอย่างที่ผมเคยคิด 

        เมื่อกลับกลไกเสียใหม่ ผมจึงได้เห็นความสำคัญของการลงมือทำ