เพราะรักถึงวิจารณ์: การวิจารณ์คือการลงทุน

บริษัทที่ผมทำงานอยู่ มีวัฒนธรรมองค์กรหนึ่งแข็งแรงเป็นที่เลื่องลือ นั่นคือวัฒนธรรมการมอบฟีดแบ็ก (Feedback Culture) พนักงานทุกคนมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะมอบฟีดแบ็กตรงไปตรงมาให้แก่กันและกันทั้งในเรื่องดีและร้าย ผมเติบโตมาในวัฒนธรรมที่อาจเชิดชูความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก เมื่อเผชิญกับวัฒนธรรมที่เน้นการวิจารณ์เช่นนี้จึงต้องอาศัยการปรับตัวมากพอดู 

        ก่อนหน้าที่ผมจะเข้ามาทำงานในองค์กรแห่งนี้ ผมพอรู้ชื่อเสียงของวัฒนธรรมการมอบฟีดแบ็กมาบ้าง แต่ก็ไม่คิดว่าจะมีการปฏิบัติจริงในทุกระดับชั้น จากที่เคยคิดว่าวัฒนธรรมองค์กรนั้นเป็นเพียงลมปากบนกระดาษเปล่า ไม่มีความสลักสำคัญ เมื่อมาทำงานจริง และเจอวัฒนธรรมนี้จริงๆ จึงได้เห็นว่าสิ่งที่เขียนไว้บนกระดาษนั้น เมื่อปฏิบัติ เขาปฏิบัติกันอย่างไร และเริ่มเข้าใจว่ามันมีประโยชน์มากเพียงใด

        การวิจารณ์คือการลงทุนในตัวบุคคล เมื่อเรามอบคำวิจารณ์หนึ่งให้กับใคร โดยเฉพาะหากมอบด้วยเจตนาอันดี นั่นย่อมหมายความว่าเรากำลังลงทุนในการเติบโตของเขาคนนั้น หากผมรักจนเลือกลงทุนในตัวเพื่อนคนหนึ่งและเห็นเพื่อนคนนั้นมีจุดบกพร่อง เช่น สื่อสารไม่ชัดเจน หรือพยายามเทกเครดิตในงานกลุ่มไว้ที่ตัวเองทั้งหมด ด้วยความปรารถนาดี ผมย่อมมอบฟีดแบ็กให้เพื่อนคนนั้น เพื่อให้เขารู้ตัวและพยายามไม่ทำผิดพลาดซ้ำสอง 

        ในทางกลับกัน หากผมไม่มีใจที่จะลงทุนกับการเติบโตของเขา ผมย่อมเลือกทางที่ง่ายกว่า คือการหุบปากเงียบหรือยอมไปตามน้ำ ถือว่าไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะต้องไปลงทุนลงแรง เอาตัวเข้าไปเสี่ยงมีปัญหา และถือเสียว่าเดี๋ยวเพื่อนคนนั้นก็คงจะได้รับบทเรียนเองในอนาคต (และถ้าคิดแบบร้ายๆ ก็คือ ขอให้บทเรียนนั้นมีราคาแพงด้วย!)

        การให้ฟีดแบ็กไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ ก่อนที่จะมอบฟีดแบ็กให้ใคร เรามักมีความประหม่าอยู่เป็นฐาน พูดไปแล้วเขาจะคิดกับเราอย่างไร เขาจะโกรธไหม มันจะทำให้ความสัมพันธ์เดิมพังพินาศหรือลดระดับลงหรือเปล่า เมื่อเราคิดดีแล้วว่าจะมอบฟีดแบ็ก เราก็ยังต้องมานั่งคิดถึงถ้อยคำ วิธีการที่จะทำให้เขาเข้าใจ ทั้งยังต้องเลือกเวลาที่เหมาะสม ช่วงที่เขาพร้อมเปิดกว้างรับฟังเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด กระบวนการพวกนี้กินทั้งเวลา แรงกายและแรงใจ ถ้าเราไม่อยากลงทุนกับใคร ค่าใช้จ่ายคงแพงเกินกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ

        ครั้งหนึ่งเมื่อผมจะมอบฟีดแบ็กให้เพื่อนร่วมงาน ผมได้รับคำแนะนำที่ดีมากจากรุ่นพี่ มันเป็นคำแนะนำที่ผมยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน เขาบอกว่า จงทำคำวิจารณ์นั้นให้ชัดเจน ถอดอารมณ์ทิ้งก่อน และเชื่อมโยงให้ผู้ฟังเห็นให้ได้ว่า การกระทำของเขาส่งผลต่อเราอย่างไร มันมีผลกระทบต่อเรา (และต่องานของเรา) อย่างไร และอะไรที่เราต้องการให้เขาเปลี่ยน

        แทนที่จะพูดว่าเธอเป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้ ให้แยกตัวคนออกจากการกระทำ สกัดออกมาว่า “การกระทำในตัวอย่างต่อไปนี้ คือสิ่งที่อยากให้ปรับปรุง” แทน เช่น แทนที่จะพูดว่าเธอเป็นคนเห็นแก่ตัว ให้พูดว่าการกระทำเช่นนี้ เช่น “ถึงเธอจะไม่ตั้งใจ แต่การที่เธอพูดว่าเธอเป็นคนทำงานนี้มา ทั้งที่จริงแล้วพวกเราเป็นคนที่ทำงานที่ว่ามาด้วยกัน แต่เธอกลับไม่พูดถึงคนอื่นๆ” นั้นทำให้เรารู้สึกอย่างไร เช่น “ทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันไม่ได้รับเครดิตที่สมควรได้รับ ทั้งที่ฉันลงแรงกับงานนั้นไปไม่น้อยกว่าเธอเลย” และความรู้สึกเช่นนั้นจะส่งผลต่อการทำงานต่อไปอย่างไร เช่น​ “ถ้าฉันรู้สึกเช่นนี้ ครั้งต่อไปฉันอาจรู้สึกสะดวกใจที่จะทำงานกับเธอน้อยลง เพราะฉันจะคิดว่า ถึงทำไป เธอก็จะเทกเครดิตไว้ที่ตัวเองอยู่ดี โดยที่ไม่คิดถึงงานส่วนที่ฉันลงแรง” หลังจากนั้นก็เชื่อมโยงไปยังสิ่งที่ต้องการให้เขาทำ เช่น “อยากให้ทุกครั้งที่เธอพูดถึงงาน แทนที่จะพูดว่าตนเองเป็นคนทำ (ซึ่งอาจอนุมานได้ว่า เธอทำมาคนเดียว) ให้พูดว่าเป็นผลงานของทีมแทน” และบอกว่าหากเขาปรับปรุงแล้ว จะมีผลดีต่องานอย่างไร “หากเธอทำอย่างนั้น เราก็จะรู้สึกว่าได้รับการมองเห็น และจะสะดวกใจในการร่วมงานกับเธอมากขึ้น”

        หากเราเป็นฝ่ายรับฟีดแบ็ก และเราตระหนักได้ว่าการที่เขาให้ฟีดแบ็กกับเราคือการที่เขายินยอมลงทุนในตัวของเรา เราก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะทำใจให้รับฟังและนำไปปรับปรุงได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ผมไม่ได้กำลังบอกว่า ทุกสิ่งที่เรารับฟังคือสิ่งที่เราต้องยอมรับ แต่อย่างน้อย เมื่อเราทำใจเปิดกว้าง เราก็จะแสวงหาสาเหตุได้ง่ายขึ้นว่าการที่เขาให้ฟีดแบ็กเราอย่างหนึ่ง มีสาเหตุลึกๆ มาจากอะไร เพราะจู่ๆ คงไม่มีใครวิจารณ์หากเขาไม่มีเรื่องคับข้องใจ

        สิ่งที่น่ายินดีคือ ทั้งการมอบคำวิจารณ์ และการรับฟังคำวิจารณ์นั้นเป็นเหมือนกล้ามเนื้อ หากเราใช้มันบ่อยๆ เราจะแข็งแกร่งขึ้นในด้านนี้ เราจะสามารถสกัดสิ่งที่เราทำได้ ออกจากมวลอารมณ์ที่ได้รับ (เมื่อรับฟังคำวิจารณ์) และเราจะตัดมวลอารมณ์ พร้อมมอบสิ่งที่เขาทำได้ให้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น (เมื่อเรามอบคำวิจารณ์ให้กับใครสักคน)

        และก็เหมือนกับการฝึกกล้ามเนื้อ ครั้งแรกๆ อาจเจ็บปวดหรือทิ้งร่องรอยความร้าวรานไว้มากหน่อย แต่เมื่อใช้บ่อยๆ ความเจ็บก็จะเริ่มลดน้อยถอยลงไปเอง สิ่งที่เหลืออยู่คือสุขภาพที่ดี