วิชากลางคน

วิชาขาลง

เพิ่งมีเรื่องสะเทือนใจไป เมื่อผู้ใหญ่ที่เคยเคารพคนหนึ่ง – พอบอกว่า เคยเคารพ ก็เหมือนเฉลยตอนจบแล้วว่าตอนนี้ไม่ได้เคารพอีกต่อไป – แสดงอาการที่เราไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นจาก ‘ผู้ใหญ่’ คนไหน 

        เขาดูวางอำนาจบาตรใหญ่ ดูพองตัวจนเบียดผนังห้อง เป็นที่โจษจันด่าขรมกันไปทุกหัวระแหงทั้งในที่แจ้งและที่ลับ การระเบิดตัวออกเป็นโกโก้ครันช์นี้ทำให้ผมกลับมาคิดทบทวน เราเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้บ้าง และผมก็เรียนรู้ที่จะถือเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี

        วัยยี่สิบห้า ผมเคยมีไอดอลที่เคารพอีกคน คนคนนั้นเป็นคนที่อีกหลายคนก็เคารพนับถือเลยเชียวแหละ – ก็เขาดูสร้างแรงบันดาลใจมาได้นักต่อนัก – แล้วผมก็ปลาบปลื้มเมื่อได้มีโอกาสเข้าไปใกล้ๆ ได้ไปร่วมงานในระยะประชิด แล้วก็ได้เรียนรู้ด้วยตนเองแบบห่างจากใบหน้าไม่เกินสิบเซนติเมตร ว่าผู้ใหญ่ไอดอลทั้งหลายบางครั้งก็คล้ายกับดวงจันทร์ มองไกลๆ ก็อาจจะสวยดี แต่พอเข้าไปดูใกล้ๆ ก็เห็นแต่หลุมอุกกาบาตขนาดมหึมา 

        ใช่ ผมอาจโรแมนติไซส์ไอดอลไปเอง คิดว่าเขาดีทั้งหมด แต่นั่นก็ไม่ใช่สาเหตุครอบคลุมของความรู้สึกแย่ สาเหตุที่ชัดเจนกว่าก็คือผมได้ประจักษ์เองว่า สิ่งที่เขาพูดๆ เขียนๆ ประกาศเจตนารมณ์นั้น มันไม่ได้เป็นอะไรไปนอกเสียจากการแสดง การแสดงที่ตัวเขาเองก็ทำไม่ได้ หรือไม่เชื่อ การกระทำจริงของเขามันขัดกับคำพูดอย่างหน้ามือหลังเท้า พอเป็นอย่างนี้จึงหลงเหลือเพียงความรู้สึกอกหัก (ผมเข้าใจว่าเขาก็อกหักจากเราเหมือนกัน ไอ้เด็กที่เคยอยู่ในมนตร์สะกดกลับกระด้างกระเดื่องแบบนี้ จึงกลายเป็นภาวะไม่เคารพกันทั้งสองฝ่าย)

        เหตุการณ์บนท้องถนนทุกวันนี้ทำให้ผมตระหนักได้ว่าที่ของเรา (ผู้อายุสามสิบกว่า) น่าจะเป็นกองหลังและกองหนุน เมื่อก่อน ‘ผู้ใหญ่’ อาจมีหน้าที่ตักเตือน สั่งสอน คอยตบรุ่นที่ตามมาให้ ‘เข้าร่องเข้ารอย’ แต่ทศวรรษที่ผ่านมากลับตั้งคำถามตัวโตกับเราว่า ไอ้ร่อง ไอ้รอย ที่พูดถึงนั้นมันคืออะไร ไอ้ที่ผู้ใหญ่สอนกันมาก่อนหน้านั้นมันดีจริงหรือ มันจะพาให้คนรุ่นต่อๆ มาเจริญรุ่งเรืองได้จริงๆ หรือ – พอเป็นแบบนี้ เมื่อสิ่งที่ยึดถือกันมาไม่ได้แสดงผลสัมฤทธิ์ว่ามันดีจนโต้แย้งไม่ได้ หน้าที่ของผู้ใหญ่ก็คือการฟัง

        ฟัง และเดินลง 

        ลงจากการยึดว่าตัวเองถูกต้อง ลงจากการยึดว่าตัวเองเป็นผู้นำความคิด ลงจากการนับถือบูชาตัวบุคคล ลงจากการสั่งการสอน ลงจากการชี้ว่าอะไรผิดและอะไรถูก คุณอาจบอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่รู้ว่าอะไรดีไม่ดี แต่คำถามก็คือ แล้วตัวคุณรู้หรือว่าอะไรที่ดี? 

        เป้าหมายของคนอายุสิบและยี่สิบอาจเป็นการอยากทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ อาจเป็นการอยากสร้างชื่อประกาศศักดา เป็นการเปลี่ยนแปลงโลกที่มองว่าเน่าเฟะให้เป็นดังใจ บนเวทีคือที่ของเขา เป้าหมายของผมตอนอายุสามสิบคือการอยากอยู่เงียบๆ เป็นท่อน้ำเลี้ยง แสดงจุดยืนเมื่อเห็นว่าควร รู้จักเดินลง (เออ ลงจากอะไรก็ไม่รู้ – จากอีโก้?) อยู่ข้างหลัง 

        คำใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในกระแสสำนึกมวลรวมโซเชียลฯ คือคำว่า – หิวแสง – ตามนิยามของ โตมร ศุขปรีชา คนหิวแสงคือ “คนที่โหยกระหายหาชื่อเสียง อยากดัง จนสามารถทำอะไรก็ได้ที่คนอื่นไม่คาดคิดเพื่อ ‘เรียกเรตติ้ง’ ให้ตัวเอง เพื่อให้ ‘แสง’ สาดส่องมาตกกระทบและเป็นที่พูดถึง เปรียบได้กับคนที่อยู่บนเวทีละคร แล้วต้องวิ่งไปหาแสงสปอตไลต์อยู่ตลอดเวลา เพราะแสงย่อมหมายถึงความโดดเด่น ถ้าได้อยู่ในแสง ก็อาจแปลว่าคนคนนั้นเป็นที่จับตาดูมากที่สุดในโรงละคร” 

        ผมคิดว่าส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใหญ่ที่พลาดๆ ที่เกริ่นมาข้างต้นส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากการหิวแสงเกินควรกันทั้งนั้น แต่ไม่ใช่การหิวเพราะไม่เคยได้รับแสง เป็นการหิวและโหยแสงที่เคยได้รับ (แต่ตอนนี้ไม่ได้ส่องมาที่ตนเองมากเท่าแต่ก่อนแล้ว) พอแสงไม่ส่องมาที่ตนเองโดยออร์แกนิก พวกเขาจึงพยายามเปล่งลำแสงประหลาดๆ ออกมาบ้าง วิ่งไปหาสปอตไลต์บ้าง หรือดันสปอตไลต์มาส่องตนเองบ้าง ต่างเป็นพฤติกรรมที่สื่อถึงการไม่ยอมลง 

        บนเวทีประกาศรางวัล หากใครพูดยืดยาวเกินไปไม่รู้จังหวะ ก็มักจะมีเพลงบรรเลงค่อยๆ ดังขึ้นมาเพื่อบอกเป็นนัยว่าถึงเวลาแล้วนะที่เธอจะต้องลงจากเวที เธอกักเวลาไว้ที่ตัวเองคนเดียวไม่ได้ การรู้จักได้ยินเพลงนั้น และรู้จักเดินลงในตัวโน้ตแรก คือวิชาที่ผมอยากเรียนรู้ในวันนี้