หนึ่งในคำถามที่ผมไม่ชอบเลยคือ คำถามที่ว่า คุณเห็นตัวเองเป็นอย่างไรในอีกห้า (หรือสิบ) ปี – โดยเฉพาะในบริบทของการสัมภาษณ์งาน ผมไม่รู้ว่าคำตอบที่ถูกต้องคืออะไร (“ผมเห็นตัวเองตรงที่พี่นั่งอยู่นี่แหละครับ คือมีโอกาสเติบโตจนมาสัมภาษณ์คนอื่น” ดูเป็นคำตอบที่พอใช้ได้แต่ก็ไม่ได้ดีเด่นัก) ผมไม่รู้ว่าตอบแบบไหนที่จะได้คะแนนดี เราจะต้องแสดงออกว่ารักและซื่อตรงต่อบริษัทที่เราสัมภาษณ์มากน้อยแน่ไหน เป็นคำถามที่จริงๆ แล้วกระทั่งคนถามก็ยังอาจไม่รู้ว่าตัวเองจะตอบมันอย่างไร
แต่หากพลิกประโยคเล็กน้อย ผมก็คิดว่านี่เป็นคำถามที่มีประโยชน์มากเหมือนกัน
อีกห้าปีเราจะเป็นอย่างไร
ครั้งหนึ่ง ผมเคยกลุ้มใจกับเรื่องงาน ด้วยได้รับมอบหมายให้ทำแคมเปญโฆษณาใหญ่ครั้งหนึ่ง ทุนที่ต้องใช้สูงเป็นหลักหลายล้าน และต้องไปดีลกับนักแสดงคนสำคัญหลายคน – ทุกอย่างขึ้นอยู่กับไอเดียของแคมเปญทั้งสิ้น แต่คิดเท่าไหร่ พรีเซนต์หลายรอบ ก็ยังไม่ผ่าน ถูกตีกลับมาด้วยคำถามง่ายๆ ว่า “แล้วทำไมคนจะต้องสนใจ” ยิ่งคิดก็ยิ่งกดดัน ยิ่งกดดันก็ยิ่งคิดไม่ออก ผมเค้นเอาทุกหน่วยสมองออกมาคิด มาพลิก มาขยี้ แต่ก็ไม่ออกเสียที เครียดมากจนนอนไม่หลับ นอนหลับก็ยังเก็บไปฝัน แล้วก็ผวาตื่นตอนกลางดึก ยิ่งพอเป็นอย่างนั้นงานก็ยิ่งไปต่อไม่ไหว
แล้วระหว่างโทรศัพท์ปรึกษา เพื่อนก็ถามว่า – อีกห้าปีผมจะยังคิดว่าเรื่องนี้สำคัญอยู่ไหม
ไม่ได้เป็นโมเมนต์ที่แสงสว่างวาบในหัวหรอกครับ – ใช้เวลาสักพักกว่าที่ผมจะเริ่มคิดได้ว่า เออว่ะ ไม่สำคัญ มองย้อนไป ก็เหมือนเรื่องปวดหัวเมื่อปีที่แล้ว สามปีที่แล้ว หรือห้าปีที่แล้ว ที่ตอนนี้เราก็จำไม่ได้เสียแล้วว่าตอนนั้นเครียดอะไรนักหนา ชีวิตก็หาทางไปได้ของมัน – แน่ละ มีบางคำถามในชีวิตที่จะส่งผลต่อเราในระยะยาว การเปลี่ยนงาน การแต่งงาน การเลือกย้ายถิ่นฐาน อาจเป็นคำถามประเภทนั้น แต่คำถามที่ว่า “แล้วเรื่องนี้จะส่งผลต่อเราในอีกห้าปีไหม” ก็ทำให้เราแยกแยะระหว่างคำถามสำคัญ กับคำถามที่ดูแวบแรกดูเหมือนจะสำคัญแต่แท้จริงแล้วไม่ ให้ออกจากกันได้
งานสายสังคมศาสตร์ของ Johan Galtung และ Mari Ruge ตั้งข้อสังเกตว่า “เราจะนับว่าอะไรเป็น ‘ข่าว’ นั้นขึ้นกับความถี่ที่เราให้ความสนใจ” นั่นหมายถึงว่าหากสื่อรู้ว่าผู้ชมจะให้ความสนใจทุกวัน หรือทุกชั่วโมง สื่อก็ย่อมบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจที่สุดในวันนั้น หรือในชั่วโมงนั้นให้ผู้ชมฟัง ตัวอย่างเช่น ลองเปรียบเทียบระหว่างข่าวการเงินของช่องบลูมเบิร์ก หนังสือพิมพ์รายวันอย่าง Financial Times และนิตยสารรายสัปดาห์อย่าง The Economist ถึงแม้ว่าทั้งสามจะสนใจในเรื่อง ‘การเงิน’ เหมือนๆ กัน แต่ข่าวที่นำเสนออาจต่างกันโดยสิ้นเชิง ความเคลื่อนไหวรายชั่วโมงย่อมถูกรายงานในช่องบลูมเบิร์ก แต่มันจะไม่ถูกรายงานเลยในนิตยสาร The Economist จังหวะของการรายงาน และความสนใจนั่นเองที่บอกว่าอะไรที่ ‘จำเป็น’ สำหรับช่วงเวลานั้นๆ
Tim Harford นักเศรษฐศาสตร์ ชวนเราคิดว่า จะเป็นอย่างไรหากมีคนคิดทำหนังสือพิมพ์รายสิบปี ห้าสิบปีหรือร้อยปี ขึ้นมา หนังสือพิมพ์รายห้าสิบปีที่ชวนให้เรามองย้อนไปในอดีตช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา อาจพาดหัวหราว่า “โลกเรารอดจากมหันตภัยนิวเคลียร์มาจนได้” เพราะห้าสิบปีที่แล้วยังอยู่ในช่วงสงครามเย็น ความหวาดกลัวว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ปรากฏให้เห็นในทุกภาคส่วน หนังสือพิมพ์ห้าสิบปีจะไม่รายงานว่าใครได้รับรางวัลออสการ์ในปีหนึ่งๆ มันจะไม่รายงานเรื่องภาวะตลาดหุ้นในวันนี้ ไม่รายงานเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในรายสัปดาห์ มันจะเดินถอยออกมา มองจากที่ไกล และรายงานเฉพาะเรื่องที่ ‘จำเป็น’ ในช่วงห้าสิบปี
เรามองแบบเดียวกันได้ไหมเพื่อแยกแยะว่าปัญหาที่เราเผชิญหน้าอยู่ปัจจุบัน ปัญหาที่เราจมอยู่ตรงหน้า นั้นเป็นปัญหาจริงจังที่จะมาหลอกหลอนเราในรอบห้าปีข้างหน้า หรือมันเป็นเพียงความเคลื่อนไหวขึ้นลงของชีวิตตามปกติ?
แม้ความสามารถในการมองซูมแคบเข้ามาจนถึงหน่วยวินาทีเป็นเรื่องสำคัญในการอยู่กับปัจจุบัน แต่ความสามารถในการเดินออกมามองจากที่ไกลๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญในการแยกเนินเตี้ยๆ ออกจากภูเขาสูง
ไม่ต้องถึงห้าสิบปีหรอกครับ – หากมองย้อนกลับไป หนังสือพิมพ์รอบห้าปีของเราจะพาดหัวว่าอย่างไร และหากคิดไปข้างหน้า เรื่องราวในวันนี้จะถูกบันทึกไว้ในหนังสือพิมพ์ฉบับปัจจุบันไหม?