Aether บริษัทที่เรียกตัวเองว่าผู้ผลิตเพชรที่ปล่อยคาร์บอนเป็นลบเจ้าแรกของโลก!

มีคำกล่าวที่ว่า ‘เพชรเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของผู้หญิง’ (diamonds are a girl’s best friend) ซึ่งโด่งดังมาจากบทเพลงที่ขับร้องโดย มาริลิน มอนโร ในภาพยนตร์คลาสสิก ‘Gentlemen Prefer Blondes’ ที่ฉายในปี 1953

        ถึงตอนนี้คำกล่าวที่ว่ากลายเป็นสโลแกนให้กับอัญมณีที่ถือว่ามีค่ามากที่สุดอย่างหนึ่งและเป็นที่หมายปองของคนมากมายทั่วโลก แต่ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของใครต่อใครมากมาย แต่วิธีการและขั้นตอนการเสาะหามานั้นคงไม่อาจจะเรียกว่าเพื่อนที่ดีของสิ่งแวดล้อมหรือโลกของมนุษย์ทุกคนนี้ได้เลย

        การขุดเหมืองเพชรโดยไม่มีการวางแผนมาก่อนล่วงหน้า สามารถสร้างผลกระทบที่เลวร้ายต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในบริเวณนั้น หลายครั้งมีการเอาเปรียบและใช้แรงงานประชากรที่ยากจนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศทั้งทางบกและทางน้ำ ในบางกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือถึงกับทำให้ระบบนิเวศบริเวณนั้นล่มสลายเลยทีเดียว ที่เห็นได้ชัดก็คือ หลุมขุดเหมืองถูกทิ้งร้างหลายพันแห่ง สัตว์ป่าหายไป ดินชั้นบนถูกกัดเซาะ ผืนดินที่ครั้งหนึ่งเคยเหมาะสำหรับการทำการเกษตรตอนนี้กลายเป็นทิวทัศน์ดวงจันทร์ที่ว่างเปล่า หลุมขุดก่อให้เกิดภัยพิบัติด้านสาธารณสุขตามมาด้วย เมื่อน้ำฝนที่ขังอยู่ในบ่อนั้นเต็มไปด้วยยุง รวมทั้งการแพร่กระจายของมาลาเรียและโรคอื่นๆ ที่เกิดจากน้ำเน่าเสีย 

        โชคดีที่ในช่วงทศวรรษหลัง เราเริ่มเห็นการรณรงค์เรื่องการขุดเหมืองเพชรกันมากขึ้น ทำให้มีการตรวจสอบว่าเพชรที่มีในท้องตลาดนั้นไม่ได้มาจากการขุดเหมืองแบบผิดกฎหมาย หรือมาจากพื้นที่ที่ขัดแย้งทางการเมือง แถมยังเริ่มเห็นเพชรที่ถูกสร้างในห้องแล็บที่มีความเหมือนกับเพชรตามธรรมชาติ ทั้งรูปร่างหน้าตาและสารประกอบทางเคมีก็แยกไม่ออกเลยทีเดียว

        แต่ถึงยังไงก็ตาม เพชรที่มาจากห้องแล็บเหล่านี้ก็ยังคงสร้างมลภาวะจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้อยู่ แน่นอนว่ามันไม่ทำร้ายโลกเท่ากับวิธีการทำเหมืองแบบเดิม แต่จะบอกว่าเป็น ‘carbon neutral’ หรือไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศสุทธิเพิ่มขึ้นจากการดำเนินธุรกิจหรือการบริการของผลิตภัณฑ์เลยก็คงไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะฉะนั้น มันยังไม่ถือว่าเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนสักเท่าไหร่

 

ภาพ: Aetherdiamonds.com

 

        แต่มีบริษัทหนึ่งชื่อ Aether ที่เคลมว่าพวกเขาคือผู้ผลิตเพชรที่ปล่อยคาร์บอนเป็นลบเจ้าแรกของโลก (First Carbon-Negative Diamonds) กล่าวคือนอกจากจะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มแล้ว การทำธุรกิจของพวกเขายังช่วยลดก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้จากบรรยากาศของโลกอีกด้วย

        บนเว็บไซต์ของบริษัทเขียนเอาไว้ว่า

        “เพชรจาก Aether นั้นเป็นเพชรจริงเหมือนกับที่ขุดทุกอย่าง​ โดยไม่สร้างผลกระทบอันเลวร้ายที่ตามมาภายหลัง ทุกกะรัตของเพชรเรานั้นช่วยสร้างผลกระทบที่ดีให้กับโลกของเรา”

        Ryan Shearman นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอของ Aether กล่าวในการสัมภาษณ์กับนิตยสาร Forbes ว่า 

        “เราคงยอมจำนนต่อชะตากรรมที่ไม่น่ายินดีหากเราพอใจกับ ‘คาร์บอนที่เป็นกลาง’ (Carbon Neutral) หากทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกในทุกวันนี้ปล่อยคาร์บอนเป็นกลาง 100% เราจะไม่สามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่มีความหวังใด ๆ ในการกำจัดภาวะโลกร้อนเลย”

        Ryan Shearman และ Dan Wojno เป็นอดีตพนักงานของแบรนด์เครื่องประดับที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง David Yurman พวกเขาออกมาก่อตั้ง Aether Diamonds ด้วยกันเพราะรู้สึกว่าอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมนี้ เลยตั้งใจว่าจะสร้างแบรนด์ที่ผลิตเพชรในห้องแล็บ และขายมันโดยตรงกับลูกค้าของเขาเลย โดยไม่มีการผ่านตัวกลาง (อารมณ์เหมือนแบรนด์แว่นตา Warby Parker)

        แต่แค่สร้างเพชรจากห้องแล็บนั้นยังไม่เพียงพอ พวกเขาต้องการสร้างผลกระทบที่ใหญ่กว่านั้น ด้วยแบ็กกราวด์จากการเป็นวิศวกรเครื่องกลและการที่มีพื้นฐานด้านวัสดุศาสตร์ เครื่องประดับ และเทคโนโลยี จนตอนนี้กลายเป็นผู้ประกอบการ Shearman กล่าวในการสัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Jckonline.com ว่า

        “การค้าขายเพชรเป็นสิ่งที่ติดอยู่ในใจของผมมาตลอดว่ามันควรเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้แล้ว นั่นคือสิ่งที่ผมคิดในหัวมาตลอดเลย จนกระทั่งในที่สุด ผมกับแดนก็คุยกันเรื่องมลพิษทางอากาศ และก็เริ่มเอะใจว่าคาร์บอนที่ทำให้บรรยากาศร้อนขึ้นนั้นไม่ได้แตกต่างไปจากคาร์บอนที่สร้างเพชรขึ้นมาเลย ด้วยแรงบันดาลใจจากแนวคิดนี้และจากประสบการณ์ร่วมกันของเราในโลกของเครื่องประดับ จึงกลายเป็น Aether Diamonds ในที่สุด”

        แม้ว่าในตอนแรกที่พวกเขาเริ่มต้นนั้นเทคโนโลยีที่มีอยู่นั้นจะยังไม่สามารถทำตามที่พวกเขาต้องการได้ก็ตาม

        “เรารู้ดีว่ามันจะเป็นเรื่องยาก แต่เราก็ทราบดีว่าผลตอบแทนที่เราจะได้คืนมานั้นจะคุ้มค่า ไม่เพียงแค่จากด้านการเงินเท่านั้นแต่สำหรับสภาพแวดล้อมด้วย”

        โดยเฉพาะเมื่อการซื้อขายเพชรทั้งโลก (ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเครื่องประดับทั้งหมด) นั้นสร้างคาร์บอนไดออกไซด์อย่างน้อย 12 ล้านตันทั่วโลก เทียบเท่ากับรถยนต์ประมาณ 2.6 ล้านคัน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เยอะไม่น้อยเลยทีเดียว แม้ว่าจะมีหลาย ๆ บริษัทที่พยายามจะโปรโมตการสร้างผลกระทบทางบวกต่อธรรมชาติ แต่ก็ไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมแบบจับต้องได้ บางแบรนด์บอกว่าแหวนเพชรทุกวงที่ขาย พวกเขาจะปลูกต้นไม้หนึ่งต้น มันเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ไม่ได้สร้างผลกระทบแบบจริงๆ จังๆ เลย

        สุดท้ายแล้ว Aether ก็ทำได้จริง ๆ พวกเขาพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นความลับเฉพาะ เหมือนกับการเล่นแร่แปรธาตุ เปลี่ยนมลพิษทางอากาศให้กลายเป็นเพชรเม็ดงามออกมาจนได้

        กระบวนการในการสร้างเพชรของ ​Aether สรุปคร่าว ๆ ประมาณนี้ : คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ถูกดึงออกจากอากาศโดยใช้เทคโนโลยีการดักจับโดยตรง หลังจากนั้นจะถูกดันผ่านตัวกรองแบบพิเศษและเปลี่ยนเป็นก๊าซมีเทน ต่อมาก็สังเคราะห์เป็นวัสดุไฮโดรคาร์บอนดิบที่จะกลายเป็นเพชรในที่สุด มันถูกวางไว้ในเครื่องปฏิกรณ์ แล้วค่อยๆ เติบโตทีละอะตอมจนกลายเป็นหิน กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาสามถึงสี่สัปดาห์ จากนั้นเพชรดิบจะถูกส่งไปเจียระไน ขัดเงา และขึ้นแบบให้เป็นหนึ่งในการออกแบบที่โดดเด่นทันสมัยตามแบบฉบับของ Aether (ถ้าใครยังไม่เคยเห็นแนะนำให้เข้าไปดูในเว็บไซต์ของทาง Aether ครับ แบบสวยมากๆ เลย 

        พลังงานที่ใช้สำหรับกระบวนการทั้งหมด 100% ตั้งแต่ต้นจนจบนั้นมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนและปล่อยมลพิษต่ำ ซึ่งโดยรวมทั้งหมดแล้วยังถือว่าเป็นการปล่อยคาร์บอนเป็นลบ โดยความเชื่อของ Shearman ไม่ใช่แค่การมาโต้แย้งว่าธุรกิจของเขานั้นสร้างผลกระทบน้อยกว่าคนอื่นๆ ในอุตสาหกรรม ไม่ต้องมีการชี้แจงหรือเปรียบเทียบว่าเพชรจากห้องแล็บของเขานั้นสร้างผลกระทบที่น้อยกว่าเจ้าอื่นๆ เท่าไหร่ แต่เขาพลิกหมากไปอีกทางหนึ่งเลย ไม่ใช่แค่ไม่สร้างผลกระทบเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์โดยภาพรวมทั้งหมดอีกด้วย เพชรทุกเม็ดที่ถูกสร้างขึ้นมาคือการลดมลภาวะที่มีอยู่ในอากาศแบบถาวร 

        จุดแตกต่างอันนี้ไม่เพียงแต่นำไปสู่การสร้างหมวดหมู่เพชรใหม่ทั้งหมด แต่ยังทำให้พวกเขากลายเป็นผู้บุกเบิกในอุตสาหกรรมที่ผ่านมาไม่เคยมีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ มานานแล้วอีกด้วย Shearman อธิบายต่อว่า

        “เมื่อผมมองดูบริษัทอื่นที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกับที่เราพยายามจะทำ เทสลาเป็นตัวอย่างที่เหมาะมาก ผมมักคิดถึงภาพการ์ตูนเก่าๆ ในหัวที่ตัวเองต้องคอยตัดสินใจเลือกระหว่างตัวอสูรน้อยที่ถือสามง่ามอยู่บนบ่าหนึ่ง พยายามบอกให้คุณทำอะไรที่ตื่นเต้น และบนบ่าอีกข้างก็เป็นทูตสวรรค์ที่บอกให้คุณทำเรื่องดีๆ ซึ่งรถยนต์ของเทสลาก็เป็นทั้งสองทาง การ์ตูนก็เหมือนกับชีวิตจริง เมื่อเราสามารถทำทั้งสองอย่างได้มันก็ตัดสินใจง่ายมาก”

        สิ่งที่ Shearman และทีมของเขาพยายามจะทำเมื่อสามารถสร้างเทคโนโลยีที่ผลิตเพชรขึ้นมาจากมลภาวะทางอากาศสำเร็จแล้ว (ซึ่งก็คือด้านของทูตสวรรค์) พวกเขาก็หันไปสนใจตัวอสูรน้อยสักนิดโดยการทำเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างการนำเอานักออกแบบชื่อดังอย่าง Jenna Housby (ที่เคยทำงานให้กับแบรนด์เครื่องประดับชั้นนำอย่าง Pandora, Stephen Webster และ Theo Fennell) มาร่วมงานด้วยในฐานะผู้บริหารด้านการออกแบบ ซึ่งในคอลเลกชันแรกที่พวกเขาออกมาจะเน้นไปทางแหวนหมั้น/แหวนแต่งงาน ต่างหู กำไลข้อมือ สร้อยคอ ฯลฯ ใช้เพชรที่มีรูปทรงธรรมดาและแบบที่ไม่เหมือนคนอื่นด้วย

        ตำแหน่งของแบรนด์จะอยู่กึ่งๆ ระหว่าง Tiffany’s กับ Harry Winston (Shearman บอกว่าค่อนไปทาง Tiffany’s มากกว่าหน่อยหนึ่ง) แต่ความตั้งใจของพวกเขาคือการสร้างสรรค์งานเครื่องประดับที่ดีไซน์สวยงาม คุณภาพสูง แต่ราคาเอื้อมถึงได้ โดยสิ่งที่พวกเขาการันตีให้กับลูกค้าคือจะเป็น ‘ขั้นต่ำสุด’ ที่ลูกค้าจะได้รับ สมมติว่าลูกค้าสั่งเพชร 2.00 กะรัต ก็อาจจะได้ 2.05 กะรัตไปแทน ไม่มีต่ำกว่า 2.00 อย่างแน่นอน ในส่วนของสีก็จะสูงกว่า H (มองด้วยตาเปล่ายังขาวอยู่) และความใสอยู่ที่ VS2 ถ้าแปลเป็นภาษามนุษย์ทั่วไปก็คือว่า เพชรทุกเม็ดที่มาจาก Aether นั้นจะถือว่าเป็นเป็นท็อป 2% ของเพชรคุณภาพที่อยู่ในโลกใบนี้นั่นเอง ในข้อมูลมีบอกเพิ่มอีกว่า ตัวอย่างแหวนสองกะรัตแบบนี้จะชดเชยการปล่อยคาร์บอนประมาณสองปีครึ่งโดยเฉลี่ยสำหรับคนอเมริกันอีกด้วย 

ภาพ: www.greenqueen.com.hk

        ส่วนของรายละเอียดปลีกย่อยก็ถือว่าน่าประทับใจไม่น้อย กล่องด้านนอกใช้ผ้าใยสังเคราะห์จากพืช โครงสร้างทำจากกระดาษรีไซเคิลที่ได้รับการรับรองจาก FSC และการตกแต่งภายในที่ทำจากผ้าขนสัตว์แบบยั่งยืนทั้งหมด (ยกเว้นภายนอกที่รีไซเคิลได้) สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

        Shearman กล่าวว่า Aether พยายามที่จะเป็นบริษัทแรกในทุกสิ่ง รวมถึงการเป็นบริษัทเพชรที่ปล่อยคาร์บอนเป็นลบที่พึ่งพาตนเองได้ทั้งหมดภายในปี 2023 (เป็นอย่างช้าที่สุด) ซึ่งตอนนี้กระบวนการต่างๆ ก็เริ่มไปแล้ว สร้างพลังงานสะอาดด้วยตัวเอง ส่งส่วนเกินไปขายต่อ ทำให้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ 100% และมีแหล่งที่มาที่ยั่งยืน และชดเชยคาร์บอนที่เกิดจากระบบขนส่งให้ได้

        “ก็นะ” Shearman หัวเราะ “ผมเป็นผู้ประกอบการ ก็ต้องทำมันใหญ่ไว้ก่อน”

        ในมุมของงานดีไซน์ ความหรูหรา และราคานั้น ต้องบอกได้ว่า Aether จัดอยู่ในพื้นที่ของสินค้าพรีเมียมอย่างไม่ต้องสงสัย สามารถต่อกรกับแบรนด์อื่นๆ ได้อย่างไม่น้อยหน้า แต่เราจะมาฝากความหวังให้พวกเขาสร้างผลกระทบเชิงบวก ลดมลภาวะหลายพันล้านตันทางอากาศด้วยตัวเองเพียงลำพังก็คงไม่ได้ การถือกำเนิดของ Aether นั้นก่อให้เกิดความหวังอย่างหนึ่งให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นและเครื่องประดับ มันสร้างมุมมองใหม่ขึ้นมาว่าต่อไปนี้แทนที่เราจะมองคาร์บอนว่าเป็นมลภาวะ มันจะกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าได้อย่างไร คาร์บอนจากนี้จะไม่ใช่ปัญหาที่เราแก้ไขไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

        อุปสรรคใหญ่อย่างหนึ่งที่คนยังไม่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของมลภาวะมากนักคือพฤติกรรมที่เคยชิน ไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไร สิ่งที่ Aether มันเป็นการสร้างเครื่องมือที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางบวกและยังคงพฤติกรรมเดิมของผู้บริโภคเอาไว้ด้วย ตอนนี้เพชรของ Aether นอกจากจะเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของผู้หญิงแล้ว ยังเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของโลกที่เราอาศัยอยู่ด้วย


อ้างอิง:
https://www.forbes.com/sites/lelalondon/2020/12/22/meet-aether-creators-of-the-worlds-first-carbon-negative-diamonds/?sh=4dae81904812
https://brightly.eco/aether-diamonds-brand-review/
https://aetherdiamonds.com/pages/story
https://www.theforwardlab.com/2021/04/05/introducing-aether-the-worlds-first-carbon-negative-diamonds
https://www.vogue.com/article/aether-diamonds-made-of-carbon-from-atmosphere
https://www.jckonline.com/editorial-article/aether-diamonds-carbon-negative/