ChopValue : แก้ปัญหาขยะโลกด้วยการเปลี่ยน ตะเกียบไม้ใช้แล้วทิ้งให้เป็นเฟอร์นิเจอร์

ลองจินตนาการถึงตะเกียบไม้แบบใช้แล้วทิ้ง 80 ล้านคู่ดูครับ

มันเยอะมากๆ เลยทีเดียว…และนั่นคือจำนวนตะเกียบไม้ใช้แล้วทิ้งที่บริษัท ChopValue ได้นำกลับมาอัพไซเคิล (upcycle) สร้างมูลค่าโดยการทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างเช่นชั้นวางของ เขียงหั่น ที่รองแก้ว ที่วางโทรศัพท์ ตู้ใส่ของ หรือแม้แต่โต๊ะทำงานตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2016 มาจนถึงตอนนี้ (ตุลาคม 2022)

แต่นั่นยังไม่ใช่ตัวเลขที่น่าตกใจที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนตะเกียบไม้ที่ใช้แล้วทิ้งทั่วโลกที่สูงถึง 80,000 ล้านคู่ต่อปี

มันกลายเป็นขยะที่ถูกทิ้งและไร้คุณค่ามาโดยตลอด

ภาพ: ChopValue

        ฟิลิกซ์ เบิค (Felix Böck) ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง ChopValue เติบโตมากับธรรมชาติของรัฐบาร์เยิน (หรือในภาษาอังกฤษเรียก บาวาเรีย) เป็นหนึ่งในสิบหกรัฐของประเทศเยอรมนี มีป่าไม้ ทะเลสาบ และภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้หลอมรวมกลายเป็นตัวตนของเขาตั้งแต่ยังเล็ก เขาเคยทำงานเป็นช่างไม้มาก่อนที่จะเรียนจบด้านวิศกรรมและป่าไม้จากมหาวิทยาลัยที่แวนคูเวอร์ 

        ระหว่างที่เรียนอยู่ก็พยายามเริ่มโปรเจ็กต์รีไซเคิลเศษไม้ที่เหลือจากการก่อสร้างแต่ไม่มีใครสนใจในสิ่งที่เขาอยากทำเลย ในสายงานก่อสร้างเขาเห็นว่าโลกเต็มไปด้วยขยะจากสิ่งก่อสร้างและการบริโภคของมนุษย์ มันทำให้รู้สึกไม่ค่อยสบายใจและอยากลองหาทางช่วยโลกใบนี้ในทางที่ทำได้ เขาพยายามเป็นกระบอกเสียงเกี่ยวกับความยั่งยืนของป่าไม้และธรรมชาติ ขึ้นไปพูดบนเวทีโดยมีผู้ฟังเป็นบริษัทชั้นนำเรื่องการสร้างผลิตภัณฑ์จากไม้ทั่วโลกแต่ก็เหมือนไม่มีใครสนใจ เบิคเล่าว่า

        “ผมคาดหวังว่าจะมีคนมาต่อแถวสอบถามข้อมูลว่าจะใช้ไม้รีไซเคิลได้ยังไงดีหรือตัดต้นไม้น้อยลงได้ยังไง แต่หลังจากผมลงจากเวทีและเสียงปรบมือหายไป ทุกคนก็ไปทานอาหารเย็นกันหมด”

        จนกระทั่งวันหนึ่งระหว่างที่กำลังระบายความคับแค้นใจให้แฟนฟังขณะทานมื้อเย็นที่ร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่งในแวนคูเวอร์ แฟนของเขาก็บอกว่า “ฟิลิกซ์บางทีคุณก็ต้องเริ่มจากอะไรเล็ก ๆ ก็ได้นะ” จังหวะนั้นเองเขาเหลือบไปเห็นพนักงานของร้านกวาดเศษอาหารจากบนโต๊ะลงถังขยะซึ่งในนั้นก็มีตะเกียบไม้ที่ใช้แล้วอยู่ด้วย จู่ ๆ ไอเดียก็เกิดขึ้นในหัวว่า “ถ้ามันเล็กมาก ๆ เหมือนอย่างตะเกียบไม้เลยล่ะ?”

ภาพ: ChopValue / CEO Felix Böck

        เหมือนบางอย่างในตัวของเบิคถูกจุดติด เขาบอกว่า “ทันทีเลย ผมเข้าใจแล้วว่าต้องแสดงให้คนอื่นเห็นว่าระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คืออะไร แทนที่จะพูดว่ามันคืออะไร จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผมสามารถสร้างธุรกิจที่มีกำไรและยั่งยืนจากบ้างอย่างเล็ก ๆ และไม่มีค่าอย่างตะเกียบไม้? เช้าวันต่อมาผมรีบลุกขึ้นมาทำงาน ด้วยความเป็นวิศวกรในตัวเอง ผมรู้เลยว่ามันต้องเป็นไปได้”

        เราทราบดีกว่าตะเกียบไม้ส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ไผ่ที่เป็นพืชที่เติบโตได้อย่างรวดเร็วและแข็งแรง ด้วยความที่ไม้เป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับการสร้างบ้านหรือเฟอร์นิเจอร์ จากสถิติแล้วความต้องการเพิ่มขึ้นมากกว่า 60% ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา การตัดไม้จึงไม่ได้เป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับระบบนิเวศน์อีกต่อไป เบิคพยายามแสดงให้เห็นว่าไม้ไผ่สามารถเป็นไม้ทดแทนที่มีคุณภาพได้และการนำเอาตะเกียบที่ใช้แล้วมาใช้ประโยชน์ใหม่ก็ช่วยลดขยะไปด้วยในตัวเช่นกัน

        นั่นคือเหตุผลที่เขาก่อตั้ง ChopValue ขึ้นมาเพื่อรีไซเคิลตะเกียบไม้ที่ใช้แล้วให้กลายเป็นเฟอนิเจอร์และผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทั้งสวยงาม แข็งแรง และรักษ์โลก ที่สำคัญคือกระบวนการผลิตที่ทุกอย่างมาจากในพื้นที่ ไม่ว่าเป็นแรงงานหรือวัสดุที่นำมาใช้ผลิตก็ตาม

        หลังจากอาหารเย็นวันนั้นเขาก็เริ่มขั้นตอนแรกโดยเดินไปคุยกับร้านอาหารในเมืองแวนคูเวอร์ว่าอยากช่วยขอให้แยกตะเกียบไม้ที่ใช้แล้วลงในถังที่เขานำมาวางไว้ให้หน่อย เขาจะมาเก็บขยะเหล่านี้เองอาทิตย์ละครั้ง ซึ่งร้านอาหารส่วนใหญ่ก็ยินดีอยู่แล้วเพราะมันเป็นขยะที่ยังไงก็ต้องทิ้ง บางร้านก็ถามว่าเขาจะเอาไปทำอะไร เขาก็อธิบายให้ฟังซึ่งก็ยิ่งทำให้ร้านอาหารอยากช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น

        “เจ้าของร้านอาหารก็มีความสุขเพราะว่าพวกเขามีขยะที่จะต้องทิ้งน้อยลง ผมก็มีความสุขที่สามารถใช้ทรัพยากรที่มีค่าและลูกค้าก็ได้สินค้าที่มีคุณภาพสูงด้วย”

ภาพ: ChopValue

        หลังจากเก็บตะเกียบไม้ได้จำนวนหนึ่งก็เริ่มลงมือสร้างตัวอย่างสินค้าชิ้นแรกนั่นก็คือจานรองแก้วน้ำกับเขียงหั่นที่สตูดิโองานไม้ของตัวเอง จากขยะที่เหลือทิ้งกลายเป็นสินค้าที่มีราคาและขายได้จริง ๆ

        จากการคาดการณ์ของเบิคเขาบอกว่าที่แวนคูเวอร์ร้านอาหารทิ้งตะเกียบกว่า 100,000 ชิ้นทุก ๆ วัน แล้วถ้าเป็นประเทศในเอเชียอย่างจีนหรือสิงคโปร์ตัวเลขตรงนี้ยิ่งสูงขึ้นไปอีกอยู่ในหลักล้านชิ้นต่อวัน อีกเรื่องที่เขารู้สึกว่าอยากแก้ไขคือเรื่องของมลภาวะที่เกิดจากการขนส่งตะเกียบไม้จากโรงงานมายังร้านอาหารเหล่านี้

        พนักงาน 35 คนของเบิคตอนนี้รวบรวมตะเกียบไม้ที่ใช้แล้วราว ๆ 350,000 ชิ้นจากร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการทั่วแวนคูเวอร์ทุกอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารทั่วไปหรือร้านที่อยู่ในสนามบินแวนคูเวอร์ด้วย 

        เบิคกล่าวว่า “น้ำเสียเป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมเสมอ”  ดังนั้นแทนที่จะใช้น้ำทำความสะอาดตะเกียบที่ใช้แล้ว พนักงานของเขาฆ่าเชื้อที่ 400 องศาฟาเรนไฮต์ ก่อนที่จะกดลงในเครื่องจักรไฮดรอลิกที่เขาออกแบบมาโดยเฉพาะ “เพื่อให้ได้ความหนาแน่นที่จำเป็นสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ”

        หลังจากนำตะเกียบที่ฆ่าเชื้อแล้วมาเรียงและกดออกมาเป็นบล็อคไม้ที่มีขนาดความหนาที่แตกต่าง ก็จะเข้าสู่กระบวนการขัดเกลาและนำไปสร้างเป็นชั้นวางของ โต๊ะทำงาน ผนังห้อง บันได และแม้แต่ของเล่นอย่างโดมิโนก็ทำได้เช่นกัน 

        เบิคเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ผลิตรถยนต์และวัสดุก่อสร้าง และได้พัฒนากาวที่ปราศจากฟอร์มาลดีไฮด์ ดังนั้นจึงรู้วิธีการสร้างกาวติดบล็อคไม้ที่สร้างจากตะเกียบอัพไซเคิลแบบไม่ต้องใช้สารเคมีที่เป็นพิษอยู่แล้ว อย่างโต๊ะตัวหนึ่งก็ใช้ตะเกียบประมาณ 10,000 ชิ้น ที่ทำมาจากบล็อคไม้แล้วเชื่อมอัดเป็นแผ่นไม้ใหญ่ด้วยกาวที่พวกเขาผลิตขึ้น เบิคอธิบายว่า

        “วัสดุของเรามีความสวยงามคล้ายกับไม้เขตร้อน และเราหวังว่าความงามของวัสดุที่ใช้ตะเกียบนี้สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ช่างไม้พิจารณาทางเลือกที่ยั่งยืนมากกว่าที่จะดึงทรัพยากรใหม่ ๆ ออกจากสิ่งแวดล้อม”

        มันไม่ใช่แค่เพียงโปรเจ็กต์เล็ก ๆ อีกต่อไป เพราะเบิคได้เปิดโอกาสให้คนที่มีความเชื่อเหมือนกันได้มาเป็นส่วนหนึ่งของ ChopValue เปิดแฟรนไชส์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย ยุโรป หรืออเมริกา มีโรงงานขนาดเล็ก (Microfactory) กว่า 60 แห่ง แต่ละแห่งก็จะมีพนักงานราว ๆ 2-10 คน

        ซึ่งที่เขาทำแบบนี้เพื่อจะลดการสร้างมลภาวะจากการขนส่ง ถ้าเราคิดถึงโรงงานในรูปแบบดั้งเดิมคือวัตถุดิบจะถูกนำส่งมายังที่โรงงานหลัก ก่อนจะเข้ากระบวนการผลิตและกระจายไปขายยังที่ต่าง ๆ ทั่วโลก จึงสร้างมลภาวะทั้งการส่งวัตถุดิบและการกระจายสินค้าถึงสองรอบ แต่การเปิดให้คนที่สนใจซื้อแฟรนไชน์ไปผลิตสินค้าขายตามตลาดต่าง ๆ ทั่วโลกนอกจากจะลดการขนส่งแล้ว ยังช่วยลดขยะในท้องถิ่นและเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่อีกด้วย

ภาพ: ChopValue

        ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ คือลูกค้าที่สิงคโปร์ก็ซื้อสินค้าที่สร้างมาจากขยะที่อยู่ในสิงคโปร์โดยพนักงานในพื้นที่สิงคโปร์ ลูกค้าที่กรุงเทพฯก็ซื้อสินค้าที่สร้างมาจากขยะที่อยู่ในกรุงเทพฯโดยพนักงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ฯลฯ

        เป้าหมายของเบิคคือการมีโรงงานขนาดเล็กแบบนี้ทั่วโลก 100 แห่ง และอัพไซเคิลตะเกียบใช้แล้ว 1,500 ล้านคู่ ซึ่งดูแล้วอีกไม่นานเขาน่าจะไปถึงจุดนั้นได้ เขาบอกว่า “มันอาจจะดูตลกหรือบ้าบอ แต่ไอเดียของตะเกียบใช้แล้วคือข้อพิสูจน์ระดับนานาชาติอย่างแรกของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สร้างกำไรได้จริง ๆ”

        อย่างตอนนี้ร้านอาหารในแวนคูเวอร์ก็เริ่มใช้โต๊ะของ ChopValue ลูกค้านั่งทานอาหารบนโต๊ะสร้างมาจากตะเกียบใช้แล้วของในพื้นที่นั้น บางทีอาจจะเป็นตะเกียบคู่ที่พวกเขาใช้ก็ได้ มันไอเดียที่น่าเหลือเชื่อเลยทีเดียว

        เบิคเชื่อว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความตั้งใจอันยิ่งใหญ่ของเขาเท่านั้น มันเป็นเหมือน “หยดน้ำในถัง เรารีไซเคิลเพียงแค่ 0.015% ของขยะทั่วโลกเท่านั้น” เขาหวังว่าในอนาคต “ทุกเมืองจะเอาแนวคิดการรีไซเคิลแบบนี้ไปใช้ แทนที่จะขนขยะไปทิ้งนอกเมืองและบอกว่า ‘เยี่ยม เสร็จแล้ว ขยะหมดไปแล้ว’ แบบนั้นไม่ได้ เพราะขยะไม่มีทางหมดไป ถัาเราสามารถสร้างหนทางที่เป็นมิตรกับระบบนิเวศน์เพื่อจะกำหนดคุณค่าบางส่วนหรือทั้งหมดของวัสดุเหล่านี้เพื่อจะเปลี่ยนขยะเป็นวัตถุดิบใหม่แล้วสร้างสินค้าที่มีคุณภาพ ถึงตอนนั้นผมก็ได้ทำหน้าที่ของผมแล้วหล่ะ”

        มนุษย์สร้างขยะปีละ 2,000 ล้านตันต่อปีและตัวเลขนี้คาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นเป็น 3,400 ล้านตันต่อปีภายในอีก 30 ปีข้างหน้า ปัญหาขยะเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไข เพราะมันไม่มีทางทำได้ด้วยคนเพียงไม่กี่คน แต่สิ่งสำคัญที่เบิคและ ChopValue ได้แสดงให้ทุกคนทั่วโลกเห็นก็คือว่า เราทุกคนสามารถเริ่มต้นทำจากสิ่งเล็ก ๆ ได้ เล็กขนาดตะเกียบไม้ใช้แล้วก็ได้เช่นกัน

 


ที่มา:  – 

https://www.yankodesign.com/2022/09/30/canadian-company-turns-used-chopsticks-into-furniture-homeware

https://chopvalue.com/

https://www.worldwildlife.org/industries/timber

https://chopvalue.com/pages/our-story

https://www.bbc.com/storyworks/age-of-change/second-chance-chopsticks

https://reasonstobecheerful.world/recycled-chopsticks-sustainable-furniture/


เรื่อง: โสภณ ศุภมั่งมี