โลกร้อนขึ้นทุกวัน ปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่กระทบทุกชีวิตที่อยู่บนโลกใบนี้เท่าๆ กัน มีการประเมินเอาไว้ว่าภายในปี 2500 (หรือประมาณ 500 ปีต่อจากนี้) ภูมิประเทศที่อยู่ในโซนกลางของโลกอย่างอินเดีย หรือประเทศในแถบอเมริกาใต้ รวมถึงอาเซียนอย่างไทย ลาว สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จะไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไป ประชาชนจะต้องอพยพขึ้นไปอยู่พื้นที่แถบขั้วโลกเพื่อจะมีชีวิตรอด ซึ่งคุณอาจจะคิดว่ามันก็ไม่เห็นเป็นไร ก็แค่เหมือนย้ายบ้าน แต่ลองคิดดูภาพประชากรทั่วโลก 7 พันกว่าล้านคนที่กระจายอยู่ทั่วโลก ต้องไปอัดกันอยู่ในพื้นที่ที่เหลือเพียงแค่ 20-30% จะเกิดความโกลาหลมากมายขนาดไหน
เรามีโลกนี้ใบเดียว และมันกำลังตายลงช้าๆ ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง…
ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศถือเป็นปัญหาใหญ่ เป็นปัญหาที่ยังต้องแก้ไขและต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ไม่มีใครให้คำตอบได้อย่าง 100% ว่าต้องทำยังไง ทุกอย่างที่เราทำในทุกวันนี้ กระทบถึงกันทั้งสิ้น กาแฟที่เราดื่ม เสื้อผ้าที่เราใส่ การขับรถไปทำงาน ฯลฯ ทุกอย่างล้วนเป็นการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในชั้นบรรยากาศทั้งสิ้น ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของวงจรปัญหาเหล่านี้
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพฤติกรรมของเราในทุกๆ วัน ไม่ทำให้เกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในทางกลับกัน ยังสามารถสร้างผลกระทบในทางบวกในทุกครั้งที่ทำ แม้จะไม่ได้ส่งผลเยอะ แต่หากเมื่อรวมกับอีกหลายล้านคนทั่วโลกที่พร้อมใจกันทำ มันอาจสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ก็เป็นได้
ที่ผ่านมา มีบริษัทแห่งหนึ่งชื่อ Ecosia กำลังพยายามทำสิ่งดังกล่าวให้เป็นจริงขึ้นมา โดยใช้พลังงานจากอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นต้นตอของความเสียหายต่อโลกที่มนุษย์ทำมาตลอดครึ่งศตวรรษ Ecosia เป็นเสิร์ชเอนจินเหมือนอย่างที่เราคุ้นเคยกันดีกับ Google แต่เป้าประสงค์ของบริษัทนั้นแตกต่างจากที่อื่น โดยบริษัทจะใช้รายได้ที่รับเข้ามานำไปแบ่งเงินให้องค์กรพิทักษ์และดูแลสภาพแวดล้อมในประเทศต่างๆ เพื่อเป็นการปลูกต้นไม้ทั่วโลก หรือพูดง่ายๆ คือ เมื่อคุณเข้าเสิร์ชเอนจินของที่นี่ เพื่อค้นหาข้อมูลเหมือนอย่างที่ทำเป็นประจำ แต่ผลลัพธ์ที่ได้อีกทาง คือการงอกงามของต้นไม้สักแห่งบนโลกใบนี้
เบื้องหลังของ Ecosia ถูกสร้างขึ้นมาโดยอ้างอิงจากการค้นหาโดย Bing (ของ Microsoft) และจะทำการปกปิดข้อมูลผู้ใช้งานทั้งหมด โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัท ทาง Ecosia จะนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนในองค์กรที่ดูแลเรื่องการปลูกต้นไม้ในประเทศต่างๆ ในขณะที่เขียนบทความอยู่นี้ (25 เมษายน 2022) ที่หน้าเว็บไซต์ของบริษัทระบุว่า ได้ทำการปลูกต้นไม้ไปแล้วเกือบ 150 ล้านต้น (วิธีการคำนวณคือ ต้นไม้หนึ่งต้นเท่ากับการค้นหา 45 ครั้ง)
Ecosia ตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างพลังงานทดแทนเพียงพอมากกว่าที่ใช้ในการดำเนินการถึง 200% ในอนาคตที่จะถึงนี้ แม้ว่าการเติบโตช่วงหลังทำให้เป้าหมายนี้ไปถึงช้ากว่าที่คาดการณ์เอาไว้ก็ตาม
รายงานรายได้ของบริษัทที่แจกแจงบนเว็บไซต์ว่าแต่ละเดือนมีรายได้เท่าไหร่ และนำไปใช้ดำเนินการและการตลาดเท่าไหร่ ทำให้เห็นถึงความโปร่งใสของสิ่งที่พวกเขาพยายามจะทำ
ซึ่งเกือบ 40% ของรายได้ที่เข้ามานั้นจะถูกแบ่งออกไปเพื่อใช้สนับสนุนองค์กรต่างๆ ในการปลูกต้นไม้ทั่วโลก ส่วนที่เหลือก็จะเป็นภาษี เงินเดือนพนักงาน และการพัฒนาโครงการรักษาสิ่งแวดล้อม (เช่นทำ Solar Farms) แถมยังไม่มีการจ่ายเงินปันผลให้กับเจ้าของ เงินที่ได้มาจะหมุนอยู่ในบริษัท เพื่อนำไปใช้พัฒนาองค์กรและช่วยเหลือโลกให้ดีขึ้น
เหตุผลที่ Ecosia ทำแบบนี้ได้ก็เพราะว่ารายได้ส่วนใหญ่ที่มาจากโฆษณาเมื่อลูกค้าค้นหาแล้วคลิกนั้นจะกลับมาหาบริษัท แต่ในส่วนของงานเทคโนโลยี พวกเขาได้ Bing เข้ามาช่วยซัพพอร์ตทั้งหมด ทั้งการดูแลเชิงเทคนิคและการบำรุงรักษา Ecosia มีใช้พนักงานเพียง 25 คนทั้งบริษัท แม้ว่าจะต้องจ่ายค่าเซิร์ฟเวอร์ สร้างแอพพลิเคชัน หรือดูแลเรื่องการทำ plug-in ในเว็บบราวเซอร์ต่าง ๆ แต่ก็ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับรายได้ที่เข้ามา จึงสามารถนำเงินที่ได้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
เมื่อมีเงินอยู่ในมือแล้ว Ecosia จึงไปทำงานร่วมกับองค์กรที่ปลูกต้นไม้เป็นพันเป็นหมื่นต้น ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้องค์กรเหล่านั้นต้องไม่ใช้แรงงานเด็ก หรือแม้แต่ใช้ยาฆ่าแมลงที่เป็นสารเคมี โดยโครงการปลูกต้นไม้ที่ Ecosia ได้ร่วมมือด้วยนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่าอย่างหนัก ซึ่งระหว่างทางไม่ใช่แค่การลงมือปลูก แต่พวกเขายังต้องโน้มน้าวผู้คน ให้เชื่อในความยั่งยืนของสิ่งที่ทำลงไปอีกด้วย
ภาพ: www.forbes.com
“มันง่ายมากเลยที่จะปลูกต้นไม้ แต่มันยากมากที่จะทำให้แน่ใจว่าสิ่งที่เราได้ทำมันจะยั่งยืนตลอดไป” คริสเตียน โครลล์ (Christian Kroll) ซีอีโอของบริษัท กล่าว
ผลทางอ้อมของโครงการดังกล่าวนี้ ยังทำให้ชาวบ้านมีงานทำ นอกจากนี้หลังจากทำการปลูกต้นไม้เสร็จเรียบร้อย ภาคีเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่จะมีการรายงานผลที่เกิดขึ้นแบบปีต่อปี เพื่อดูว่าพื้นที่แห่งนั้นได้ประโยชน์มากขึ้นแค่ไหน เพื่อแสดงให้เห็นว่าต้นไม้เหล่านี้มีคุณค่ามากกว่าการตัดทำลาย
โครลล์บอกอีกว่า Ecosia จะทำการตรวจสอบทุกโครงการที่ทำอย่างเคร่งครัด พร้อมตัดเงินบริจาคทันทีเมื่อองค์กรไม่สามารถทำให้ต้นไม้เติบโตต่อไปได้ มากกว่านั้น พวกเขาพร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือ รวมทั้งจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาเคยมีองค์กรที่เข้ามาร่วมงานกับ Ecosia มีชื่อว่า Trees for the Future ตั้งอยู่ในประเทศเซเนกัล พวกเขาเผยว่า การร่วมงานกับ Ecosia ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการคัดเลือกและตรวจสอบอย่างโปร่งใส ยกตัวอย่างโครงการมีการเซ็นสัญญากัน 4 ปี ตกลงกันว่าต้องปลูกต้นไม้ให้ได้ 1.2 ล้านต้น ซึ่งก็ต้องทำตามที่ตกลงกันเอาไว้
ในมุมกลับกัน สิ่งที่ Ecosia ได้ทำลงไปนั้น เคยมีการตรวจสอบว่า พวกเขาทำกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การสร้างภาพลักษณ์ ซึ่งบริษัทเองก็ถูกตรวจสอบมาครั้งแล้วครั้งเล่า จนแน่ใจว่า Ecosia มีเจตนารมณ์ที่ดีอย่างแท้จริง
อีกหนึ่งคำถามที่น่าสนใจ นั่นคือ สิ่งที่พวกเขาทำร่วมกับ Microsoft จะคงอยู่ไปได้อีกนานแค่ไหน เพราะหากว่าวันหนึ่ง Microsoft เกิดตัดสินใจหั่นเปอร์เซ็นต์ของรายได้ลงไป ย่อมหลีกหนีผลกระทบที่เกิดตามมาไม่ได้อย่างแน่นอน แต่นับถึงเวลานี้ เรื่องเหล่านี้คงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะ Ecosia ยังสามารถดึงคนให้มาใช้งานค้นหาผ่านเสิร์ชเอนจินของพวกเขาได้เหมือนเดิม ซึ่งนั่นหมายความว่า มันจะทำให้คนไปใช้งานค้นหาที่ Google ซึ่งเป็นคู่แข่งลดลง
อีกเหตุผลหนึ่ง ในมุมของ Microsoft แล้ว Ecosia คือภาพลักษณ์ที่สามารถดึงลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มาสนใจได้โดยไม่ต้องลงทุนทำการตลาดใดๆ และตราบใดที่ Ecosia ยังอยู่ได้ ทาง Microsoft ก็พร้อมจะเป็นแบ็กอัพที่ดีให้ต่อไป
การปลูกต้นไม้ 150 ล้านต้นทั่วโลกเป็นอะไรที่น่าทึ่ง แถมมันยังมาจากการกระทำเล็ก ๆ ที่เราทำทุกวันอย่างการค้นหาข้อมูลทางเสิร์ชเอนจิน ใครอยากหาข้อมูลของบริษัทแห่งนี้ต่อ ลองค้นทางกูเกิล โดยพิมพ์ ‘Ecosia’ ลงไป (แล้วหลังจากนั้น คุณก็ไปใช้ Ecosia ให้บ่อยขึ้นแล้วกัน)
ที่มา:
–https://www.snopes.com/fact-check/ecosia-use-profits-to-plant-trees
–https://www.howtogeek.com/710964/what-is-ecosia-meet-a-google-alternative-that-plants-trees/
–https://www.ipcc.ch/site/assets/uploads/2019/08/4.-SPM_Approved_Microsite_FINAL.pdf
–https://blog.ecosia.org/ecosia-financial-reports-tree-planting-receipts/
เรื่อง: โสภณ ศุภมั่งมี