สองผู้รอดชีวิตจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ลุยสร้างสตาร์ทอัพที่ผลิตอุปกรณ์ Wearable เพื่อช่วยสาวๆ เอาตัวรอดจากสถานการณ์เสี่ยง

“โลกเป็นสถานที่ที่โหดร้าย และมนุษย์ก็ยิ่งทำให้มันโหดร้ายมากขึ้นไปอีก”

– Dathan Auerbach (จากหนังสือ Penpal)

        ประโยคด้านบนฟังดูน่าห่อเหี่ยวหัวใจ แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีความจริงอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าเราจะอยากรับรู้หรือไม่ก็ตาม ข่าวที่เราอ่านกันทุกวันชี้ให้เห็นชัดเจนว่าโลกของเราแม้จะสวยงาม แต่ก็มีบางส่วนและบางเหตุการณ์ที่มืดมนและโหดร้ายเป็นอย่างมาก

        สำหรับ ควินน์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (Quinn Fitzgerald) และ ซาร่า ดิ๊กเฮาส์ เดอเซอรากา (Sara Dickhaus de Zarraga) เคยประสบเรื่องนี้กับตัวเอง ทั้งคู่เป็นผู้รอดชีวิตจากการถูกคุกคามทางเพศมาก่อน สำหรับพวกเธอแล้วโลกไม่ได้สวยงามเสมอไป โชคดีที่ทั้งคู่ผ่านสถานการณ์อันโหดร้ายตรงนั้นมาได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีแบบนี้

        ควินน์เคยทำงานเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสภาธุรกิจแห่งทำเนียบขาวในยุคของประธานาธิบดี บารัก โอบามา เธอหวังว่าจะนำความรู้ที่ได้ทั้งจากการทำงานและการเรียนไปสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเชิงบวกในภาคธุรกิจมากขึ้น ส่วนซาร่าเคยทำงานด้านการเงินระหว่างประเทศและเป็นวาณิชธนกิจมาก่อน เธอมาเรียนต่อเพื่อค้นหาวิธีที่จะผสมผสานความหลงใหลในการเป็นผู้ประกอบการและหลักแนวคิดในการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีจุดยืนในสังคมและเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น

        ทั้งคู่มาพบกันที่ Harvard Business School และกำลังพยายามหาไอเดียเพื่อทำธุรกิจครั้งใหม่ ระหว่างนั่งดื่มไวน์คุยกันถึงปัญหาของสังคมและสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว จังหวะหนึ่งที่ทั้งคู่แชร์ประสบการณ์อันเลวร้ายของตัวเองให้กันและกันฟัง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเธอเห็นว่าปัญหาเรื่องความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal Safety) นั้นถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก สิ่งที่มีอยู่ในท้องตลาดอย่างพวกสเปรย์พริกไทยหรือนกหวีด เหล่านี้ยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร


ภาพ: Getflare.com

        สถิติจาก CDC (ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งสหรัฐอเมริกา) บอกว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิง และ 1 ใน 4 ของผู้ชาย เคยตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน แน่นอนว่านี่คือตัวเลขที่สูงจนน่าใจหาย

        แม้อุปกรณ์ป้องกันตัวที่ขายกันในท้องตลาด จะสามารถใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือจวนตัว เพื่อให้หลุดพ้นออกมาจากตรงนั้นได้ แต่ถ้าตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ รู้สึกกังวล ไม่สบายใจ อยู่ในสถานที่แปลกใหม่ หรือไปเดตกับคนที่เพิ่งเคยพบกันไม่กี่ครั้ง อยู่ในงานปาร์ตี้ที่มีคนมาทำให้อึดอัดและอยากออกไปจากตรงนั้น แต่ก็ยังไม่ถึงกับต้องดึงสเปรย์พริกไทยออกมาฉีดใส่เพื่อป้องกันตัว นี่ละ คือช่วงจังหวะที่ทั้งคู่คิดว่าควรมีอะไรบางอย่างเพื่อช่วยทำให้รู้สึกปลอดภัยและมั่นใจว่าจะออกจากสถานการณ์ตรงนั้นไปได้


ภาพ: Getflare.com

        ควินน์และซาร่าคิดว่าพวกเธอน่าจะสร้างผลิตภัณฑ์บางอย่างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์สถานการณ์แบบนั้นได้ ของแบบนั้นต้องไม่เตะตาและสวมใส่ได้ตลอดเวลา แต่ก็ต้องทำให้ผู้ใช้งานหลุดออกมาจากสถานการณ์ที่อึดอัดใจได้จริงๆ ทั้งคู่เริ่มสร้างโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘Flare’ จากในห้องเรียนจนกลายเป็นธุรกิจที่เปิดตัวในปี 2020 และได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก

        ซาร่ากล่าวว่า “ความปลอดภัยไม่ใช่แค่เรื่องขาวหรือดำ การทำร้ายร่างกายส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยคนที่คุณรู้จักในสถานที่ที่คุณคุ้นเคยด้วยซ้ำ แต่อุตสาหกรรมความปลอดภัยนั้นมุ่งเน้นไปที่สถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น ขณะที่เราอยากสร้างของบางอย่างที่คนสามารถใช้เพื่อให้หลุดออกมาจากสถานการณ์ที่ไม่สบายใจทันทีเมื่อรู้สึกไม่แน่ใจ ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้าย เราอยากให้คุณเป็นคนที่ควบคุมสถานการณ์ตรงนั้นได้”

        “ความรู้สึกเหมือนตัวเองติดอยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกไม่ปลอดภัยเป็นความรู้สึกที่แย่มากที่สุดเลย แต่แทนที่จะไม่ทำอะไร ไม่ไปไหนเลย ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ หรือต้องคอยมองข้างหลังอยู่ตลอดเวลา เราจินตนาการถึงโลกที่ทุกคนเต็มไปด้วยความมั่นใจ ควบคุมสถานการณ์ได้ และเลือกได้ว่าอยากใช้ชีวิตแบบไหน”


ภาพ: Getflare.com

        ทั้งคู่เริ่มทำการวิจัยและสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจากการถูกทำร้ายหรือล่วงละเมิดทางเพศหลายพันคนเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เจอและทำงานร่วมกับองค์กรในท้องถิ่นอย่าง Boston Area Rape Crisis Center และ RESPOND Inc. เพื่อดูว่าสิ่งที่พวกเธอทำนั้นสามารถช่วยแก้ปัญหาตรงไหนได้บ้าง และคำตอบที่พบก็คือ เกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้หญิงที่รอดชีวิตนั้นถูกทำร้ายโดยคนรัก และ 41% โดยคนที่รู้จัก และ 8 ใน 10 ที่ถูกข่มขืน ก็เกิดจากคนที่พวกเขารู้จักด้วย

        นอกจากนั้นแล้ว 91% ของคนที่พวกเธอคุยด้วยบอกว่าเคยอยู่ในสถานการณ์อึดอัดแบบนี้มาก่อน มีคนล้ำเส้นแต่ก็ถูกกดดันจนทำอะไรไม่ได้ กว่า 58% บอกว่าเจอสถานการณ์แบบนี้อย่างน้อยเดือนละครั้งและ 1 ใน 3 บอกว่าเพิ่งเจอไปเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมานี้เอง


ภาพ: Getflare.com

        ผลลัพธ์ที่ออกมาคืออุปกรณ์ ‘Wearable Technology’ ซึ่งเป็นกำไลข้อมือที่เชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนซึ่งมีปุ่มซ่อนอยู่ ถ้าปุ่มนี้ถูกกดมันจะส่งสัญญาณไปให้โทรศัพท์ของคุณดังขึ้นมา แสร้งว่ามีคนโทร.มาหา ใช้เสียงที่อัดเอาไว้เพื่อให้คุณรับสายและออกจากสถานการณ์ที่ไม่ค่อยสบายใจตรงหน้าได้ นอกจากนั้นยังสามารถส่งข้อความไปหากลุ่มเพื่อนสนิท 5 คนเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าตอนนี้กำลังอึดอัดอยู่ ฝากช่วยโทรหรือส่งข้อความมาหาหน่อย และที่สำคัญสามารถส่งโลเคชั่นและโทร.หาตำรวจให้มาช่วยโดยอัตโนมัติได้ด้วย

        เหตุผลที่พวกเธอตั้งชื่อว่า ‘Flare’ เพราะมันเป็นเหมือนพลุไฟส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ในขณะเดียวกันมันออกเสียงเหมือนกับคำว่า ‘Flair’ ที่แปลว่าสวยงาม เพื่อให้เหมาะกับรูปลักษณ์ของกำไลที่ทั้งคู่อยากทำด้วย

        แม้ว่าไอเดียและคอนเซปต์ถูกคิดออกมาทั้งหมดแล้ว แต่การทำให้มันออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทั้งคู่ไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องฮาร์ดแวร์เลย เพื่อนที่เรียนห้องเดียวกันก็ไม่ได้สนใจอยากทำธุรกิจ ส่วนใหญ่ที่มาเรียนก็เพื่อจะกลับไปทำงานเป็นผู้ให้คำปรึกษาหรือไม่ก็ทำงานด้านการเงิน ทั้งคู่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ลงเรียนคลาสที่สอนแล้วก็บากบั่นไปเรื่อยๆ

        คอนเซปต์แรกของอุปกรณ์ถูกออกแบบมาให้เป็นระบบอัตโนมัติ แต่สุดท้ายแล้วหลังจากการสัมภาษณ์และข้อมูลที่ได้รับมาก็เปลี่ยนให้ผู้ใช้งานเป็นคนกดปุ่มเองดีกว่า นอกจากนั้นก็ต้องออกแบบให้ปุ่มไม่ถูกกดโดนโดยบังเอิญด้วย สุดท้ายหลังจากที่ได้เทคโนโลยีแล้ว ก็ต้องไปหาโรงงานที่สามารถผลิตกำไลตามที่พวกเธอออกแบบอีก

        ทั้งคู่ใช้เวลากว่า 5 ปีหลังจากที่ไอเดียถือกำเนิด กว่าที่ Flare จะได้รับทุนเริ่มต้นเป็นเงินกว่า 3 ล้านเหรียญฯ ในปี 2020 และเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ช่วงต้นปีนั้นเป็นต้นมา ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก ของขายหมดสต็อกไปหลายครั้ง ข้อมูลจาก SimilarWeb ที่เก็บสถิติเกี่ยวกับจำนวนผู้ใช้งานเว็บไซต์บอกว่า Flare เป็นเว็บไซต์แบบ ‘Direct-to-Customer’ (ขายให้กับลูกค้าโดยตรง) ที่มีการเติบโตเร็วที่สุดกว่า 313.7% แบบไตรมาสต่อไตรมาส
ความสำเร็จนี้ไม่ได้แค่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการของทั้งคู่เท่านั้น มันยังทำให้เห็นด้วยว่านี่คือปัญหาที่ใหญ่มากในสังคมและยังไม่ได้รับการแก้ไขอีกด้วย

        ควินน์ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Bizjournals ไว้ว่า “Flare เป็นอะไรที่มากกว่าแค่กำไล ความปลอดภัยคือหนทางไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่มากกว่านั้นมาก มันคือการไม่ถูกเหนี่ยวรั้งไว้ ทำให้ตัวคุณกลับมามีชีวิตอีกครั้ง และสร้างความเปลี่ยนแปลงทางบวกด้วย เราเคยจินตนาการว่า โลกจะเป็นยังไงนะเมื่อเราทุกคนไม่ต้องสนใจเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย เพราะทุกคนรู้สึกมั่นใจและควบคุมสถานการณ์ได้ เราอยากตั้งเป้าหมายของตัวเองให้สูงและทำตามได้จริงๆ”

        สำหรับควินน์และซาร่าแล้วพวกเขารู้สึกว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เป้าหมายของพวกเขาคือ “วันหนึ่งโลกนี้จะปลอดภัยจนทำให้คนไม่จำเป็นต้องใช้ Flare อีกต่อไป”

        ในมุมธุรกิจ ถ้าไม่มี Flare แล้วจริงๆ คงเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อย แต่ในอีกมุม โลกที่โหดร้ายนี้ก็คงดีขึ้นไม่น้อยเลยเช่นเดียวกัน


อ้างอิง:

– https://www.cdc.gov/violenceprevention/sexualviolence/fastfact.html

– https://getflare.com/

– https://www.forbes.com/sites/erinspencer1/2020/02/13/two-sexual-assault-survivors-are-redesigning-personal-safety

– https://www.mentalfloss.com/article/654398/flare-safety-bracelet

– https://www.bizjournals.com/boston/inno/stories/profiles/2020/02/20/personal-safety-startup-flare-launches-with-3m-in.html

– https://www.similarweb.com/corp/blog/ecommerce/retail-insights/top-fastest-growing-d2c-brands-q2-2021

เรื่อง: โสภณ ศุภมั่งมี