Jiggy Puzzles: ธุรกิจจิ๊กซอว์ร้อยล้านจากผู้หญิงวัย 30 ที่เปลี่ยนงานศิลปะให้เป็นจิ๊กซอว์ในช่วงโควิด-19

เมื่อพูดถึงสตาร์ทอัพหรือธุรกิจอะไรสักอย่างหนึ่ง เรามักได้ยินเรื่องราวของเทคโนโลยีอันล้ำสมัย สมองกล เมตาเวิร์ส บิตคอยน์ ฟาร์มแนวตั้ง จรวดที่พาคนไปบินเล่นนอกโลก AR VR ฯลฯ จนรู้สึกว่าโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงถูกขับเคลื่อนด้วยธุรกิจที่เป็นเทคโนโลยีเพียงเท่านั้น แต่พออ่านเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจเหล่านั้นเยอะๆ เข้าก็รู้สึกว่ามันน่าเบื่อ สิ่งที่แปลกใหม่ก็ดูซ้ำๆ กันไปเสียหมด แค่ใครจะคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ได้ก่อนและออกสู่ตลาดก่อนเพียงเท่านั้น

        เรื่องราวของ เคย์ลิน มาร์ซ็อตต์ (Kaylin Marcotte) นั้นต่างออกไปเหมือนดั่งสายลมเย็นๆ ที่พัดผ่านเอาฝนที่ชุ่มฉ่ำมายังโลกธุรกิจที่มุ่งแต่แข่งขัน ไร้ความสร้างสรรค์แห้งแล้งและน่าเบื่อ

        นี่ไม่ใช่เรื่องราวของแอพพลิเคชันใหม่ที่มาแข่งกับ TikTok หรือ Facebook นี่ไม่ใช่เทคโนโลยีที่จะทำให้มนุษย์อายุยืนยาวไปอีก 100 ปี นี่ไม่ใช่แม้แต่ธุรกิจที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้กับประชากรผู้หิวโหยบนโลกใบนี้ ธุรกิจที่มาร์ซ็อตต์ทำเกี่ยวกับจิ๊กซอว์ 

        ใช่แล้วครับ จิ๊กซอว์ที่เราทุกคนน่าจะเคยต่อมาก่อนสักครั้งหนึ่งในชีวิต 

        จิ๊กซอว์ที่ตอนนี้เราอาจถามว่ายังมีคนซื้ออยู่อีกเหรอ นี่คือเรื่องราวของธุรกิจที่พลิกสิ่งที่เราคุ้นชินเดิมๆ ให้มีมูลค่าและน่าสะสม ควรค่าแก่การใส่กรอบรูปสวยๆ ห้อยโชว์บนฝาบ้านด้วยความภาคภูมิใจ นี่คือธุรกิจที่เติบโตเป็นมูลค่าหลายสิบล้านในช่วงโควิด-19 ที่ธุรกิจส่วนใหญ่ล้มละลาย และมันก็สอนอะไรมากมายให้กับใครก็ตามที่สนใจทำธุรกิจด้วย

 

ภาพ: Jiggypuzzles.com

 

จิ๊กซอว์ซ้ำซากจำเจ

        มาร์ซ็อตต์เป็นผู้หญิงในวัยปลายยี่สิบตอนที่เธอเริ่มต้นทำธุรกิจที่เรียกว่า ‘Jiggy’ ส่วนตัวเป็นคนที่ไม่อยู่นิ่ง ชอบทำนู่นนี่นั่นตลอดเวลา ทำงานหนักมาโดยตลอดทั้งชีวิต และชอบลองท้าทายทำอะไรใหม่ๆ เสมอ

        แต่เธอมีงานอดิเรกที่ชอบทำระหว่างวันเวลาที่ว่างนั่นคือการต่อจิ๊กซอว์ ใช่ครับ จิ๊กซอว์ธรรมดาที่เราน่าจะยังหาซื้อกันได้ที่ร้านค้าออนไลน์ทั่วไปนั่นแหละ เธอบอกว่า ทุกครั้งที่ได้นั่งต่อจิ๊กซอว์เหมือนหลุดเข้าไปอีกโลกหนึ่ง ช่วยทำให้สมองที่กำลังยุ่งๆ กลับมาผ่อนคลายอีกครั้งหนึ่ง กลับมาถึงบ้านเหนื่อยแล้วนั่งต่อจิ๊กซอว์เป็นชั่วโมงๆ บางครั้งจิ๊กซอว์ 1,000 ชิ้นใช้เวลาไม่ถึงอาทิตย์หนึ่งด้วยซ้ำ

        เธอสนุกกับมันมากแต่เธอก็มีปัญหากับมันด้วยเช่นกัน

        แม้กระบวนการต่อจิ๊กซอว์จะทำให้ผ่อนคลาย แต่หลังจากต่อเสร็จก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากแขวนหรือโชว์ภาพเหล่านั้นสักเท่าไหร่เพราะมันซ้ำซาก วิวภูเขาจากสวิตเซอร์แลนด์ ภาพขอบฟ้าจากนิวยอร์ก โบราณสถานในกัมพูชา ฯลฯ คือไม่ใช่ว่าภาพมันไม่สวย แต่แค่… มันไม่ได้เหมาะกับรสนิยมของเธอและก็น่าเบื่อไปสักหน่อย เหมือนเอาภาพถ่ายที่หาได้ออนไลน์มาพรินต์แปะทับไปบนจิ๊กซอว์เท่านั้น

        นั่นจึงกลายเป็นคำถามในหัวว่า “มันเป็นได้แค่นี้จริงๆ เหรอ?”

 

Jiggy

        คำถามนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นหาคำตอบ มาร์ซ็อตต์เริ่มมองหาจิ๊กซอว์ในท้องตลาดที่ขายกันอยู่ก็เหมือนๆ กันไปซะหมด เธอจึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัทชื่อ ‘Jiggy’ ขึ้นมาในเดือนพฤศจิกายน ปี 2019 เพื่อขายจิ๊กซอว์ที่ไม่เหมือนใคร และหลังจากต่อเสร็จแล้วก็ยังควรค่าแก่การใส่กรอบติดฝาบ้าน เหมือนงานศิลปะอันน่าภาคภูมิใจสวยๆ สักชิ้นหนึ่งนั่นเอง

        เธอสร้างความแตกต่างให้กับจิ๊กซอว์ของบริษัทไว้สองอย่าง

        1. ภาพที่จะมาปรากฎอยู่บนจิ๊กซอว์ของเธอต้องมาจาก ‘ศิลปินที่เป็นผู้หญิง’ ทั่วโลก ซึ่งทุกครั้งที่จิ๊กซอว์นั้นขายได้ ศิลปินที่ผลิตงานชิ้นนั้นก็จะได้รับส่วนแบ่งไปด้วย

        2. จิ๊กซอว์ที่ขายบนเว็บไซต์ทุกอันจะแถมกาวมาให้ด้วย เป็นกาวที่เอาไว้ใช้สำหรับการทาด้านหลังของจิ๊กซอว์เมื่อต่อเสร็จเพื่อสร้างให้มันเป็นภาพศิลปะสำหรับตกแต่งบ้าน

        มันขายได้ครับ ไอเดียของเธอได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก สร้างรายได้ให้กับเธอและส่งเสริมศิลปินหญิงทั่วโลกด้วย (ลองดูภาพในเว็บไซต์ได้ครับ สวยๆ ทั้งนั้นเลย https://jiggypuzzles.com/collections/all)

        แต่จังหวะนรกก็มาถึงเมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนักในช่วงครึ่งปีต่อมา

 

COVID — ปรับตัวเพื่อเติบโต

        เราน่าจะจำกันได้ดีตอนที่โควิดทำให้โลกกลายเป็นอัมพาต ทุกอย่างต้องปิดตัวหมดไม่ว่าจะเป็น ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า แม้กระทั่งธุรกิจสายการบินทั้งในและระหว่างประเทศ จนเศรษฐกิจล้มหายตายจากกันไปเยอะมากๆ แต่ Jiggy ได้รับผลประโยชน์จากความเบื่อของประชาชนที่ต้องกักตัวอยู่บ้านแล้วไม่มีกิจกรรมทำ กลายเป็นว่ายอดขายในเดือนมีนาคม 2020 ที่โควิดระบาดหนักของจิ๊กซอว์บนเว็บไซต์เพิ่มขึ้นกว่า 500% อาจจะฟังเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นในเดือนต่อมาเพราะไม่มีของขายครับ

        เนื่องจากเป็นธุรกิจขนาดเล็ก การสต็อกหรือสายการผลิตไม่ได้ใหญ่โตหรือรวดเร็ว ทำให้เมื่อของหมดสต็อกลงก็ใช้เวลานานกว่าจะเริ่มเติมของใหม่ได้ ลูกค้าเข้ามาที่เว็บไซต์เห็น ‘SOLD OUT’ ก็รู้สึกเสียอารมณ์ เวลาทำธุรกิจขายไม่ดีว่าเครียดแล้ว เจอขายดีแต่ไม่มีของขายนี่เครียดหนักกว่าเดิม แต่เธอก็ต้องหาทางปรับตัวครับ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่เรียบง่ายแต่ชาญฉลาด เรียกว่าปรับแนวคิดแค่นิดเดียวจริงๆ

        เมื่อไม่สามารถรับออร์เดอร์ที่เข้ามาได้ ก็ส่งจิ๊กซอว์เปล่าๆ โล่งๆ สีขาวๆ ไปยังศิลปินที่ตัวเองมีคอนแทคเอาไว้ แล้วให้ศิลปินวาดลงบนนั้นเลย ขายในราคาที่สูงขึ้นได้ด้วยความที่เป็นงานศิลปะชิ้นเดียวแล้วก็ขาย ตอนนี้แทนที่จะขายจิ๊กซอว์ที่ปรินต์รูปมาแปะด้านบน เธอขายงานศิลปะวาดขึ้นใหม่โดยศิลปินทั่วโลกที่สามารถแตกออกเป็นจิ๊กซอว์ได้ต่างหาก

        เสียงตอบรับดีงามล้นหลามมาก เธอไปรายการ Shark Tank เพื่อพิตช์ขอเงินทุนและได้รับเงินสนับสนุนมากว่า 5 แสนเหรียญฯ (ราวๆ 18 ล้านบาท) แลกกับหุ้น 15% ของบริษัทจาก มาร์ค คิวบัน (Mark Cuban) มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน จนตอนนี้บริษัทของเธอมีมูลค่าราว ๆ 3 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 112 ล้านบาทไปแล้ว

 

ภาพ: Jiggypuzzles.com

 

        บทเรียนเกี่ยวกับเรื่องราวของมาร์ซ็อตต์และ Jiggy ก็คือ

 

        1. บางอย่างที่คุณรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ น่ารำคาญ อาจจะเป็นช่องทางธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อนก็ได้ – ถ้าคุณไม่ชอบอะไรบางอย่างที่มีอยู่เดิมๆ (ลองคิดถึงไปรษณีย์ไทยก่อนจะมีคู่แข่งอย่าง Kerry เข้ามาในตลาด) คนอื่นๆ ก็คงมีปัญหาที่ไม่ต่างไปจากคุณเท่าไหร่ แค่ต้องให้แน่ใจว่าปัญหานั้นใหญ่มากพอ ลองดูกลุ่มคนที่มีปัญหาคล้ายๆ กับเรา ลองหาทางแก้ไขปัญหานั้นดู

        2. ปรับบางอย่างของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วในตลาด ไม่จำเป็นต้องสร้างสิ่งใหม่ – จริงอยู่ว่าการมาของ iPhone จะเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมสมาร์ตโฟนและเทคโนโลยีไปตลอดกาล แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ และไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะถ้าหาก สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ไม่ได้มีทีมหรือทำเองคนเดียวก็อาจทำไม่ได้แบบนี้ ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องสร้าง iPhone ไม่ต้องสร้างคู่แข่งโค้ก ไม่ต้องไปพลิกโฉม TikTok คุณไม่ต้องสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตลาด แต่ปรับบางอย่างที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น หาวิธีสร้างมูลค่าให้มันแล้วเปลี่ยนมุมนำเสนอสินค้าในแบบของคุณเองก็ประสบความสำเร็จได้

        3. การขายแบรนด์และโปรโมทเป็นเรื่องสำคัญ – เมื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีเสียงตอบรับดี อย่าเก็บไว้คนเดียว พยายามโปรโมตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น การไปรายการทีวีอย่าง Shark Tank นอกจากจะเป็นการหาเงินลงทุนแล้วยังได้โปรโมตธุรกิจของเธอบนรายการทีวีที่มียอดผู้ชมสูงด้วย อีกอย่างหนึ่งการร่วมงานกับศิลปินซึ่งเป็นอาชีพที่หาเงินยากอยู่แล้ว กลายเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทให้กับเหล่าแฟนๆ ของศิลปินเหล่านั้นบนโลกออนไลน์ด้วย

        ลองถามตัวเองวันนี้ครับว่ามีอะไรที่คุณชอบทำแต่มันน่าเบื่อไหม? มีอะไรที่คุณคิดว่า ‘ถ้ามันเป็นแบบนี้นะจะต้องดีมากแน่เลย’? ปัญหาที่คุณมีอาจจะมีโอกาสทางธุรกิจซ่อนอยู่ก็ได้ครับ


ที่มา:  – 
– https://jiggypuzzles.com/

– https://www.linkedin.com/in/kaylin-marcotte/

– https://houseofwise.co/blogs/news/interview-with-jiggy-founder-kaylin-marcotte

– https://www.entrepreneur.com/leadership/how-success-happened-for-kaylin-marcotte-founder-and-ceo/402066

– https://www.youtube.com/watch?v=WqR_mS69UUE


เรื่อง: โสภณ ศุภมั่งมี