Mi Terro: เปลี่ยนนมเน่าให้กลายเป็นเสื้อยืด สร้างมูลค่าและลดปัญหาขยะอาหารเหลือทิ้ง

ข้อมูลจากเว็บไซต์ World Economic Forum เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2021 บอกว่า อาหารราวๆ 17% ของที่ผลิตขึ้นมา หรือราวๆ 1 พันล้านตันจะถูกโยนทิ้งในทุกๆ ปี และเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศราว 8-10%  

        ปัญหาขยะอาหารจึงถือเป็นเรื่องระดับโลกที่ต้องการการแก้ไขโดยด่วน นอกจากจะสร้างมลภาวะทำให้โลกร้อนขึ้นแล้ว มันยังเป็นสาเหตุของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและต้องใช้ทรัพยากรทั้งมนุษย์และเงินจำนวนมหาศาลเพื่อจัดการกับขยะเหลือทิ้งเหล่านี้

ภาพ: Mi Terro

 

        โรเบิร์ต หลัว (Robert Luo) ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ Mi Terro ได้เห็นปัญหานี้กับตัวเองในปี 2018 เมื่อกลับไปเยี่ยมฟาร์มของคุณลุงที่ประเทศจีน สิ่งที่เขาเห็นคือนมเน่าในถังจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนเพราะผลิตออกมาแล้วขายไม่ทัน กลายเป็นขยะอาหารที่ไร้ประโยชน์ หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นโรเบิร์ตก็ลองศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมจึงได้ตระหนักว่ามันเป็นปัญหาขนาดใหญ่มาก ไม่ใช่แค่ฟาร์มของลุงของเขาเท่านั้นที่ต้องทิ้งนมไปโดยเปล่าประโยชน์ ฟาร์มทั่วโลกก็เผชิญปัญหาไม่ต่างกัน เขาให้สัมภาษณ์ว่า

        “ที่จริง 40% ของอาหารของโลกที่ผลิตขึ้นมานั้นกลายเป็นขยะทุกๆ ปี และในขยะเหล่านี้ มีรายงานว่านมวัวกว่า 128 ล้านแกลลอนถูกเททิ้งทุกปีทั่วโลก”

        หลังจากกลับมาที่อเมริกา เขาได้ติดต่อ แดเนียล จวง (Daniel Zhuang) เพื่อนวัยเด็กที่เรียนจบมาทางด้านวัสดุศาสตร์และเคมีเพื่อลองปรึกษาปัญหาที่เขาได้พบเจอมา ทั้งคู่ตัดสินใจก่อตั้งบริษัท Mi Terro ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยใช้การ upcycle (สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าจากของเหลือใช้) นมเน่าที่เหลือทิ้งให้กลายเป็นเสื้อยืดออกมาขาย

        แม้ว่าทั้งคู่ไม่สามารถแจกแจงเรื่องของเทคโนโลยีว่ามันทำได้อย่างไรเพราะยังอยู่ในกระบวนการจดลิขสิทธิ์ เราจึงทราบเพียงขั้นตอนโดยทั่วไป คือพวกเขาจะไปติดต่อกับฟาร์มเพื่อขอเข้าซื้อนมที่เหลือทิ้ง จากนั้นนำนมไปหมักและรีดไขมันออกเพื่อขจัดไขมันในนม ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘Pro-Act’ (Protein Activation) เพื่อถอดเอาโปรตีนเคซีน (Casein Protein) ในน้ำนมออกมาเป็นเส้นใยที่ย่อยสลายได้ จนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์แรกของบริษัทเสื้อยืด ‘Mi Terro Milk Shirt” ซึ่งกระบวนการนี้ใช้น้ำน้อยกว่าการผลิตเสื้อผ้าฝ้ายออร์แกนิกถึง 60% เลยทีเดียว 

 

ภาพ: Mi Terro

 

        เสื้อผ้าที่ผลิตด้วยเส้นใยจากโปรตีนเคซีนนั้นทั้งอ่อนนุ่มและเหมาะสำหรับผู้เป็นภูมิแพ้ผิวหนัง (Skin Allergy) แถมยังดูดซับความชื้นได้ดีและมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียซึ่งเหมาะสำหรับสวมใส่กลางแจ้งและในชีวิตประจำวัน

        กระบวนการผลิตเสื้อเริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จากที่ตอนแรกใช้ระยะเวลาเป็นเดือนกว่าจะผลิตเสื้อได้ตัวหนึ่ง ตอนนี้กระบวนการสั้นกว่านั้นมาก นอกจากนั้นยังมีการผลิตเส้นใยเวอร์ชั่นใหม่โดยการผสมกับผ้าวิสโคส (Lenzing Viscose) ซึ่งเป็นเป็นเส้นใยกึ่งสังเคราะห์ได้มาจากเชลลูโลสจากพืช ทำให้คุณภาพของผ้าดีมากขึ้น นุ่มสบายและกระบวนการทั้งหมดก็ถูกกว่ากว่าการผลิตผ้าฝ้ายซะอีก โรเบิร์ตกล่าวว่า

        “เราลดปริมาณพลังงานและน้ำที่ใช้ในการผลิตสิ่งทอของเราลงไป การผลิตใช้น้ำน้อยกว่ากระบวนการผลิตฝ้ายออร์แกนิกกว่า 60% และเส้นใยของเราย่อยสลายได้ทางชีวภาพ 100% และไม่ใช้ปิโตรเลียมในกระบวนการผลิตซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม”

        ล่าสุดบริษัทเพิ่งได้รับเงินลงทุนไป 1.5 ล้านเหรียญ และกำลังขยับขยายกำลังการผลิตสินค้าให้มากขึ้นด้วย

 

ภาพ: Mi Terro

        เป้าหมายต่อไปของ Mi Terro คือการหาวัสดุทดแทนพลาสติกที่มาจากปิโตรเลียม (Petroleum-Based) และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชให้ก้าวหน้าโดยเร็วที่สุด โดยการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนโดยของเสียจากการทำการเกษตร​ เริ่มจากการที่พวกเขาสร้างเสื้อยืดก่อนเป็นอันดับแรก ต่อไปนั้นก็จะเริ่มการผลิตฟิล์มห่ออาหารที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และค่อยๆ ขยับขยายไปยังผลิตภัณฑ์อื่นอย่างชุดชั้นใน, หลอดดูด, กล่องใส่อาหาร หรือแม้แต่คอนแทคเลนส์


ที่มา:
https://www.miterro.com
https://designwanted.com/milk-tee-mi-terro/
https://www.miterro.com/pages/technology
https://techcrunch.com/2022/03/04/me-terro-seed-funding/

เรื่อง: โสภณ ศุภมั่งมี