Misfits Market: ไอเดียสตาร์ทอัพมูลค่า 2 พันล้านที่มาจากการเห็นแอปเปิลร่วงเกลื่อนพื้น

วันที่ อาบี ราเมซ (Abhi Ramesh) ออกไปเก็บแอปเปิลกับแฟนสาวที่ฟาร์มในเมืองแลงคาสเตอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย เป็นวันธรรมดาๆ วันหนึ่ง แต่ไม่มีใครคาดคิดเลยว่านอกจากแอปเปิลสดๆ ที่เก็บมาในวันนั้น สิ่งที่เขาได้กลับมาด้วยคือไอเดียในการทำธุรกิจที่กลายมาเป็นสตาร์ทอัพมูลค่า 2 พันล้านเหรียญฯ ในภายหลังได้ ราเมซให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Inc.com บอกว่า “ผมเห็นแอปเปิลเกลื่อนเต็มพื้นเลย เห็นเลยว่ามันกลายเป็นขยะต่อหน้าต่อตาที่ฟาร์ม รู้สึกตกใจมากๆ เหมือนกัน”

        ราเมซเป็นผู้ประกอบการมาตลอดทั้งชีวิต ผ่านการทำอีคอมเมิร์ซ สตาร์ทอัพของตัวเอง และก่อตั้งโรงเรียนสอนการเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย เขาใช้ชีวิตอยู่ในฟิลาเดลเฟียมาเป็นนานแล้วและกำลังสนใจประเด็นปัญหาเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรขาดแคลนและหาซื้อไม่ได้ตามซูเปอร์มาร์เกต ราเมซเริ่มเดินทางไปยังฟาร์มต่างๆ ที่อยู่รอบเมืองแล้วครุ่นคิดถึงประเด็นเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าจะทำอย่างไรให้ผลผลิตทางการเกษตรนั้นจะไม่ถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์

        ในปี 2018 เขาเลยตัดสินใจก่อตั้งสตาร์ทอัพที่เมืองนิวเจอร์ซี ชื่อว่า Misfits Market ขึ้นมา โดยไอเดียของมันก็คือการส่งผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่มีใครต้องการไปยังบ้านของลูกค้าแบบระบบสมาชิก สโลแกนของ Misfits Market คือ ‘Save Big by Saving Food’ ที่เป็นการแสดงเป้าหมายว่าพวกเขาต้องการลดขยะอาหารที่ไม่มีคนต้องการแถมลูกค้าก็ได้ส่วนลดในการซื้อผลผลิตทางการเกษตรเหล่านี้ด้วย

จากขยะที่ไม่มีคนต้องการ

        จากสถิติโดยเฉลี่ยจากองค์กรสหประชาชาติ (United Nations) บ่งชี้ว่า ครึ่งหนึ่งของผักและผลไม้ที่ผลิตออกมานั้นจะกลายเป็นขยะเหลือทิ้งในแต่ละปี คิดเป็นมูลค่าราวๆ 5 แสนล้านเหรียญฯ และหนึ่งในสามของผลผลิตทางการเกษตรที่ปลูกนั้นไม่ได้ถูกเก็บเกี่ยว​ (หรือที่เรียกว่าปล่อยเน่าคาต้น) เพราะมันไม่ได้มาตรฐานตามที่ผู้รับซื้อต้องการนั่นเอง สุดท้ายก็ถูกทิ้งและกลายเป็นขยะเหมือนอย่างแอปเปิลที่ราเมซเห็นเกลื่อนพื้นนั่นแหละ

        แต่การเข้าไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน ราเมซบอกว่า “มันเป็นอุตสาหกรรมที่รายได้น้อย กำไรน้อย และเน่าเสียง่าย แถมยังต้องใช้ระบบขนส่งที่ซับซ้อน ต้องสร้างห่วงโซ่อุปทานขึ้นมาจากศูนย์เลย นอกจากนั้นยังมีแรงกดดันจากพวกร้านค้าเชนต่างๆ ที่พยายามทำให้คุณไปตามมาตรฐานของพวกเขา ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาที่ไร้ประสิทธิภาพแบบนี้ตั้งแต่แรก”

        เพื่อแก้ปัญหานี้ พวกเขาต้องพัฒนาคลังสินค้าและระบบที่ดูแลเรื่องสต็อก ต่อจากนั้นก็สร้างระบบการจัดการด้านขนส่งตั้งแต่ต้นจนจบเลยทีเดียว

        “มันใช้เวลากว่าสามปีและใช้เงินมหาศาลเลยทีเดียว” เขาบอก

        ถึงตอนนี้ Misfits Market ได้ระดมทุนไปแล้วกว่า 526.5 ล้านเหรียญฯ และมาจาก Softbank Vision Fund 2 ประมาณ 225 ล้านเหรียญฯ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตอนนี้บริษัทมีมูลค่าราวๆ 2 พันล้านเหรียญฯ

        วิธีการทำงานของ Misfits Market คือ ลูกค้าเข้ามาเลือกผลผลิตทางการเกษตรที่คัดมาแล้วว่าเป็นออร์แกนิกและ Non-GMO จากเว็บไซต์ของพวกเขามูลค่าอย่างน้อย 30 เหรียญฯ ต่อจากนั้นก็เลือกวันที่ต้องการให้ของมาส่งที่บ้านแบบทุกอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ครั้งหนึ่ง ซึ่งลูกค้าที่ซื้อผักผลไม้จาก Misfits Market จะประหยัดเงินราวๆ 25.17 เหรียญฯ ต่ออาทิตย์เมื่อเทียบกับการซื้อผักผลไม้ในปริมาณและคุณภาพที่เท่ากันจากร้านซูเปอร์มาร์เกต หรือประหยัดไปกว่า 40% เลยทีเดียว ซึ่งถือว่าคุ้มมากสำหรับคนที่ทำอาหารกินเองที่บ้าน ประหยัดทั้งเงินและเวลาในการไปซื้อของเหล่านี้เข้าบ้าน ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละอาทิตย์ก็สามารถเปลี่ยนแปลงหรือสลับไอเทมได้ด้วยแล้วแต่ฤดูกาล

        Misfits Market มีคู่แข่งอย่าง Imperfect Foods ที่เปิดตัวในปี 2015 แต่ไม่ได้มีระบบสมาชิก ลูกค้าสามารถเลือกไอเทมต่างๆ ได้ ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะสินค้าออร์แกนิกเท่านั้น ค่าจัดส่งของทั้งสองบริษัทเท่าๆ กันอยู่ที่ประมาณ 5 เหรียญฯ ต่อกล่อง นอกจากนั้นก็ยังมี Hungry Harvest ที่เปิดตัวในปี 2014 ที่มีออปชันให้ลูกค้าเลือกได้ว่าอยากได้กล่องไซซ์เล็กหรือใหญ่ เลือกสินค้าใส่ในนั้นเพิ่มได้ถ้าต้องการ ซึ่งก็ถือว่าทั้งสามบริษัทนั้นกำลังแก้ปัญหาเดียวกันแต่อาจจะแตกต่างกันออกไปในรูปแบบของโมเดลธุรกิจ แต่ราเมซบอกว่าสินค้าของพวกเขานั้นเมื่อเทียบคุณภาพที่เท่ากันแล้วจะราคาถูกกว่าของคู่แข่งซึ่งอาจจะเป็นข้อได้เปรียบสำหรับ Misfits Market ในการดึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ให้เข้ามาลองใช้ด้วย

การเติบโตอย่างรวดเร็ว

        ช่วงการระบาดของโควิด-19 ถือว่าเป็นจังหวะที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงและโอกาสสำหรับ Misfits Market ในปี 2020 เพียงปีเดียว จำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้งานและออเดอร์เติบโตขึ้นกว่า 5 เท่า เพราะคนไม่อยากที่จะเสี่ยงออกจากบ้านแถมยังเริ่มชินกับการสั่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้มาส่งที่บ้านเพิ่มขึ้นด้วย ปัญหาคือเรื่องของการขนส่งที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อตอบรับกับความต้องการที่มากขึ้น และทำให้แน่ใจว่าพนักงานที่โกดังยังคงปลอดภัยระหว่างการระบาดครั้งใหญ่

        เมื่อไม่สามารถตอบรับกับความต้องการได้ทั้งหมด แถมพนักงานก็ยังไม่พอ Misfits Market ต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ว่าจะทำยังไงดีกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นมากขนาดนี้ ในช่วงแรกของการระบาด Misfits Market ตัดสินใจปิดหน้าเช็กเอาต์ชั่วคราวเพื่อที่ลูกค้าใหม่จะยังไม่สามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ ช่วงเวลาหกเดือนต่อจากนั้นพวกเขารีบหาคนมาเพิ่มโดยด่วน จากบริษัทขนาด 175 คนกลายเป็น 1,000 คนทันที

        “เราต้องสร้าง waitlist ขึ้นมาพักหนึ่งเลย มันเป็นไฟล์ที่เราทำกันขึ้นมาตอนนั้น และมาโยนใส่ฐานข้อมูลเราในภายหลัง มันเป็นอะไรที่โกลาหลสุดๆ ในฝั่งดีมานด์ที่เกิดขึ้น”

        ในด้านการจัดการก็ไม่ได้ท้าทายน้อยไปกว่ากัน ประมาณสามถึงสี่เดือนราเมซต้องประชุมกับทีมพนักงานคลังสินค้าของบริษัทเกือบทุกวัน ราเมซจะเช็กอินและแจ้งข้อมูลอัพเดตความปลอดภัยของโควิด-19 ทุกวันเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พอมาถึงช่วงปี 2021 ทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น การมีวัคซีนช่วยทำให้การจัดการเบาลง แต่ความท้าทายก็ยังคงมีอยู่ต่อไป เพราะตอนนี้พวกแพ็กเกจและกล่องต่างๆ ราคาสูงขึ้น พื้นที่โกดังให้เช่าก็หายากขึ้น และก็มีคำถามตามมาอีกว่าแล้วถ้าทุกอย่างกลับไปเป็นปกติแล้วลูกค้ายังอยากจะสั่งสินค้าเหล่านี้ออนไลน์กันอยู่รึเปล่า?

        ราเมซเชื่อว่าพฤติกรรมนี้ยังคงอยู่ต่อไป เขายังคงรับซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากชาวสวนชาวไร่ และนำไปขายต่อให้กับลูกค้าในราคาที่ต่ำกว่าซูเปอร์มาร์เกตกว่า 40% เมื่อเทียบกันแล้ว ตอนนี้เราขยายออกไปมากกว่าแค่ผักผลไม้ มีทั้งเบเกอรี อาหารทะเล เนื้อสัตว์ และพวกขนมขบเคี้ยวต่างๆ ด้วย นอกจากนั้นยังมีการไปพาร์ตเนอร์กับเชฟทำอาหารเพื่อมาสร้างสูตรทำอาหารเวลาลูกค้าได้รับกล่องของ Misfits Market ก็เข้ามาที่เว็บไซต์เพื่อดูว่าพวกเขาสามารถทำเมนูอร่อยๆ อะไรได้บ้าง กลายเป็นการสร้างคอมมูนิตี้เล็กๆ ขึ้นมาด้วย

ก้าวต่อไป

        มีคำกล่าวที่ว่า “If life gives you lemon, make lemonade” ซึ่งหมายความว่าชีวิตนั้นไม่ได้สวยงามเสมอไป แต่เราสามารถหาวิธีสร้างโอกาสดีๆ จากสิ่งเหล่านั้นได้ด้วย ราเมซได้ทำแบบนั้น เขาเห็นผลแอปเปิลที่เกลื่อนพื้น รู้ว่ามันเป็นปัญหา และหยิบมันมาแก้ไข จนสร้าง Misfits Market ขึ้นมาถึงตรงนี้ได้ จากรายงานของบริษัทพวกเขาได้ลดขยะอาหารไปกว่า 128 ล้านปอนด์ (ราวๆ 58 ล้านกิโลกรัม) ในปี 2021 เพียงปีเดียว และตั้งแต่เริ่มทำในปี 2018 ก็ลดขยะอาหารไปแล้วกว่า  228 ล้านปอนด์ (ราวๆ 103 ล้านกิโลกรัม) กระจายรายได้กว่า 155 ล้านเหรียญฯ ให้กับฟาร์ม 60 แห่งทั่วประเทศอเมริกา

        นอกจากราเมซจะนำผลผลิตเหล่านั้นไปขายให้กับลูกค้าทั่วไปแล้ว ยังมีการแบ่งบางส่วนเพื่อไปบริจาคให้กับองค์กรที่ต้องการและคนยากไร้ต่างๆ ในประเทศด้วย (ปี 2021 บริจาคไปประมาณ 120,000 ปอนด์) และตั้งเป้าหมายว่าต่อไปอยากจะแก้ไขปัญหาการเข้าถึงผักผลไม้อาหารสดที่มีคุณภาพกับประชากรที่มีรายได้น้อย โดยเขาเชื่อว่าภายในปี 2025 Misfits Market จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรขาดแคลนตามซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ ได้ คนที่มีรายได้น้อยก็สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มากขึ้นด้วย


ที่มา: 

• https://www.inc.com/rebecca-deczynski/misfits-market-grocery-delivery-service-food-deserts.html

https://www.misfitsmarket.com/


เรื่อง: โสภณ ศุภมั่งมี