สตรอว์เบอร์รี่ลูกละ 220 บาท จากฟาร์ม Oishii ที่ถูกขนานนามว่า ‘Tesla of Strawberries’ และลูกค้าถึงขั้นยอมจ่ายมากกว่าราคาป้ายเพื่อให้ได้ชิมสักครั้งในชีวิต

ช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2017

        ฮิโรกิ โคงะ (Hiroki Koga) และ เบรนดัน ซอเมอร์วิลล์ (Brendan Somerville) สองเพื่อนซี้จากคณะ MBA แห่งมหาวิทยาลัย University of California, Berkeley ได้ลองทดสอบไอเดียธุรกิจของพวกเขาโดยเดินเข้าไปที่ร้านอาหารหรูในนิวยอร์กแล้วขอให้เชฟชิมสตรอว์เบอร์รี่ของพวกเขา โดยบอกว่า ‘นี่คือสตรอว์เบอร์รี่ที่ดีที่สุดในโลก’

        พวกเขานำเข้าสตรอว์เบอร์รี่พวกนี้มาจากญี่ปุ่น เป็นสายพันธุ์ของพื้นที่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่นที่เก็บเกี่ยวได้แค่ 3 สัปดาห์ต่อปี เชฟทุกคนที่ได้ชิมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันหวานมาก รสชาติเหมือนกับลูกอม มากกว่าผลไม้ ความหอม กลิ่นเฉพาะตัว ความฉ่ำคือที่สุดของสตรอว์เบอร์รี่ ที่เรียกว่าแค่เข้าปากเอาลิ้นดันแล้วก็แทบไม่ต้องเคี้ยวเลย

        เชฟเหล่านี้ได้คอนเฟิร์มแล้วว่านี่คือสตรอว์เบอร์รี่ที่อร่อยจริงๆ ส่วนโคงะและซอเมอร์วิลล์ก็รู้แล้วว่าพวกเขามีผลิตภัณฑ์ที่ดีอยู่ในมือ คำถามต่อไปคือจะทำยังไงให้สามารถปลูกสตรอว์เบอร์รี่สายพันธ์นี้ที่อเมริกาได้และจะทำยังไงให้ปลูกได้ตลอดทั้งปี

        พวกเขาเชื่อว่าการทำ ‘Vertical Farming’ หรือการทำฟาร์มในร่มแบบแนวตั้งคือคำตอบ เพราะตอนนี้เทคโนโลยีการเกษตรแบบนี้เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ปัญหาคือว่ายังไม่มีที่ไหนในโลกที่สามารถทำฟาร์มสตรอว์เบอร์รี่ในร่มระดับอุตสาหกรรมได้เลย นี่คือโจทย์ที่หินมาก แต่ก็ท้าทายมากสำหรับทั้งสองคน แม้ว่าตลอดหลายปีก่อนจะมาเรียนต่อที่อเมริกา โคงะเคยทำงานเป็นผู้ให้คำปรึกษาของบริษัท Deloitte และมีโอกาสได้เข้าไปช่วยองค์กรหลายแห่งในการลงทุนทำ ‘Vertical Farm’ มาแล้วก็ตาม แต่เขาก็ไม่รู้เลยว่ากับสตรอว์เบอร์รี่แล้วมันต้องเริ่มต้นอย่างไร

        ทั้งคู่ก่อตั้งบริษัท Oishii สตาร์ทอัพสาย AgriTech ที่มีเป้าหมายในการปลูกสตรอว์เบอร์รี่สายพันธุ์ที่อร่อยที่สุดในโลก โดยอาศัยเทคโนโลยีอันล้ำสมัยในฟาร์มแบบในร่มให้ได้

        ไล่เรียงย้อนไปก่อนหน้านั้น ไอเดียของสตาร์ทอัพนี้เกิดขึ้นเมื่อโคงะเดินทางมาเรียนที่อเมริกาแล้วพบว่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของที่นี่มี ‘คุณภาพ’ ที่แตกต่างจากโตเกียวบ้านเกิดที่เขาจากมา โดยเฉพาะสตรอว์เบอร์รี่ เขาบอกว่าที่อเมริกามีสตรอว์เบอร์รี่ที่ผลใหญ่ก็จริง แต่มันมีแต่น้ำ กัดเข้าไปแล้วจืดชืด เปรี้ยว และไม่มีความหอมเลย เขาเลยรู้สึกว่ามันต้องมีวิธีที่จะนำเอาสตรอว์เบอร์รี่ของญี่ปุ่นที่รสชาติอร่อยมาขายที่นี่ได้ เพราะเขารู้สึกว่าจุดแข็งของประเทศญี่ปุ่นคือคุณภาพของผักผลไม้

        “ระหว่างที่เติบโตมา ผมก็คิดเสมอแหละว่าอยากจะเอาสิ่งที่ดีที่สุดของญี่ปุ่นมีไปแชร์กับทั้งโลก”

        สำหรับคนที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นอาจจะเคยเห็นการมอบผักผลไม้เป็น ‘ของฝาก’ อยู่บ่อยครั้ง แทนที่จะเป็นไวน์หรือเหล้าแพงๆ โคงะเล่าถึงตอนที่ยังเป็นเด็กว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีผักหรือผลไม้อยู่บนโต๊ะอาหารแสดงว่าวันนี้คือวันพิเศษอะไรสักอย่าง และในประเทศญี่ปุ่นอุตสาหกรรมการเกษตรถือว่ามีมูลค่าสูงมาก อย่างในปี 2019 ที่มีคนประมูลเมลอนยูบาริสองลูกไปด้วยราคากว่า 5 ล้านเยน (ประมาณ 1.3 ล้านบาท) หรืออย่างสตรอว์เบอร์รี่ ‘Bijin-hime’ (แปลว่าเจ้าหญิงผู้เลอโฉม) ที่ขายกันลูกละราวๆ 5,000 เยน (ประมาณ 1,350 บาท) นั่นก็เช่นกัน แน่นอนว่าในท้องตลาดมีสายพันธุ์ที่ราคาถูกลงมาอยู่แล้ว แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าคนญี่ปุ่นให้คุณค่ากับสินค้าการเกษตรเหล่านี้แค่ไหน

ภาพ: Oishii.com

Farm of the Future

        เราน่าจะพอทราบว่า ‘Vertical Farming’ หรือการทำการเกษตรแนวตั้งในโรงเรือนนั้นเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวนและผลกระทบของการเกษตรรูปแบบเดิมที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เทคโนโลยีและแนวคิดเรื่องการทำการเกษตรแนวตั้งแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง

        การทำการเกษตรแบบนี้สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้ามาควบคุมปัจจัยสำคัญต่างๆ ของผลผลิตอย่างน้ำและแสงได้อย่างแม่นยำ สร้างระบบนิเวศเทียมให้เหมาะสมกับผักและผลไม้แต่ละชนิดได้ด้วย

        ปัญหาในการทำการเกษตรแบบนี้คือเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการก่อสร้าง เพราะมันใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนและผู้เชี่ยวชาญที่ต้องจ่ายค่าแรงค่อนข้างสูง เท่านั้นไม่พอ ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่แล้วเป็นพวกผักใบเขียวต่างๆ ที่ขายได้ราคาไม่แพงมาก เพราะในตลาดก็มีผลิตภัณฑ์คู่แข่งที่ราคาถูกอยู่แล้ว ถ้าขายผักราคาพรีเมียมอีกคงไม่มีใครซื้อ เพราะฉะนั้น บริษัทเหล่านี้แม้ภายนอกจะดูเหมือนน่าสนใจและมีนักลงทุนมาสนับสนุนเงินด้วยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่มันก็ยากมากที่จะสร้างกำไรในอุตสาหกรรมผักใบเขียวที่ราคาในตลาดถือว่าต่ำมาก

        โคงะทราบถึงปัญหาตรงนี้ดีว่าถ้าจะทำการเกษตรแบบแนวตั้งให้ประสบความสำเร็จ มีรายได้เพียงพอที่จะขยายธุรกิจต่อไปได้คือการลงทุนกับพวกผลไม้ที่มีราคาสูง โดยเขาคิดว่าสตรอว์เบอร์รี่นี่แหละคือคำตอบ เพราะมันเป็นผลไม้ที่มีราคาสูง ผลผลิตในท้องตลาดยังถือว่าไม่ดีมาก คู่แข่งน้อย เต็มไปด้วยยาฆ่าแมลง และเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 3 รองจากแค่กล้วยและแอปเปิลเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะยังไม่เคยมีใครปลูกสตรอว์เบอร์รี่ในฟาร์มแนวตั้งสำเร็จ แต่ผู้ก่อตั้งทั้งสองคนก็เห็นตรงกันว่าไม่ควรไปเสียเวลาปลูกผักใบเขียว แต่ทุ่มเทกับการทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รี่สายพันธุ์ Omakase ให้สำเร็จในฟาร์มแนวตั้งจะดีกว่า

        ซอเมอร์วิลล์เล่าถึงช่วงเวลาก่อนที่จะมาเจอกับโคงะว่าเขาเองก็พยายามมองหาไอเดียของธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมองว่าจะมีอะไรบ้างที่คนจะจ่ายเงินซื้อ สิ่งที่เขาพบก็คือมนุษย์ในอนาคตจะต้องการน้ำและอาหารมากยิ่งขึ้น นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาสนใจการทำการเกษตรแบบแนวตั้งเพราะถึงอย่างไรมนุษย์ก็ต้องกินทุกวัน อีกเหตุผลหนึ่งที่เขาชื่นชอบไอเดียสตรอว์เบอร์รี่ของโคงะเพราะว่าครั้งหนึ่งระหว่างที่ไปประจำการที่ฐานทัพทหารเรือที่ญี่ปุ่น เขาเคยได้ทานสตรอว์เบอร์รี่ลูกละ 3 ดอลลาร์ฯ​ (ประมาณ 100 บาท) แล้วรู้สึกถึงความแตกต่างของคุณภาพจากที่เคยกินที่อเมริกาได้เลยทันที

ภาพ: Oishii.com

Oishii

        ทั้งคู่ได้นั่งคุยกันถึงความเป็นไปได้ของธุรกิจและก่อตั้งบริษัท Oishii (ที่แปลว่า ‘อร่อย’) ขึ้นมาในปี 2017 เอาไอเดียเข้าร่วมการแข่งขันพิตชิ่ง Global Social Venture Competition จนผ่านเข้าไปถึงรอบสุดท้าย และในปีเดียวกันก็เอาชนะการแข่งขันสตาร์ทอัพรายการ Berkeley’s Launch ได้ด้วย

        คำถามคือแล้วทำไม Oishii ถึงแตกต่างจากที่อื่น ทำไมสตาร์ทอัพอื่นถึงไม่หันมาปลูกสตรอว์เบอร์รี่กันล่ะ เหตุผลแรกคือพวกเขาลงทุนไปกับการปลูกผักใบเขียวเป็นระยะเวลานานแล้ว การเปลี่ยนหรือปลูกผักผลไม้ชนิดใหม่ใช้ทุนและเวลาที่ค่อนข้างสูง และอีกเหตุหนึ่งที่ยังแก้ปัญหากันไม่ตกคือขั้นตอนการผสมเกสรที่ปกติในธรรมชาติอาศัยแมลงต่างๆ นั่นเอง

        ฟาร์มสตรอว์เบอร์รี่ที่ให้ผลผลิตที่ดี ต้องการการผสมเกสรที่มีประสิทธิภาพด้วย

        โคงะและซอเมอร์วิลล์หันมาพึ่งพาสิ่งที่เป็นธรรมชาติมากที่สุดซึ่งก็คือ ‘ผึ้ง’ นั่นเอง

        แต่ในระบบนิเวศจำลองแบบนี้ ผึ้งต้องมีการปรับตัวพอสมควร ไม่ได้จู่ๆ เอามาปล่อยแล้วมันจะทำงานได้ทันที มีฟาร์มแนวตั้งหลายแห่งที่พยายามทำแบบเดียวกันแต่ผลลัพธ์ก็ไม่เป็นที่น่าพอใจ พวกเขาต้องหาวิธีทำให้ผึ้งที่เอามาเลี้ยงในฟาร์มนั้นคิดว่าพวกมันอยู่กันตามธรรมชาติ ถ้าทำได้เมื่อไหร่ นั่นคือกุญแจที่จะไขไปสู่การปลูกสตรอว์เบอร์รี่ในฟาร์มแนวตั้งระดับอุตสาหกรรมได้จริงๆ

        หลังจากเรียนจบในเดือนพฤษภาคม 2017 ทั้งคู่ได้ระดมเงินทุนในรอบแรก ย้ายจากแคลิฟอร์เนียไปนิวเจอร์ซีย์ หลังจากนั้นก็เช่าโกดังโล่งๆ แห่งหนึ่งแล้วเริ่มก่อสร้างฟาร์มแนวตั้งแห่งแรกของพวกเขา แม้ว่าทั้งคู่จะมีอพาร์ตเมนต์สำหรับการพักผ่อน แต่ส่วนใหญ่แล้วแทบจะกินนอนอยู่ที่โกดังนั้น เพื่อคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของต้นกล้าสตรอว์เบอร์รี่ตลอด 24 ชั่วโมงเลย เพราะไม่ได้มีเงินจ้างพนักงาน และถ้าต้นกล้าตายก็ต้องเสียเงินนำเข้ามาจากญี่ปุ่นใหม่อีกครั้ง

        พวกเขาค่อยๆ ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมต่างๆ ในโกดังให้เหมือนกับช่วงฤดูใบไม้ผลิในเทือกเขาประเทศญี่ปุ่น สังเกตการตอบสนองของต้นสตรอว์เบอร์รี่ ใช้เซนเซอร์เพื่อวัดค่าต่างๆ ตั้งแต่อุณหภูมิ คาร์บอนไดออกไซด์ ความชื้นในอากาศ และอะไรอีกมากมายที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่ตัวเลขขยับก็จะส่งสัญญาณไปยังสมาร์ตโฟนของทั้งคู่ บางทีวิ่งหน้าตั้งมาที่โกดังตอนตีสามเพราะเซนเซอร์วัดค่าพลาดก็มีเช่นกัน

        ระหว่างช่วงเวลานั้น โคงะก็คอยติดต่อผู้เชี่ยวชาญเรื่องฟาร์มแนวตั้งที่เขาเคยทำงานด้วยตอนที่อยู่ญี่ปุ่นอยู่เรื่อยๆ เพื่อขอคำแนะนำ

        จนกระทั่งวันหนึ่ง พวกเขาก็สังเกตเห็นผึ้งบินมาเกาะที่ดอกไม้โดยพวกเขาไม่ต้องบังคับเลย

        “เราตะโกนเสียงดังมาก มันเป็นช่วงเวลาแห่งความดีใจอย่างแท้จริง”

        แต่นั่นเป็นก้าวแรกเท่านั้น ความท้าทายยังไม่จบแค่นั้น

        “แต่มันยังมีความท้าทายอีกมากมายเลยแม้ว่าผึ้งจะเกาะบนดอกไม้ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะทำตลอด แล้วถ้าผึ้งบินมาเกาะบนดอกไม้มากเกินไป มันก็จะเกิดการผสมเกสรที่มากเกินไป หรือถ้าไม่มาเกาะมันก็ไม่เกิดการผสมเกสรขึ้น และคุณก็อยากให้ผึ้งผสมเกสรทุกอย่างสมบูรณ์ มันเลยเป็นวงจรการทดลองและพัฒนาที่ยาวนานแสนสาหัสเลย”

        แน่นอนว่าขั้นตอนโดยละเอียดคือความลับที่ Oishii ไม่สามารถเปิดเผยให้คนอื่นรู้ได้ แต่ซอเมอร์วิลล์บอกว่าพวกเขาใช้หุ่นยนต์เพื่อคอยเช็กจำนวนดอกไม้ที่เกิดขึ้นและเซนเซอร์ที่รังผึ้งเพื่อคอยเช็คว่าผึ้งนั้นมีความสุขดีในระบบนิเวศที่จำลองขึ้นมานี้ เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการผสมเกสรอย่างที่พวกเขาต้องการ

ภาพ: Oishii.com

Tesla of Strawberries

        หนึ่งปีครึ่งหลังจากที่พวกเขาเริ่มทดสอบไอเดียและลองทำฟาร์มแนวตั้งของสตรอว์เบอร์รี่ ในที่สุดโคกะและซอเมอร์วิลล์ก็ได้ผลผลิตล็อตแรกของ Oishii ออกสู่ตลาด โดยตั้งชื่อว่า Omakase Strawberry ที่รสชาติหวานฉ่ำเหมือนกับสตรอว์เบอร์รี่ที่มาจากตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่นแถมไม่พอยังใช้พื้นที่ปลูกน้อยกว่าถึง 90% แถมไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลงเลยอีกด้วย

        วางขายอยู่ที่ 50 ดอลลาร์ฯ หรือราว 1,800 บาท ต่อถาดแปดลูก

        ความหวานของสตรอว์เบอร์รี่ของพวกเขาใช้มาตรวัดเป็น ‘brix’ อยู่ที่ราวๆ 14 brix ซึ่งสูงกว่าสตรอว์เบอร์รี่ในตลาดทั่วไปถึง 2-3 เท่า

        แน่นอนว่าด้วยราคา รสชาติ และความสวยงามของสตรอว์เบอร์รี่อันแดงฉ่ำ ใครก็ตามที่ได้ลองชิมจะต้องพูดถึง Omakase Strawberry ของ Oishii อย่างแน่นอน กระแสโซเชียลมีเดียยิ่งทำให้คนอยากรู้ว่าสตรอว์เบอรี่ลูกละ 6 ดอลลาร์ฯ (220 บาท) มันรสชาติเป็นยังไง ทำให้ชื่อเสียงของ Oishii กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นผลไม้ที่นำมาเสิร์ฟในดินเนอร์หรู ภัตตาคาร หรือเชฟเทเบิล

        เชฟที่มีชื่อเสียงนำไปทำเป็นขนม เซเลบชื่อดังโพสต์เกี่ยวกับสตรอว์เบอร์รี่เหล่านี้บนโลกออนไลน์ มีเท่าไหร่ก็ขายไม่พอ ยิ่งทำให้มันหายาก ยิ่งกลายเป็นของฝากอันล้ำค่า ใครได้ชิมจะพูดถึงเจ้าสตรอว์เบอร์รี่นี้ว่ามันอร่อยสมกับการรอคอย บางคนถึงขั้นยอมจ่ายมากกว่าราคาป้ายเพื่อให้ได้ชิมสักครั้งในชีวิต

        เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา Oishii ได้เงินระดมทุนรอบซีรีส์ A ไปประมาณ 50 ล้านดอลลาร์ฯ และพยายามขยายกำลังการผลิตให้มากขึ้นในระดับอุตสาหกรรมให้ได้ จนสื่อมากมายเรียกพวกเขาเล่นๆ ว่า ‘Tesla of Strawberries’ ซึ่งโคงะและซอเมอร์วิลล์ต่างก็รู้สึกดีใจกับชื่อตรงนี้เพราะมันแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นมีคุณค่ามากแค่ไหน

        นอกจากจะขยายแรงงานการผลิตของ Omakase Strawberry แล้ว อนาคตต่อจากนี้ทีมของ Oishii จะเริ่มทดลองปลูกสายพันธุ์ในราคาที่แตกต่างกันเพื่อทดสอบตลาดอีกด้วย อย่างเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการเปิดตัว First Flower Berries ที่เป็นสตรอว์เบอร์รี่สายพันธุ์เดียวกันแต่เป็นผลที่มาจากดอกแรกของต้น ทำให้ลูกโตและหวานฉ่ำกว่าเพื่อน ขายในราคาถาดละ 60 ดอลลาร์ฯ (ราว 2200 บาท) ซึ่งก็ขายหมดเกลี้ยงเช่นเดียวกัน

        ตอนนี้ทั้งโคงะและซอเมอร์วิลล์ต่างก็เชื่อว่านี่เป็นก้าวแรกที่สำคัญ มันเป็นการเริ่มต้นที่ดีและประสบความสำเร็จเกินกว่าที่พวกเขาคาดเอาไว้ สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือค่อยๆ ออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ทำให้แบรนด์ Oishii แข็งแกร่งขึ้น มีนักลงทุนติดต่อเข้ามาจากทั่วโลกขอเป็นพาร์ตเนอร์แต่พวกเขาก็ไม่ได้รีบร้อนที่จะเติบโต

        ความสำเร็จก็อาจจะเหมือนการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ที่ไม่ควรเร่งรัด ต้องคอยปรับจูนสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมสำหรับการเติบโต รอให้ทุกอย่างเข้าที่ อุณหภูมิ ความชื้น น้ำ แสง จนดอกไม้ได้มีโอกาสเติบโตเต็มที่ และเมื่อถึงเวลาของมัน… ผึ้งจะบินลงมาเกาะโดยไม่ต้องบังคับมันเลย


เรื่อง: โสภณ ศุภมั่งมี