Pavegen บริษัทผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบยั่งยืน ที่ได้จาก ‘การก้าวเดิน’ ของผู้คน

โดยเฉลี่ยแล้วมนุษย์คนหนึ่งก้าวเดินกันวันละประมาณ 4,961 ก้าว (ผู้ชายอาจจะเยอะกว่าผู้หญิงอยู่นิดหน่อย) ในประเทศไทยก็อยู่ที่ราวๆ 4,764 ก้าว ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย แต่จะว่าไป ก็ไม่ได้แย่มากเท่าไหร่ เพราะถ้าเทียบกับประชากรกว่า 70 ล้านคนแล้ว คนไทยทั้งประเทศก็เดินประมาณ 330 ล้านก้าวต่อวัน แม้แต่ละคนจะก้าวมากบ้างน้อยบ้าง แต่ถ้ารวมกันแล้วทั้งประเทศหรือทั่วโลก ก็อาจกลายเป็นจำนวนก้าวที่มหาศาลต่อวัน

        แล้วถ้าเราสามารถทำประโยชน์จากมันได้ล่ะ?

        นั่นคือคำถามที่เกิดขึ้นในหัวของ ลอเรนซ์ เคมบอลล์-คุก (Laurence Kemball-Cook) CEO ของบริษัท Pavegen ที่ตั้งเป้าหมายในการดึงเอาพลังงานจากสิ่งที่เราทำทุกวันอยู่แล้วอย่างการก้าวเดิน มาเปลี่ยนมันเป็นพลังงานสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งหนึ่ง

ภาพ: www.pavegen.com

        แรงบันดาลใจอันน่าทึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่ลอเรนซ์กำลังศึกษาด้านการออกแบบและเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัย ทุกวันเขาจะต้องเดินอย่างผ่านสถานีรถไฟ Victoria ในลอนดอนและสังเกตเห็นว่ามีผู้คนมากมายเดินขวักไขว่นับเป็นแสนๆ ก้าวในพื้นที่อาคารแห่งนั้น แต่ไม่เคยมีใครสนใจจะใช้ประโยชน์จากพลังงานจลน์ที่เกิดขึ้นจากการก้าวเดินเลย (Kinetic Energy – พลังงานจลน์คือพลังงานที่เกิดกับวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ เช่น รถยนต์กำลังแล่น เครื่องบินกำลังบิน วัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ล้วนมีพลังงานจลน์ทั้งสิ้น ปริมาณพลังงานจลน์ในวัตถุจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับมวลและความเร็วของวัตถุนั้น) 

        พลังงานจลน์ที่เกิดจากการเดินนั้นผลักให้เราเดินไปข้างหน้า แต่หลังจากนั้นพลังงานจลน์ไม่ได้หายไปไหน มันแค่ถูกย้ายไปที่อื่น จินตนาการเหมือนก้อนพลังงานที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเมื่อเราเดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ โดยปกติแล้วก้อนพลังงานตรงนี้ก็จะถูกดูดซับลงไปในพื้นดินนั่นเอง ซิเอรา ซานเทรย์ (Ciara Chantrey) หนึ่งในทีมงานด้านการตลาดของ Pavegen บอกว่า

        “พลังงานทั้งหมดนี้ไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์เลย”

        จึงเกิดเป็นไอเดียขึ้นมาในหัวของลอเรนซ์ที่จะสร้างทางเท้าสำหรับกักเก็บพลังงานจากการก้าวเท้าแล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง พูดง่ายๆ แค่การเดินปกติของเราทุกวันสามารถทำให้ไฟข้างทางหรือทีวีสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องสร้างพลังงานใหม่ๆ ขึ้นมาเลย

        Pavegen ก่อตั้งในปี 2009 ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครเชื่อลอเรนซ์เลยว่าไอเดียนี้จะทำได้สำเร็จ เขาพยายามสร้างตัวต้นแบบ (Prototype) ขึ้นมาโดยไม่มีเงินลงทุนจากภายนอกเลย แรกเริ่มเดิมทีมันเป็นแผ่นทางเท้ารูปทรงสามเหลี่ยมที่มุมจะมีตัวรับน้ำหนัก หรือแรงเหยียบเพื่อกักเก็บแล้วเปลี่ยนไปเป็นพลังงานที่ใช้งานได้ เขาเล่าถึงช่วงเวลานั้นว่าไม่มีคนสนใจ พอไปขอทุนจากรัฐบาลประเทศอังกฤษก็ได้คำตอบที่บั่นทอนใจว่า “ลืมไปเถอะ มันทำไม่ได้หรอก” แต่เขาไม่ยอมแพ้ แม้ตัวต้นแบบพร้อมทดลองใช้ก็ยังไม่มีคนอยากจ่ายเงินซื้อ เขาเลยคิดหาวิธีที่จะโชว์ให้คนเห็นว่าแผ่นทางเท้ามันทำงานได้จริงๆ สุดท้ายเขาตัดสินใจทำเรื่องผิดกฎหมายเล็กน้อย แอบเข้าไปในไซต์ก่อสร้างแห่งหนึ่งในลอนดอนเพื่อติดตั้ง Pavegen บนทางเท้า พอมีคนมาเหยียบพื้นทางเดินของ Pavegen หลอดไฟก็จะสว่างขึ้น จนกลายเป็นข่าวดังขึ้นมา

        หลังจากที่เขาโพสต์เรื่องนี้ออนไลน์ก็ได้รับการติดต่อจากบริษัท Westfield (ศูนย์การค้าในลอนดอน) ว่าเขาเป็นคนที่ทำเรื่องนี้จริงรึเปล่า ลอเรนซ์ยอมรับว่าเขาเป็นคนรับผิดชอบเรื่องนี้เอง แทนที่จะถูกดำเนินคดีหรือเสียค่าปรับ Westfield กลับสนใจและขอซื้อสินค้าของเขา “พวกเขาถามผมว่าเท่าไหร่ ผมบอก 2 แสนปอนด์ครับ” (ประมาณ 8.6 ล้านบาท) ลอเรนซ์ดีใจมาก เขาไม่เคยทำอะไรที่เสี่ยงแบบนั้นมาก่อนและไม่เคยทำอีกเลย เงินก้อนนั้นคือจุดเริ่มต้นของ Pavegen ที่ทำให้บริษัทมาถึงตรงนี้ได้

        “ผมไม่เคยสร้างบริษัทมาก่อนเลย และก็ไม่เคยมีผลงานอะไร มันเป็นสินค้าที่ยากจะเอาออกมาวางขาย หลายคนไม่คิดว่ามันเป็นไปได้และเทคโนโลยีก็ยากมากด้วย สำหรับผมแล้วจังหวะที่พลิกเลยคือตอนที่ผมแอบเข้าไปยังไซต์ก่อสร้างในลอนดอนตอนใต้แล้วติดตั้งพื้นทางเท้าในนั้นนั่นแหละ จากนั้นมาก็ได้รับเงินสนับสนุนจาก Westfield เพื่อขยายบริษัท”

        ลอเรนซ์ยังอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมเทคโนโลยีที่ดีต่อโลกและมีประโยชน์ถึงไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร

        “ความยั่งยืนคือเหตุผลหลักของการมีอยู่ของบริษัทเราเลย แต่มันมีช่องว่างระหว่างสิ่งที่คนพูดและสิ่งที่พวกเขาทำจริงๆ ยกตัวอย่างแบบนี้ก็ได้ ผมมีผลิตภัณฑ์มูลค่า 10 ปอนด์ แต่ผมขายให้คุณ 11 ปอนด์ และทำให้มันดีต่อสภาพแวดล้อมมากๆ เลย แต่มีคนไม่เยอะหรอกนะที่จะยอมจ่ายเพิ่มอีก 1 ปอนด์ การได้รับทุนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องที่ยากกว่าที่คุณคิด”

ภาพ​: www.pavegen.com

        เขาใช้เวลากว่า 5 ปีเพื่อสร้างโมเดลทางธุรกิจและตอนนี้ Pavegen ได้ขยายโปรเจกต์ทางเดินเท้าของพวกเขาไปแล้วกว่า 36 ประเทศทั่วโลก จากที่ไม่มีใครช่วยเหลือเลย ตอนนี้กลายเป็นต้นแบบของธุรกิจพลังงานสะอาดที่หลายๆ บริษัทใช้เพื่อเป็นแนวทางในปัจจุบัน กลายเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์สมาร์ตซิตี้ในเมืองต่างๆ ทั้งสถานีขนส่ง สนามกีฬา พื้นที่สาธารณะ ออฟฟิศ และห้างสรรพสินค้าต่างๆ (ของไทยก็มีที่ True Digital Park) 

        ที่สำคัญ เส้นทางของ Pavegen กว่าจะมาถึงตรงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

        “ตัวต้นแบบจำนวนมากถูกพัฒนาขึ้นมา” มากกว่า 700 แบบก่อนที่ลอเรนซ์จะทำให้มันออกมาเป็นเหมือนอย่างตอนนี้ กล่าวได้ว่า นี่เป็นหนึ่งในบริษัทเล็กๆ ที่พยายามพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนในสถานการณ์ที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ บนโลกใบนี้ แผ่นพื้นแข็งรูปทรงสามเหลี่ยมที่มุมมีตัวสร้างพลังงานที่เรียกว่า ‘Flywheel’ ทันทีที่คนเหยียบลงไป ตัวล้อที่อยู่ในนั้นจะหมุนอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างพลังงานแล้วไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ที่เชื่อมเอาไว้

        ทุกก้าวที่เหยียบจะสร้างพลังงานราวๆ 2-5 จูล (Joules) ซึ่งด้วยตัวมันเองแล้วถือว่าไม่เยอะเท่าไหร่ เพราะหลอดไฟแบบปกติทั่วไปใช้พลังงานราวๆ 60 จูล/วินาที เพราะฉะนั้น ทางเท้าสั้นๆ ในเมืองคงไม่สามารถสร้างพลังงานได้เพียงพอที่จะทำให้ทั้งเมืองสว่างได้ แต่พลังงานสะอาดเหล่านี้สามารถสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ในพื้นที่เล็กๆ อย่างหลอดไฟข้างทางหรือออฟฟิศ ห้างสรรพสินค้า หรือ อีเวนต์ต่างๆ อย่างการแสดงดนตรีหรือการแข่งขันกีฬา 

        ถ้าพูดอาจจะยังไม่เห็นภาพเท่าไหร่ ลองยกตัวอย่างงานคอนเสิร์ต ที่ปกติคนจะเดินในงานราว ๆ 24 กิโลเมตร หรือราวๆ 30,000 ก้าว ในปี 2019 มีคนไปงานคอนเสิร์ต ‘Electric Zoo’ ในนิวยอร์กกว่า 107,000 คน เทียบเป็นราวๆ 3,200 ล้านก้าวเพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ และงานคอนเสิร์ตแบบนี้ก็ใช้พลังงานอย่างมากสำหรับไฟ เครื่องเสียง ร้านอาหารข้างทาง และหน้าจอทั้งหลาย ซึ่งถ้ามีการติดตั้ง Pavegen เข้าไปในอีเวนต์เหล่านี้จะช่วยลดการใช้พลังงานได้ไม่น้อยเลย

ภาพ​: www.pavegen.com

        เป้าหมายหลักของ Pavegen ยังคงเป็นสมาร์ตซิตี้ที่อยากพัฒนาพื้นที่เพื่อใช้พลังงานสะอาดมาเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม โดยทีมได้ติดตั้งทางวิ่งแบบถาวรที่ฮ่องกงและกำลังทำในฟิลิปปินส์ แท่นชาร์จโทรศัพท์มือถือในสถานีรถไฟในอังกฤษ สนามฟุตบอลในประเทศไนจีเรีย แต่ก็กำลังขยายไปสู่ตลาดอื่น ๆ ด้วยอย่างพื้นที่ข้างถนนหรือในพื้นที่ห่างไกล

        ข้อจำกัดของ Pavegen ในตอนนี้คือเรื่องค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบกับพลังงานที่กลับคืนมาแล้วถือว่ายังแพงอยู่ แต่ไอเดียดีๆ ของลอเรนซ์ก็กลายเป็นต้นกำเนิดของแรงบันดาลใจให้กับบริษัทอื่นๆ เช่นกัน อย่างในอินเดียก็มีบริษัทหนึ่งที่สร้างอุปกรณ์คล้ายๆ กับของ Pavegen แต่สร้างพลังงานมากกว่าสามเท่า หรืออย่างในยุโรปก็มีนักวิทยาศาสตร์ที่สร้างพื้นไม้ที่สร้างพลังงานไฟฟ้าได้จากการเหยียบเช่นกัน นอกเหนือจากเรื่องราคาแล้ว ยังมีเรื่องความแข็งแรงของ Pavegen ที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่ เพราะตรงมุมของแผ่นจะมีสปริงสำหรับสร้างพลังงาน มันเป็นจุดเปราะบางและไม่ได้แข็งแรงเท่ากับพื้นทางเดินธรรมดา เมื่อเทียบกันในระยะยาวแล้วการสร้าง Pavegen จึงมีค่าใช้จ่ายที่สูงและต้องมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาด้วย

        ถึงยังไงก็ตามสิ่งที่ Pavegen สร้างขึ้นมานั้นถือเป็นก้าวแรกที่เต็มไปด้วยความหวัง มันได้เปิดประตูให้กับเทคโนโลยีสีเขียวที่ชี้ให้เห็นว่าพลังงานสะอาดสามารถสร้างขึ้นมาได้ เพียงแค่เราต้องรู้จักสังเกตและมองหาวิธีเก็บเอามาใช้ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของธุรกิจและประชาชนทั่วไปอาจจะไม่เพียงพอที่จะชะลอภาวะโลกร้อนที่โหดร้ายขึ้นทุกวันได้ แต่ถ้ามีเทคโนโลยีสีเขียวที่ทำให้โลกนี้สะอาดขึ้นไปด้วยอาจจะพอมีโอกาสเป็นไปได้

        พวกเขาเพิ่งฉลองการเก็บพลังงานก้าวสำคัญที่ 500 ล้านก้าวไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เส้นทางข้างหน้าของ Pavegen ยังมีอุปสรรคขวางทางอีกไม่น้อย แต่ที่ผ่านมาลอเรนซ์ทำให้เห็นแล้วไม่ว่าเส้นทางมันจะขรุขระมากขนาดไหน แม้จะไม่มีใครเคยเชื่อเลยว่าเขาจะทำได้ แต่ถ้าเขาเชื่อมั่นมากพอก็ยังคงคุ้มค่าที่จะก้าวต่อไป


อ้างอิง:

https://www.pavegen.com/about
https://www.pavegen.com/en/case-studies/truedigitalcity
https://impakter.com/pavegen-paving-way-sustainability
https://www.freshbusinessthinking.com/inspiration/from-crime-to-dime-pavegen-founder-laurence-kemball-cook-tells-his-crazy-startup-story/48138.article
https://www.wired.com/2016/06/best-new-gren-energy-tech-right-underfoot
https://www.forbes.com/sites/kittyknowles/2018/03/27/the-tesla-of-smart-cities-inside-pavegens-5m-mission-to-supercharge-your-sidewalks
https://www.cnet.com/science/how-every-step-you-take-could-reduce-earths-carbon-footprint
https://www.medicalnewstoday.com/articles/average-steps-per-day#increasing-steps
https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/fitness/in-depth/10000-steps/art-20317391
https://www.thegentlemansjournal.com/laurence-kemball-cook
https://www.youtube.com/watch?v=phJOZbkP_gg
https://www.billboard.com/music/music-news/electric-zoo-welcomed-over-107000-fans-to-randalls-island-park-8529052
https://www.youtube.com/watch?v=E81zU-VtkD8
https://www.newscientist.com/article/2288670-wooden-floors-laced-with-silicon-generate-electricity-from-footsteps
https://www.hotwireglobal.it/blog/purpose-increasingly-important-successful-businesses

เรื่อง: โสภณ ศุภมั่งมี