จากสถิติโดยเฉลี่ยจากองค์กรสหประชาชาติ (United Nations) บ่งชี้ว่า ครึ่งหนึ่งของผักและผลไม้ที่ผลิตออกมานั้นจะกลายเป็นขยะเหลือทิ้งในแต่ละปี คิดเป็นมูลค่าราวๆ 5 แสนล้านเหรียญฯ นี่คือปัญหาระดับโลกที่ทุกคนกำลังเผชิญกันอยู่อย่างไม่รู้ตัว วิถีชีวิตที่วุ่นวายของเรานั้นทำให้เราไม่ทันได้หยุดคิดว่าอาหารที่เรากินนั้นมาจากไหนบ้าง และสิ่งที่เหลือจากที่กินที่ใช้นั้นไปอยู่ที่ไหน หรือบางทีเก็บรักษาไม่ดี เน่าทิ้งไปก็ไม่น้อยเช่นเดียวกัน
ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระยะแรกๆ เราเห็นความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นกับอุปสงค์ของผู้บริโภค สถานการณ์ที่เลวร้ายเกิดการล็อกดาวน์ มีการปิดโรงเรียน ร้านอาหาร และธุรกิจต่างๆ ทำให้คนทั่วไปตกใจรีบไปกักตุนอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่สถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ด้วยความต้องการที่มากเกินไป ทำให้ซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ เริ่มของขาด ชั้นวางโล่ง ของขาดตลาด กลายเป็นข่าวลือแพร่สะพัดว่าตอนนี้อาหารของใช้กำลังจะขาดตลาด ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเป็นเพียงความต้องการของตลาดที่พุ่งสูงเกินปกติ จนทำให้การขนส่งสินค้ามาเติมได้ไม่ทันกับสถานการณ์ต่างหาก และกลายเป็นว่ายิ่งผู้บริโภคทั่วไปซื้อของไปตุนไว้ที่บ้าน ขยะของอาหารก็ยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้นไปด้วยเพราะการจัดเก็บที่ไม่ได้มาตรฐาน
ในส่วนความเสียหายทางฝั่งของเกษตรกรก็สูงขึ้นเช่นเดียวกันในช่วงการระบาดครั้งนี้ เหตุผลมาจากการล็อคดาวน์ ร้านอาหารเล็กๆ ถูกสั่งปิด ธุรกิจก็ล้มลงตามมา (ตามสถิติเมื่อปี 2019 มีร้านอาหารประมาณ 4 แสนร้านก่อนโควิด ตอนนี้ปิดไปแล้วกว่า 1.2 แสนร้าน หรือประมาณ 30-40%) นอกจากนี้โรงเรียน คาเฟ่ บาร์ ออฟฟิศ หรือแม้แต่สวนสนุกต่างๆ ก็จำกัดการสั่งซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกร กลายเป็นว่าผลผลิตที่ปลูกออกมานั้นกลับไม่มีที่ปล่อยขาย ถ้าไม่โยนทิ้งก็ถูกปล่อยให้เน่าคาต้นเพราะไม่มีคนรับซื้อ มันเป็นเรื่องที่ยากมากเลยที่จะหาแหล่งรับซื้อสินค้าในเวลาอันสั้น หรือถ้าจะขยับไปขายให้กับซูเปอร์มาร์เกตที่ของขาดตลาดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านขั้นตอนการคัดเลือกและคัดเกรดอาหารเพื่อเข้าไปวางบนชั้น ซึ่งก็เป็นหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดขยะอาหารโดยที่เราทุกคนอาจจะไม่รู้ตัว
ด้วยความช่างเลือกของผู้บริโภคอย่าง ‘คุณและผม’ เวลาเราไปซื้อผักผลไม้ที่ตลาดหรือซูเปอร์มาร์เกต เรามักจะเลือกผักผลไม้ที่มีลักษณะสวย ผลโตๆ ฉ่ำๆ ผิวไม่ช้ำ ไม่หมอง เราในฐานะผู้บริโภคที่เต็มไปด้วยทางเลือกนั้นคุ้นเคยกับการเลือกสินค้าจากลักษณะภายนอก โดยที่ไม่สนใจหรอกว่าเมื่อนำไปทำอาหารหรือผ่านกระบวนการแล้วรสชาติของผักผลไม้ที่ไม่สวยนั้นก็ยังอร่อยอยู่ดี ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ เหล่าผลไม้ที่ ‘น่าเกลียด’ จะถูกทิ้งเอาไว้บนชั้นจนต้องโยนทิ้ง หรือบางทีไม่ผ่านการคัดเอามาขายเลยตั้งแต่แรก ซึ่งผักผลไม้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกตั้งแต่ฟาร์มก่อนจะถูกบรรจุลงในกล่องเหล่านี้มีศัพท์เรียกว่า ‘Culls’
ซึ่งผักผลไม้ที่ถูกคัดออกนี้มาจากเกณฑ์หลายๆ อย่าง ตั้งแต่รูปทรงไม่สวย ขนาดไม่ได้มาตรฐาน สีเพี้ยน สุกไปดิบไป หรือมีรอยด่างรอยช้ำต่างๆ นานา คือเป็นผักผลไม้ที่เวลาเอาไปวางบนชั้นแล้วจะไม่มีคนเลือก เมื่อเกษตรกรลงทุนปลูกผักผลไม้เหล่านี้ขึ้นมา ขนไปที่โรงคัด บางส่วนที่ขายได้ก็จะถูกใส่กล่องเพื่อขนส่งไปยังจุดจำหน่าย ส่วนที่ถูกคัดแยกออกมาก็ถูกนำไปแปรรูปต่อ เช่น ทำเป็นแยม ใช้ทำขนม เป็นไส้ของหวาน เป็นอาหารกระป๋อง หรือบางส่วนถูกนำไปเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์แทน แต่ด้วยความที่ผลกำลังการผลิตที่มากขึ้นเรื่อยๆ ผักผลไม้ที่ถูกคัดทิ้งจึงเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปีด้วยเช่นกัน แต่ความต้องการของอาหารแปรรูปหรืออาหารสัตว์นั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย สุดท้ายผักผลไม้ที่ถูกคัดออกก็จะถูกทับถมเป็นขยะเน่าเสียทิ้งในที่สุด ซึ่งเมื่อคิดถึงจุดนั้นว่าผักผลไม้ที่ยังมีคุณภาพแต่กลับถูกโยนทิ้งเป็นขยะเพียงเพราะมันไม่สวย เป็นเรื่องที่น่าสลดใจอย่างมาก และมันควรมีทางแก้ไขปัญหาที่ดีกว่านี้
ภาพ: http://thegrowerstable.com
เบน มัวร์ (Ben Moore) ทหารผ่านศึกของสหรัฐอเมริกาและทายาทรุ่นที่สี่ของฟาร์มในเมือง Kingsburg รัฐแคลิฟอร์เนีย ก็คิดเช่นเดียวกัน เมืองเล็กๆ แห่งนี้อยู่ลงมาทางใต้จากเมืองซานฟรานซิสโกประมาณ 320 กิโลเมตร เป็นเมืองเกษตรกรรมเล็กๆ ที่อยู่มาหลายร้อยปีแล้ว มีชื่อเสียงทั้งพืชผักทั่วไปและแบบออร์แกนิก ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของที่นี่คือมะกอก องุ่น อัลมอนด์ องุ่นทำไวน์ และผลไม้ต่างๆ
เขาและพี่ชายอีกสองคนเติบโตมาในฟาร์มด้วยกัน เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานหนักและหน้าที่การรับผิดชอบต่างๆ ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เบนบอกว่าตอนที่เขาอายุได้ประมาณแปดขวบ มีวันหนึ่งที่พ่อของเขาบอกให้ทุกคนอยู่บ้านแล้วออกมาช่วยกันเก็บองุ่นเพื่อทำลูกเกด เพราะมีการคาดการณ์ว่าฝนจะตกในวันต่อไป พวกเขาต้องหยุดเรียนเพื่อช่วยพ่อทำงานเพราะถ้าฝนตกแล้วยังเก็บไม่เสร็จจะส่งผลเสียต่อตัวองุ่นเป็นอย่างมาก
ตลอดช่วงวัยรุ่นเบนจะใช้เวลาในฟาร์มตลอดช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และฤดูร้อนเพื่อช่วยพ่อเก็บเกี่ยวผลไม้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถแทร็กเตอร์ และตัดแต่งกิ่งของเถาองุ่น ซึ่งในช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 4 เบนกับทีมของเขาได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันรายการตัดแต่งเถาองุ่นใน California FFA (Future Farmers of America) พ่อของเขาก็เคยได้รับรางวัลเดียวกันในยุค 80s รางวัลนี้เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าเบนนั้นทุ่มเทและใส่ใจในการทำงานในฟาร์มมากขนาดไหน
หลังจากจบมัธยมปลาย เขาก็ไปเรียนต่อที่ Azusa College จนจบแล้วก็ไปปฏิบัติหน้าที่ทหารให้กับกองทัพ ระหว่างที่ปฏิบัติการอยู่นั้น เขาได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถทำหน้าที่ต่อได้ เบนกลับมาที่บ้านเพื่อเริ่มทำธุรกิจขนส่งผักผลไม้ของตัวเองชื่อว่า Big Ben Farms โดยเขาไปร่วมมือกับเกษตรกรในท้องถิ่นกับโรงงานคัดแยกและบรรจุหีบห่อเพื่อช่วยขนเอาผักผลไม้ที่ถูกคัดออกนำไปทิ้งให้ (พวก Culls ทั้งหลายนั่นเอง)
ทุกวันเบนจะต้องขนผักผลไม้ที่ไม่ถูกเลือกกว่า 25 ตันไปทิ้งที่กองถมขยะในเมือง ในใจเขาเริ่มคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ควรจะมีทางแก้ไขที่ดีกว่านี้ ทุกคนนำผักผลไม้ที่ถูกคัดออกไปทิ้งเพียงเพราะมันไม่สวยแค่นั้น ไม่ใช่เพราะมันไม่ดีหรือเพราะมันเสีย แต่เพียงแค่เปลือกนอกของมันไม่ได้มาตรฐานความงามที่สังคมยอมรับได้
เบนทำอย่างนี้วันแล้ววันเล่า จนกระทั่งเขารู้สึกแย่กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพราะผักผลไม้เหล่านี้ยังใช้ได้ มีประโยชน์ ทั้งแร่ธาตุและคุณค่าทางอาหารก็ยังอยู่ครบ เขาพยายามหาทางออกกับปัญหาที่อยู่ตรงหน้านี้
จนกระทั่งในฤดูร้อนปี 2017 มีข่าวเฮอริเคนพัดทำลายเมืองฮูสตันและเปอร์โตริโก ทำให้เขาตระหนักถึงความเดือดร้อนของผู้คนที่ตกอยู่ในภาวะอดอยาก ข่าวของผู้คนที่หิวโหย ไม่มีน้ำ ไม่มีอาหาร ทำให้เขารู้สึกว่าสถานการณ์มันเลวร้ายขนาดไหน ในขณะที่อาทิตย์เดียวกันนั้น เขาก็ได้ทิ้งผักผลไม้ที่ถูกคัดออกเพราะไม่สวยทิ้งไปแล้วกว่า 300,000 กิโลกรัม เขาเหมือนอยู่ตรงกลางระหว่างความขัดแย้งของสองฝั่ง ด้านหนึ่งคือผู้ที่หิวโหยไม่มีอาหารจะกิน ส่วนอีกด้านหนึ่งคืออาหารเหลือมากมายแต่กลับโยนทิ้งลงในบ่อขยะ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกโกรธเคืองในจิตใจเมื่อเห็นอาหารเหล่านี้ถูกทิ้งโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์เพียงเพราะขนาดมันเล็กไป หรือมีรอยบนผิวเพียงเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่อีกหลายล้านคนกำลังหิวโหย
ภาพ: http://thegrowerstable.com
เขาจึงตัดสินใจลงมือทำอะไรสักอย่างกับเรื่องนี้ และในปี 2018 นั้นเอง เขาก็ก่อตั้งบริษัทชื่อว่า The Ugly Company (ได้แรงบันดาลใจมาจากการที่เอาผลไม้ที่ ‘น่าเกลียด’ มาทำให้มันเกิดประโยชน์นั่นเอง) สิ่งที่พวกเขาทำคือกระบวนการที่เรียกว่า ‘Upcycle’ ซึ่งหมายถึงนำสินค้าที่เหลือทิ้งมาใช้ทำให้เกิดประโยชน์ โดยเบนเอาผักผลไม้เหล่านี้มาแปรรูปให้เป็นขนมทานเล่นที่ดีต่อสุขภาพ
ผักผลไม้เหล่านี้ปลูกในแคลิฟอร์เนียและได้รับการรับรองโดย USDA (กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา) เป็นธรรมชาติ 100% และ non-GMO ด้วย ซึ่งหนึ่งซองของผลิตภัณฑ์จาก The Ugly Fruit จะช่วยลดขยะอาหารไปได้ 1 ปอนด์ ถูกวางจำหน่ายตามร้านซูเปอร์มาร์เกตชั้นนำและร้านกาแฟหลายแห่งในแคลิฟอร์เนีย
ถ้าใครเข้าไปที่เว็บไซต์ของ The Ugly Company พวกเขาได้ทำวิดีโออธิบายถึงกระบวนการทั้งหมดให้ฟังอย่างละเอียด ตั้งแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นว่าทำไมถึงมีขยะอาหารที่เหลือทิ้งมากขนาดนี้ เหตุผลต่างๆ ที่เกษตรกรไม่สามารถขายผลผลิตที่สร้างขึ้นมาได้ทั้งหมด การจะเอาไปบริจาคบางทีก็ไม่ได้เป็นทางเลือกที่ทำได้เพราะศูนย์รับบริจาคไม่มีกระบวนการจัดการและกระจายผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากพอ แถมผลไม้บางชนิดก็ไม่ได้เหมาะสำหรับการไปทำปุ๋ยสักเท่าไหร่
อีกประเด็นหนึ่งที่พวกเขาพยายามทำคือการสนับสนุนให้ผู้บริโภคต่อต้านการสร้างขยะอาหารและนำคุณค่ากลับคืนสู่ฟาร์ม สังคมที่เราอยู่นั้นมีความเข้าใจแบบผิดๆ ว่า ผักผลไม้นั้นต้องไร้ตำหนิเท่านั้นถึงจะเหมาะกับการรับประทาน The Ugly Company อยากให้คนเข้าใจว่าความต้องการของผักผลไม้ที่ ‘สวยงาม’ นั้นเป็นต้นเหตุของขยะอาหารมากขนาดไหน แถมยังทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลงไปด้วย สิ่งที่เบนและบริษัทของเขาทำนั้นอาจจะดูเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปัญหาขนาดมหึมา แต่อย่างน้อยๆ พวกเขาก็เริ่มลงมือทำอะไรบางอย่าง แม้รายได้จะยังไม่มากนัก (ประมาณ 250,000 เหรียญฯ ต่อปี หรือประมาณ 8.5 ล้านบาท) แต่ก็ทำให้คนอื่นๆ ได้ตระหนักว่าทุกคนสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ได้ ถ้าทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น ขยะอาหารที่เหลือทิ้งก็จะลดลงอย่างมาก
ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากคนใดคนหนึ่ง เราทุกคนคือต้นเหตุของปัญหา 800 ล้านคนบนโลกใบนี้ยังคงอยู่ในสถานะยากจนและหิวโหย ทั้งๆ ที่เรามีอาหารเหลือทิ้งและขยะอาหารที่สามารถกินได้มากมายทั่วโลก เรามีอาหารที่มากเพียงพอที่จะเลี้ยงคนทั้งโลก แต่เราไม่มีโครงสร้างเพื่อกระจายอาหารเหล่านั้นได้อย่างทั่วถึง เกษตรกรไม่ควรทำธุรกิจเพียงเพื่อจะเลี้ยงดูผลผลิตมาแล้วให้มันเน่าตายคาต้น หรือเหลือทิ้งในหลุมขยะเพียงเพราะมันขายไม่ได้หรือเปลือกนอกมันไม่สวยงาม นอกจากขยะมากมายที่เกิดขึ้นแล้ว พลังงานและแรงงานที่ถูกใช้ไปเพื่อสร้างผลผลิตเหล่านี้ก็กลายเป็นมลภาวะที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนเลิกตัดสินคุณค่าของผักผลไม้แค่เปลือกนอกที่สวยงาม และใช้คุณค่าของมันข้างในให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด
อ้างอิง:
–https://thegrowerstable.com/an-ugly-solution-for-our-food-waste-problem/
–https://www.unep.org/thinkeatsave/get-informed/worldwide-food-waste
–https://www.youtube.com/watch?v=4vcoUygAEPM
เรื่อง: โสภณ ศุภมั่งมี