กฎ 3 ข้อ

ถ้าอยากมีรายได้เพิ่มที่ดีขึ้น ต้องทำลายกฎ 3 ข้อนี้ซะ!

ผมมีโอกาสอ่านแนวคิดของ แลร์รี สมิธ (Larry Smith) ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวอร์เตอร์ลู ที่ถูกถอดความมาจาก TED Talk ในประเด็นที่ว่า ทำไมเราถึงไม่สามารถได้ทำงานดีๆ หรือรายได้ดีๆ ซึ่งเขาพูดไว้ได้อย่างน่าสนใจมาก โดยเฉพาะกับคนวัยทำงานอย่างพวกเรา โดยประเด็นหลักที่สมิธบอกไว้คือการต้องเลิกยึดติดนิสัยและความเคยชินเดิมๆ 3 ข้อดังนี้ 

 

1. คิดเยอะ คิดได้ แต่ไม่ยอมลงมือทำ

        ข้อนี้ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเรื่องความคิดใครๆ ก็อาจมีแนวคิดที่ใกล้เคียงกับเรา แต่การ execution หรือการนำความคิดมาทำให้เกิดเป็นรูปเป็นร่างก่อนใครนี่แหละที่สำคัญ เพราะมันจะต่อยอดให้เราเห็นจุดที่ควรปรับปรุงและพัฒนาต่อยอดกับไอเดียที่เคยคิดไว้ให้คมไปอีกขึ้นนั่นเอง ซึ่งแตกต่างจากคนที่คิดอยู่แต่ในอากาศหรือกระดาษ ที่จะเห็นผลลัพธ์และผลกระทบเพียงไม่กี่มิติ เพราะยังไม่เจอสภาพแวดล้อมมาเป็นตัวเร่งนั่นเอง 

 

2. การติดอยู่กับกรอบเดิมๆ

        ผมคิดว่าข้อนี้เป็นข้อที่อันตรายสำหรับยุคสมัยนี้เป็นอย่างมาก ยิ่งยุคนี้เข้าสู่คอนเซ็ปต์ Lifelong Learning ด้วยแล้ว เรายิ่งต้องออกจากกรอบเดิม รวมถึงเปิดใจให้ตัวเองได้เรียนรู้สิ่งใหม่ และทดลองด้วยการตั้งสมมติฐานกับตัวเองและงานที่ทำอยู่ด้วย เช่น หน้าที่การงานของเราจะมีโอกาสหายไปในอนาคตอันใกล้หรือไม่ แล้วสิ่งไหนจะมาแทน หรือเราจะต่อยอดอาชีพที่ทำอยู่ทุกวันนี้ไปเป็นอะไรได้บ้าง 

        ยิ่งมีแนวโน้มว่าเราต้องผลัดใบในวิชาชีพกับการเรียนรู้ถี่ขึ้น ยอมแปลว่าไม่ใช่แค่เรียนจบปริญญาแล้วจะสามารถแขวนไว้บนฝาผนังบ้านหรือนอนกอดไว้อย่างอุ่นใจได้ว่า ‘ชีวิตมั่นคง ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว’ หรือไม่ก็ลองดูสถานการณ์ของมหาวิทยาลัยในตอนนี้ว่าพวกเขารู้สึกหนักใจต่อการนำวิชาใหม่ๆ มาสอนเพื่อตามโลกให้ทันมากแค่ไหน นี่คือสัญญาณที่สำคัญยิ่งที่จะชี้ให้เห็นว่าเราหยุดอยู่กับที่เดิม หรือมัวติดอยู่กับกรอบเดิมๆ ไม่ได้ 

 

3. ข้ออ้าง

        ข้อนี้น่าจะเป็นเหตุผลที่สั้นและง่ายดายต่อการทำลายความตั้งใจของเรา ซึ่งผมคงไม่เขียนขยายให้มากความ เพราะเชื่อว่าเป็นเหตุผลที่เราทุกคนรู้กันอยู่แล้ว ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราจะลบข้ออ้างออกไปจากชีวิตได้ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

แนวคิดของมาสโลว์ 

        ขณะที่อ่านเนื้อหาและประเด็นหลักของ แลร์รี สมิธ ผมนึกถึงเนื้อหาในหนังสือ The Farther Reaches of Human Nature ของ อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham H. Maslow) ซึ่งเขียนถึงแนวความคิดสร้างสรรค์ที่มีผลต่อการอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป 

        มาสโลว์ตั้งข้อสังเกตว่า ด้วยความที่เราอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าอดีต การที่เราจะทำสิ่งเดิมที่เคยทำมาก่อนจะไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เราจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนไป และเขายังบอกต่อว่าคนที่ดีที่สุดคือคนที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงและยกเลิกความเคยชินในอดีตและหันมาศึกษาปัญหาปัจจุบัน โดยไม่เอานิสัยและความเคยชินเก่ามาเป็นภาระ ซึ่งเขาเรียกวิธีคิดแบบนี้ว่า ความบริสุทธิ์แบบเด็ก 

        มาสโลว์บอกว่า คนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่มีแรงจูงใจสูง หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีวุฒิภาวะสูง ที่พร้อมจะปรับตัวกลับไปเป็นเด็กอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งหากให้ผมตีความความหมายของมาสโลว์ การกลับไปเป็นเด็กนั้นไม่ได้หมายความว่าการมีพฤติกรรมงอแงหรือเรียกร้องอะไร หากแต่เป็นการลดอุปสรรคของมุมมองต่อความเป็นไปไม่ได้ลง เพราะเด็กคือวัยที่เต็มไปด้วยจินตนาการและเชื่อว่าทุกสิ่งยังเป็นไปได้เสมอ 

        คิดแล้วก็นึกถึงคำที่เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ เปรียบเปรยไว้ว่า ‘ลูกวัวไม่กลัวเสือ’     

        จริงอยู่ที่ว่ายุคนี้อาจจะเป็นยุคที่อยู่ยาก แต่ก็นับว่าเป็นยุคที่เต็มไปด้วยโอกาส ลองถามตัวเองดูว่าเราอยากอยู่ในยุคไหน และเราจะนำคำเตือนของ แลร์รี สมิธ หรือนำแนวคิดของมาสโลว์มาปรับและเปลี่ยนชีวิตในวันนี้อย่างไร