เราไม่ได้กลัวการใช้เงิน แต่เรากลัวการเสียเงินอย่างเปล่าประโยชน์ไปกับสิ่งที่ไม่ได้ช่วยพัฒนาธุรกิจ – วิลเลียม โอเบอร์ตัน
ผมเจอประโยคนี้ของ วิลเลียม โอเบอร์ตัน ในหนังสือ ใช้ข้อจำกัด สร้างชีวิตไร้ขีดจำกัด: Stretch ซึ่งภายในหนังสือเล่มนี้มีข้อคิดหลายอย่างที่น่าสนใจ และพบว่ามันเหมาะกับคอลัมน์นี้เป็นอย่างมาก
โดยอีกหนึ่งคีย์เวิร์ดสำคัญในหนังสือที่สอดคล้องกับเป้าหมายของคอลัมน์ชีวิตและการเงินของเราคือ ‘การประหยัด’ ซึ่งเป็นคำที่หลายคนคุ้นเคยและอาจจะมีการตีความหมายที่แตกต่างกันออกไป โดยมีงานวิจัยเกี่ยวกับความหมายและพฤติกรรมของการประหยัดออกมาด้วย ซึ่งอ่านแล้วพบว่าน่าสนใจมากๆ และคิดว่าน่าจะเป็นเช็กลิสต์พฤติกรรมของผู้อ่านได้หลายๆ คนว่า ‘คุณเป็นคนประหยัดหรือเปล่า’
1. คุณให้ความสำคัญต่อเป้าหมายระยะยาวมากกว่าความสุขระยะสั้น
ที่จริงแล้วข้อนี้เข้าสูตรสุภาษิตไทยอย่าง ‘อดเปรี้ยวไว้กินหวาน’ คือมีความอดทนต่อเป้าหมายในระยะยาวได้ ยิ่งถ้าใครเป็นนักลงทุนจะรู้ได้ว่านี่คือคุณสมบัติอีกข้อที่สำคัญต่อการลดความเสี่ยงด้วยการใช้ระยะเวลาในการถัวเฉลี่ยไปกับการลงทุนควบคู่ไปอย่างต่อเนื่องนั่นเอง และที่สำคัญ การมีความอดทนต่อการใช้เงิน ยังเป็นการฝึกวินัยเพื่อเป็นพื้นฐานต่ออีกหลายๆ เรื่องในชีวิต โดยเฉพาะในยุคที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้าพร้อมให้เราเสียเงินอยู่ตลอดเวลา
2. คุณมักใช้สิ่งของซ้ำมากกว่าจะซื้อของชิ้นใหม่
ข้อนี้สะท้อนให้เห็นถึงการใช้งานต่อสินค้าที่ ‘คุ้มค่า’ โดยคุณจะไม่เปลี่ยนจนกว่าสิ่งของที่ใช้จะชำรุดหรือเสียหาย และถ้าอย่างนั้น ความคิดที่ว่าฉันมีเงินและไม่เดือดร้อนที่จะเปลี่ยนไปใช้ของชิ้นใหม่จะเข้าข่ายไม่ประหยัดหรือเปล่า? – คำตอบคือพฤติกรรมของคุณอาจไม่ได้เข้าข่ายการประหยัดขนาดนั้น เพราะการประหยัดในที่นี้หมายถึงการใช้ของอย่างคุ้มค่าเทียบเท่าหรือมากกว่าราคาที่เหมาะสมกับสถานะต่างหาก และบทสรุปของข้อนี้ก็ไม่ได้ชี้ว่าพฤติกรรมใช้ซ้ำน้อยหรือซ้ำมากจะผิดหรือถูกแต่อย่างใด หากเป็นเพียงพฤติกรรมร่วมกันของคนประหยัดจากกลุ่มตัวอย่างที่ได้ทำการศึกษามาเท่านั้น
3. คุณมักไม่นิยมทำข้อปฏิบัติเดิมๆ
หมายถึงการไม่ยึดติดหรือนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคุณค่าที่สังคมเป็นตัวกำหนดและกระตุ้น หรือบอกให้เราต้องมีรสนิยมหรือต้องมีวัตถุสิ่งของที่อยู่ในกระแส เช่น หากโทรศัพท์มือถือเครื่องเดิมของเรายังใช้งานได้เป็นปกติ เราก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้รุ่นใหม่ล่าสุดตามกระแสนิยม และอีกหนึ่งข้อคิดที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าคุณเป็นคนประหยัดก็คือ ความภูมิใจที่ได้ใช้ในสิ่งที่ตัวเองมีอย่างคุ้มค่าและการรู้ตัวว่าชีวิตของเราต้องการอะไรกันแน่
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เงินอย่างประหยัด อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้เป็นชุดข้อมูลที่นำมาจากการทดลองและสังเกตจุดร่วมที่สะท้อนออกมาเหมือนกัน ดังนั้น อาจจะตรงบ้างหรือไม่ตรงบ้างต่อนิยามการประหยัดของใครหลายคน ซึ่งถ้าหากผู้อ่านมีเทคนิคหรือนิยามใหม่ๆ ก็สามารถแชร์มาให้เราได้เช่นกัน เพราะการประหยัดนับเป็นสิ่งที่หลายชีวิตที่อยู่ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันกำลังต้องการเป็นอย่างมาก