เปลี่ยนแปลงตัวเอง

‘เปลี่ยนงานว่ายากแล้ว เปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันโลกยากยิ่งกว่า’ 4 วิธีปรับตัวให้อยู่รอดในอนาคต

ในช่วงหลายปีให้หลังมานี้ ผลสำรวจจากสถาบันการเงินหลายแห่งเปิดเผยสถิติที่น่าหวาดหวั่นต่อการมีชีวิตในวันข้างหน้า ที่คนไทยส่วนใหญ่มีเงินไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในวัยเกษียณ และยิ่งเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ จึงยากที่จะหลับตาแล้วจินตนาการถึงคุณภาพชีวิตและการเงินของคนไทยในอนาคต

        ผมจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยวางแผนเพื่อลดความเสี่ยงโดยหวังว่าภาพของชีวิตในวันข้างหน้าของพวกเราจะเป็นภาพที่ดี มีความหวังและความสดใสรออยู่–ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำให้ตอบรับกับโลกที่เปลี่ยนไป–ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหางาน หาเงิน การออม รวมทั้งการลงทุน เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่าน

หางานยุคใหม่–หาให้ได้ก่อนเรียนจบ

        การหางานในยุคเก่าคือการรอวันที่เราเรียนจบแล้วค่อยไปยื่นใบสมัคร อย่างไรก็ตาม งานในยุคปัจจุบันเรียกร้องคนทำงานที่มีคุณสมบัติหลากหลาย โดยเฉพาะประสบการณ์ในการทำงานในระดับรายปี สำหรับคนที่มีเป้าหมายต่ออาชีพในอนาคตและมีความขยันเป็นทุนเดิม สามารถเตรียมความพร้อมได้ด้วยการนำเวลานอกห้องเรียนไปทำงานพาร์ตไทม์หรืองานรับจ้างที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่มองไว้ในอนาคต

        ทั้งนี้ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และทักษะของการทำงานในวันข้างหน้า เมื่อถึงวันที่เรียนจบและต้องสมัครงาน อย่างน้อยเราก็มีความรู้และประสบการณ์ที่ถือเป็นข้อได้เปรียบ ซึ่งแนวทางนี้เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในบรรดาคนรุ่นใหม่ ที่มักจะขอฝึกงานหรือทำงานควบคู่ไปกับการเรียนด้วยนั่นเอง

หาเงินยุคใหม่–อย่ารอรับเงินเดือนเพียงอย่างเดียว

        หมดยุคการหารายได้เพียงช่องทางเดียวอีกแล้ว ในเมื่อยุคนี้เรามีเครื่องมือสร้างรายได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเพจสร้างฐานแฟน การรับรีวิวสินค้า รวมถึงการ Live ขายสินค้าโดยไม่ต้องเสียค่าเช่าหน้าร้าน นอกจากนี้ยังมีวิธีการหาเงินอีกหลายรูปแบบที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น การรับจ้างเขียน การแปลบทความ การเป็นนายหน้าขายสินค้าหรืออสังหาริมทรัพย์ รวมถึงอาชีพที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันอย่างการเป็นยูทูเบอร์ที่สร้างรายได้จากยอดวิวและยอดฟอลโลว์

        นอกจากอาชีพเหล่านี้ ยังมีช่องทางการหารายได้ในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย ที่จะสร้างโอกาสและความมั่นคงมากกว่าแค่การทำงานเพื่อรอรับเงินเดือนเพียงอย่างเดียว

ออมเงินยุคใหม่–อย่าปล่อยให้เงินเฟ้อ  

        เมื่อมีรายได้มากขึ้นแล้วอย่าลืมทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายไว้ด้วย เพื่อให้รู้ว่าเรามีสภาพคล่องทางการเงินมากน้อยแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่าคือการรู้จักจ่ายให้ตัวเองก่อนเสมอ ด้วยการออมให้เป็นนิสัย เช่น ออมไว้อย่างน้อย 10-30 เปอร์เซ็นต์ทันทีที่มีรายได้เข้ามา

        เราควรจัดการเงินที่ออมไว้อย่างไร–อันดับแรก เราควรจะเก็บออมไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉินเพื่อใช้ภายในระยะเวลา 6-12 เดือน เช่น หากมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 30,000 บาท แปลว่าเราควรมีเงินออมฉุกเฉินอยู่ที่ 180,000-360,000 บาท เพื่อออมไว้ใช้ยามประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บ หรือต้องตกงานอย่างกะทันหัน เป็นต้น

        ส่วนเงินออมนอกเหนือจากนั้นสามารถนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้มีเงินงอกเงยขึ้นมา โดยมีข้อที่ควรต้องระวังคือระดับความเสี่ยงที่เราจะยอมรับได้ ซึ่งถ้าใครรับความเสี่ยงได้น้อยก็ให้นำเงินฝากไว้กับธนาคาร ซื้อสลากออมทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล หรือถ้ารับความเสี่ยงได้มากขึ้นอีกหน่อย ขอแนะนำให้ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ กองทุนผสม ส่วนใครที่สามารถรับความเสี่ยงในระดับที่สูงก็ให้ขยับไปลงทุนในตราสารทุน หรือลงทุนในหุ้นรายตัว เป็นต้น

ลงทุนยุคใหม่–ต้องหมั่นเติมความรู้ให้ตัวเอง

        สิ่งสุดท้ายที่สำคัญมากที่สุดคือการเติมความรู้ให้ตัวเองอยู่เสมอ เพราะโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทักษะความสามารถหรือวิชาติดตัวในอดีตที่เราเคยรู้หรือเล่าเรียนมาอาจไม่สามารถใช้กับชีวิตในวันข้างหน้าได้อีกแล้ว ดังนั้น การหมั่นเติมความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ใหม่ๆ จึงเป็นบุคลิกและทัศนคติที่สำคัญที่ทุกคนควรมีติดตัวไว้

        เช่นเดียวกับความรู้เรื่องการออมและการลงทุนที่เป็นวิชาที่สำคัญยิ่งสำหรับคนรุ่นปัจจุบัน นอกจากเราจะต้องเริ่มวางแผนเกี่ยวกับการเงินและการลงทุนของตัวเองแล้ว ยังควรส่งต่อความรู้และประสบการณ์ที่มีให้กับคนรอบข้าง–เช่นเดียวกับที่คอลัมน์ Money, Life, Balance พยายามทำมาโดยตลอด