Edward De Bono

แนวคิดทางการเงิน จาก 5 ความคิดนอกกรอบของ Edward De Bono

แน่นอนว่าทุกครั้งที่ขับรถ เราต้องเข้าเกียร์เดินหน้าแล้วค่อยๆ ขับออกไป แต่เมื่อไหร่ที่ขับไปยังสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย และถึงแม้ว่าจะใช้เทคโนโลยีที่ชื่อ GPS แล้วก็ตาม โอกาสที่จะเข้าผิดซอยก็อาจมีอยู่ นั่นทำให้ผมต้องใช้เกียร์ถอยหลังเพื่อกลับมาตั้งหลักก่อนจะไปต่อ 

        หลายครั้งที่เข้าเกียร์ถอยหลัง ผมมักจะนึกถึงคำกล่าวหนึ่งของ ดร. เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน (Edward De Bono) ซึ่งเป็นนักเขียนที่มีดีกรีเป็นทั้งนายแพทย์ นักจิตวิทยา ทั้งยังเคยเป็นอาจารย์ในสถาบันศึกษาระดับชั้นนำของโลก เขาได้เขียนถึงเรื่องความคิดนอกกรอบไว้อย่างน่าสนใจว่า

        “การคิดนอกกรอบอาจเปรียบได้กับเกียร์ถอยหลังของรถยนต์ เราคงจะไม่ขับรถโดยใช้เกียร์ถอยหลังตลอดเวลา แต่เราจำเป็นต้องมีเกียร์นี้ และต้องรู้จักวิธีใช้ เพื่อที่เราจะสามารถขับรถออกจากซอยตันได้”

        จำได้ว่าตอนอ่านเจอประโยคนี้ของ ดร. เอ็ดเวิร์ด ผมชอบมากจนจดลงสมุด เพราะมันให้บทเรียนหลายอย่างในชีวิต โดยเฉพาะเรื่องของวิธีคิดที่สามารถนำมาเชื่อมโยงเพื่อต่อยอดไปสู่สมมติฐานในเรื่องอื่นๆ ได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องของเงินตรา การคิดนอกกรอบอาจจะมีอยู่หลายวิธี แต่วิธีของ ดร. เอ็ดเวิร์ดแลดูจะเป็นวิธีที่เข้าใจง่ายและจับต้องได้มากพอที่ประยุกต์ใช้ต่อไป 

การสร้างทางเลือกใหม่

        ดร. เอ็ดเวิร์ดเขียนไว้ว่า การจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดี เราควรมีทางเลือกใหม่ให้ชีวิต ทำนองว่า อย่าจำกัดหนทางการแก้ไขปัญหาไว้แค่หนทางเดียว หากนำวิธีคิดสร้างสรรค์ข้อนี้มาใช้กับเรื่องการเงินและการลงทุนแล้ว มันคือการสอนให้เราศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงของปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น เราสามารถลงทุนในตลาดหุ้นได้ แต่ก็ควรมีการรองรับความเสี่ยงด้วยการแบ่งทรัพย์สินไปลงทุนประเภทที่มีระดับความเสี่ยงลดลงและเงินต้นไม่สูญหาย เป็นต้น 

แนวคิดที่โดดเด่น

        ข้อนี้เป็นวิธีการเช็กความคิดที่สำคัญไม่แพ้กัน ถ้าวิธีคิดของเราโดดเด่นและแก้ไขปัญหาได้มากกว่าข้อด้อยหรือความคิดของคู่แข่งก็นับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าสนใจ—สอดคล้องกับการนำเงินไปลงทุนในเครื่องมือประเภทหุ้น กองทุน หรือตราสารหนี้ ฯลฯ เพื่อที่จะดูว่าประเภทการลงทุนที่เราสนใจนั้นมีนโยบายในการบริหารการลงทุนภายใต้แนวคิดที่โดดเด่นและแตกต่างจากที่อื่นๆ อย่างไรบ้าง 

สำรวจความคิดที่หลากหลาย

        สำหรับข้อนี้คือการนำข้อมูลหรือความคิดเห็นจากหลายๆ แหล่งมาประมวลผลเพื่อนำไปพัฒนาไอเดียในการทำงานต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดผลลัพธ์จากกรอบเดิมๆ ซึ่งในโลกของการเงินและการลงทุนก็คล้ายกับการไปหาข้อมูลเพิ่มเติมทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก หรือการรีวิวผ่านประสบการณ์ของผู้ที่เคยออมเงินและลงทุนมาก่อน สุดท้ายแล้วสิ่งที่ต้องระมัดระวังมากที่สุดคือการตัดสินใจภายใต้เหตุผลและความรู้อันจำกัดของตัวเอง—ถ้าหากยังไม่แน่ใจ อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน แต่ให้ลองหาข้อมูลเพื่อเพิ่มความหลากหลาย

การคิดเชิงเปรียบเทียบ

        วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและชัดเจนต่อการนำเสนอความแตกต่างภายใต้ความคิดสร้างสรรค์ เราจึงเห็นโฆษณาหรือการเล่าข้อมูลผ่านการเปรียบเทียบอยู่บ่อยครั้ง เพื่อให้คนดูเห็นว่าสิ่งไหนมากน้อยหรือดีเลวกว่ากัน ซึ่งการคิดเชิงเปรียบเทียบก็สามารถนำมาใช้กับเรื่องการเงินได้ ผมเชื่อว่าโดยธรรมชาติทุกคนทำอยู่แล้ว เช่น การเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิตที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน การเปรียบเทียบดอกเบี้ยผ่อนบ้าน คอนโดฯ จากธนาคารหลายๆ เจ้า เพื่อรักษาผลประโยชน์ หรือความสามารถในการจ่ายเงินของเราเพื่อรักษาเครดิต และสภาพคล่องต่อการใช้เงินในอนาคต

การท้าทายสมมติฐาน

        ข้อนี้เป็นอีกข้อที่สำคัญสำหรับนักคิดหรือครีเอทีฟ ที่ต้องหมั่นนำออกมาใช้ในการทำงาน นั่นคือการท้าทายสิ่งเดิมที่มีอยู่ด้วยการตั้งสมมติฐานต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์หรือสิ่งใหม่ๆ ซึ่งข้อนี้สามารถนำมาประยุกต์เป็นหลักคิดเรื่องของการเงินได้ โดยมากจะเกิดกับคนที่หมั่นวางแผนการเงิน เช่น การวางแผนการเก็บเงินเพื่อการเกษียณในวัย 60-80 ปี—เราควรต้องมีเงินก้อนช่วงท้ายของชีวิตอยู่เท่าไหร่จึงจะเพียงพอ—เมื่อได้ตัวเลขของจำนวนเงินที่ต้องการกับระยะเวลาในการทำงานที่เหลือ เราต้องออมและลงทุนอีกกี่เปอร์เซ็นต์ถึงจะได้ตามเป้าหมายภายใต้สมมติฐานที่ตั้งไว้ 

 

        นอกจาก 5 ความคิดสร้างสรรค์นอกกรอบของ ดร. เอ็ดเวิร์ดที่กล่าวมานี้ ยังมีวิธีคิดสร้างสรรค์นอกกรอบอีกมากมายที่น่าสนใจและนำมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนทางการเงินได้ ทั้งนี้ ดร. เอ็ดเวิร์ดได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ความคิดที่ดีอาจไม่จำเป็นต้องคิดอย่างถูกต้องเสมอไป แต่คือการคิดให้เหมาะสมและสอดคล้องต่อเป้าหมายและประสิทธิภาพที่ตั้งอยู่บนฐานความต้องการของเราต่างหาก

 


อ้างอิง: Lateral Thinking: Creativity Step by Step เขียน Edward De Bono