เรื่องใช้เงิน

7 ข้อคิดที่อยากสะกิดเตือนคุณว่า ‘ถ้าคิดผิดให้คิดใหม่เรื่องใช้เงิน’

คนเรามักคิดเข้าข้างตัวเอง ในเรื่องการใช้เงินก็เช่นกัน บางเรื่องเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจนเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ เคยชินที่จะทำแบบนั้นโดยไม่ได้ไตร่ตรองถึงข้อดีข้อเสีย ขาดความรอบคอบ ทำให้สูญเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งที่จริงเงินจำนวนนั้นสามารถนอนอยู่ในกระเป๋าได้ยาวๆ หรือดียิ่งกว่านั้นคือสามารถทำให้เพิ่มพูนได้เสียด้วยซ้ำไป แต่ไม่เป็นไร ถ้าเคยคิดผิดก็คิดใหม่ได้เสมอ

 

1. คิดว่าประหยัดดีที่สุด

     ประหยัดนั้นเป็นเรื่องดี แต่การประหยัดไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการใช้เงิน โดยเฉพาะเมื่อเราสามารถใช้เงินต่อยอดให้เกิดกำไรหรืองอกเงยได้ ดังนั้น แทนที่จะเก็บเงินไม่ใช้เลย ใครจะชวนไปทำอะไรก็ไม่เอา ไม่สน เพราะคิดว่าต้องประหยัดเท่านั้น ลองเปลี่ยนเป็นการมองหาวิธีที่จะนำเงินไปใช้ให้เกิดรายได้ อาจเป็นการลงทุนในพันธบัตร หุ้น กองทุน โดยพิจารณาจากความชอบ รวมทั้งความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตัวเราเองเป็นหลักแล้วลองหาข้อมูลเพิ่มเติม

 

2. คิดว่าซื้อของถูกช่วยลดค่าใช้จ่าย

     ของถูกและดีอาจจะมี แต่ส่วนใหญ่แล้วของที่ราคาถูกมากๆ มักมีอายุการใช้งานค่อนข้างสั้น ของบางอย่างซื้อมาในราคาถูกแต่ต้องซื้อหรือเปลี่ยนบ่อยๆ เมื่อลองคำนวณเงินที่ต้องเสียไปอาจสูงกว่าการลงทุนซื้อของมีคุณภาพตั้งแต่แรก ต่อไปนี้ลองชั่งใจ เปรียบเทียบ และคิดคำนวณดีๆ ก่อนตัดสินใจซื้อของถูก

 

3. คิดว่าใช้เงินก่อนออมทีหลัง

     หากคิดว่าค่อยออม ชีวิตนี้ก็อาจจะไม่ได้ออมเงินเลย เพราะคนเรามักมีข้ออ้างในการใช้เงินเสมอ วิธีที่ดีที่สุดคือตัดใจหักเงินออมไปเลยหลังจากได้รับเงินเดือนหรือเงินค่าจ้าง คำแนะนำส่วนใหญ่คือ ขั้นต่ำให้ออม 10% ของรายได้ แต่หากทำไม่ได้จริงๆ ก็อาจออมในจำนวนที่เรารับได้ก่อน หลังจากนั้นค่อยๆ เพิ่มตัวเลขขึ้น

 

4. คิดว่าบัญชีรับ-จ่ายไม่สำคัญ

     ใครที่ไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่าย แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่มันร้ายแรงพอๆ กับการทำเงินหายโดยไม่รู้ตัว ปัจจุบันนี้มีแอพพลิเคชันที่น่าสนใจเกี่ยวกับการออมหลายแอพฯ ไม่จำเป็นต้องใช้ปากกาจดลงสมุดอีกต่อไป ลองเริ่มต้นบวกในใจคร่าวๆ ดูว่าวันนี้ใช้เงินไปกี่บาท แล้วลองหักลบจากรายได้ที่หารออกมาเป็นรายวัน ระวังคุณอาจจะตกใจว่าทำไมรายจ่ายมากกว่ารายรับ

 

5. คิดว่าต้องไม่ยอมเสียผลประโยชน์

     คนจำนวนไม่น้อยเมื่อเห็นโปรโมชันลด แลก แจก แถม มักจะรู้สึกว่า นี่เป็นการคืนกำไรให้กับลูกค้า หากเราไม่ใช้โควตาในการซื้อของครั้งนี้ก็จะทำให้เราเสียผลประโยชน์บางอย่าง ทั้งที่จริงแล้วของลดราคา ของแถมส่วนใหญ่เป็นของที่เรามักไม่จำเป็นต้องมีหรือต้องซื้อในตอนนั้น หรือแม้กระทั่งค่าที่จอดรถ บางคนยอมจ่ายเงินซื้อของขั้นต่ำ 1,000 บาท ทั้งที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องซื้อเพื่อให้ได้จอดรถฟรีสองชั่วโมง ลองเปลี่ยนวิธีคิดสักนิด เตือนสติตัวเองสักหน่อย เก็บเงินไว้เผื่อมีเรื่องฉุกเฉินต้องใช้ไม่ดีกว่าหรือ

 

6. คิดว่าบัตรเครดิตช่วยแก้ไขปัญหาได้

     เป็นเรื่องตรงกันข้ามเลยต่างหาก โดยเฉพาะในคนที่ไม่มีวินัยทางการเงิน การรูดปื๊ดๆ โดยที่ไม่รู้ว่าจะเอาเงินจากไหนไปจ่ายคืนจะทำให้เกิดปัญหาหนี้สิ้นก้อนใหญ่ตามมา ทุกครั้งที่มีการรูดบัตร คุณต้องกันเงินไว้สำหรับจ่ายหนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วหนี้ก็จะเพิ่มขึ้นๆ ดอกเบี้ยเอย ค่าทวงหนี้เอย รู้ตัวอีกทีก็สายเสียแล้ว

 

7. คิดว่าอยากได้เท่ากับจำเป็น

     ก่อนอื่นต้องแยกแยะให้ออกก่อนว่า ความอยากกับความจำเป็นนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หลายคนบอกว่า อยากได้มากกกก ก. ไก่ล้านตัว ถ้าความรู้สึกอยากได้เกิดขึ้นแค่ปีละครั้งสองครั้งอาจจะไม่เป็นไร แต่ถ้าความอยากได้นี้มักมีมาเป็นประจำ ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน หรืออาจจะบ่อยกว่านั้น ต้องหาวิธีจำกัดหรืออาจจะถึงขั้นต้องกำจัดความอยากให้หมดไป ไม่อย่างนั้นแล้วคำว่าเงินในกระเป๋าก็จะอาจจะหมดไปกับความอยากเหล่านี้แทน