สังคมผู้สูงอายุ

ประชากรน้อยลง ผู้สูงอายุมากขึ้น มีต้นทุนอะไรให้เราจัดการกับอนาคต

“ถ้าอยากทำงานให้ดีขึ้น ให้เริ่มต้นจากเวลา ไม่ใช่เริ่มจากงาน”

        นี่คือประโยคของ ปีเตอร์ เอฟ. ดรักเกอร์ นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและการจัดการระดับโลกที่ผมได้มีโอกาสอ่านเจอข้อความนี้และบ่งชี้ให้เห็นถึงสภาวะที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัวผมอย่างมากมายโดยเฉพาะเรื่องเงินกับชีวิต

        ไม่นานมานี้มีการรายงานจากเว็บไซต์สำนักข่าว Bloomberg ในหัวข้อ Thailand Has a Developing Economy and a Big First World Problem ซึ่งเป็นการนำข้อมูลหลายๆ ส่วนจากองค์การสหประชาชาติ (United Nation: UN) มานำเสนอ ทั้งประเด็นอัตราการเกิดที่น้อยกว่าประเทศพัฒนาอย่าง สวิตเซอร์แลนด์และฟินแลนด์

        รวมถึงแนวโน้มจำนวนประชากรผู้สูงวัยที่จะเพิ่มมากขึ้นในปี 2030 ไปพร้อมกับสถานะทางการเงินที่จนลงอีกต่างหาก ปัจจัยเหล่านี้จะดึงให้เศรษฐกิจเกิดความชะลอตัว เหตุผลง่ายๆ คือในอนาคตประเทศไทยกำลังขาดแคลนทรัพยากรอย่างคนหนุ่มสาวมาขับเคลื่อนรายได้นั่นเอง นี่จึงเป็นสภาวะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้า

         ถามว่าอัตราการเกิดในประเทศไทยน้อยแค่ไหน จากสถิติเกิดคือ 1.5 ต่อครอบครัว ซึ่งน้อยกว่าประเทศจีนที่มี 1.7 ส่วนมาตรฐานที่วางไว้คือ 2.1 คน

        ในอีกมุมหนึ่งเราก็พอเข้าใจได้ว่าการหายไปของประชากรมีปัจจัยหลายอย่างทั้งในเรื่องของความพร้อมของการเป็นพ่อแม่ รายได้ สถานะ เวลา ซึ่งบางคนมองว่าถ้าไม่พร้อมก็ไม่มีดีกว่า แถมยังมีเรื่องของเทรนด์การใช้ชีวิตคู่อย่างโมเดล DINKs Double Income No Kids อีกต่างหาก 

 

        การมองเห็นภาพรวมในอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยเฉพาะการเป็นสังคมผู้สูงอายุในวันข้างหน้า ทำให้ผมนึกถึงภาพฝันดีกับฝันร้ายอยู่สองเรื่องครับ

        เรื่องแรกถือว่าน่าตกใจสำหรับผมคือการได้อ่านข่าวสาเหตุของการอยากเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในคุกของผู้สูงวัยในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องปัญหาของจำนวนผู้สูงวัยอีกประเทศหนึ่งในปัจจุบัน

        คุณลุง Toshio Takata ในวัย 62 ปี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เขาอยากเข้าไปอยู่ในคุกก็คือความจน ซึ่งการไม่มีเงินทำให้เขาไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระได้โดยเฉพาะการกินอยู่ เขาจึงวางแผนด้วยการขโมยจักรยานและไปมอบตัวที่สถานีตำรวจ เขายินดีที่จะใช้ชีวิตภายใต้พื้นที่ที่เรียกว่าคุก ซึ่งมีที่นอนและอาหารให้กินทุกมื้อ และหลังจากติดคุกได้ 1 ปี คุณลุง Takata ก็กลับไปอยู่ในคุกอีกครั้งจากความตั้งใจข่มขู่ผู้อื่นด้วยการใช้มีดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของตัวเอง และจากสถิติผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมและเป้าหมายเหมือนคุณลุง Toshio Takata ในญี่ปุ่น เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหากนับตั้งแต่ปี 1990–2016

        ถ้าใครสนใจประเด็นนี้สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มได้ที่บทความ Why some Japanese pensioners want to go to jail ของ BBC NEWS นะครับ สารภาพตามตรงว่าตอนอ่านครั้งแรกนั้นรู้สึกสลดใจมาก เพราะไม่น่าเชื่อว่าสถานที่อย่างคุกจะเป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุจะเลือกเข้าไปใช้ชีวิต เรื่องราวเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำว่าเรื่องการบริหารเงินเป็นสิ่งสำคัญมากๆ

 

        ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่สร้างกำลังใจให้แก่พวกเราในอนาคตครับ ซึ่งการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยก็ไม่ได้มีเรื่องให้ไม่สบายใจขนาดนั้น เพราะอีกมุมหนึ่งเทรนด์การเป็นผู้ประกอบการในผู้สูงอายุก็ค่อยๆ มีจำนวนมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง

        บทความ Successful Women Are Starting Businesses. Yes, Even After 50 เขียนโดย Elizabeth Macbride คอลัมนิสต์จาก Forbes ได้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ของผู้ประกอบการหญิงในวัย 50 ปี ที่เริ่มขยายตัวมากขึ้น ทั้งในฝั่งอเมริกาและอังกฤษ ได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการสั่งสมประสบการณ์ หรือการตัดสินใจก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนเพื่อรักษาและทำตามสิ่งที่ตัวเองฝันไว้ให้เป็นจริง

        มีประเด็นหนึ่งที่ค่อนข้างน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่วัยเก๋า คือข้อได้เปรียบของวัยเก๋าที่แตกต่างจากคนวัยหนุ่มสาว นั่นคือคอนเน็กชันกับความสัมพันธ์ของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับงานจำนวนมาก รวมถึงการต่อยอดกับประสบการณ์ที่เคยผ่านมาทั้งในการใช้ชีวิตหรือในฐานะอดีตพนักงานประจำ ที่พวกเขาสามารถนำเรื่องของระบบและการจัดการทั้งงานและพนักงานไปต่อยอดได้

        เมื่อฟังเช่นนี้หมุดหมายของการเกษียณสำหรับใครหลายคนในวัย 55 หรือ 60 อาจเปลี่ยนเป็นการเริ่มต้นต่ออาชีพในฝันหรือโปรเจ็กต์อะไรสักอย่างก็เป็นได้ ซึ่งทุกอย่างล้วนต้องมีวิธีการเตรียมพร้อมต่ออนาคตของตัวเราเอง อาจไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องเงินเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องเป็นความรู้ต่อสิ่งที่เราสนใจ รวมถึงความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างด้วย สิ่งเหล่านี้คือโอกาสในอนาคต และอาจเป็นโลกการทำงานอีกใบในวัยเกษียณที่อาจสนุกกว่าที่เราคิดก็ได้ครับ