แม้โลกจะเผชิญกับการคุกคามของโควิด-19 มายาวนานหลายเดือนแล้ว แต่ขณะที่ผมเขียนบทความอยู่นี้ เจ้าไวรัสตัวร้ายนี้ก็ยังลอยนวลสร้างความเดือดร้อนให้ผู้คนในโลกอยู่ ที่ผ่านมาหลายๆ ประเทศได้พยายามหามาตรการมาปกป้องทั้งเรื่องลดการติดเชื้อและหนทางการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการมาเจอกันได้มากยิ่งขึ้น
ผมเองในฐานะที่เป็นผู้บริโภค ก็ค่อนข้างระมัดระวังตัวในแง่ของค่าใช้จ่ายอยู่พอสมควร เพราะนี่ไม่ใช่สภาวะปกติ ดังนั้น ระยะนี้จึงไม่ค่อยกล้าที่จะซื้ออะไรที่ไม่จำเป็นจริงๆ รวมถึงเรื่องการลงทุนด้วยเช่นกัน ในฟากของผู้ประกอบการก็สาหัสจากการเจอมาตรการล็อกดาวน์ไม่แพ้กัน ล็อกจนหลายๆ ร้านเริ่มหายใจไม่ออกจากอาการกระแสเงินสดขาดสภาพคล่อง แต่ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยและค่าเช่าตามพื้นที่ในห้างอยู่นั่นเอง
จากภาวะวิกฤตนี้ทำให้เราเห็นการปรับกลยุทธ์ด้านการให้บริการของร้านอาหารผ่านการเดลิเวอรีมากขึ้น ถึงแม้ว่าการปรับตัวในครั้งนี้จะไม่ได้มีกำไรเทียบเท่าในภาวะปกติก็ตาม แต่การมีเงินสดเข้ามาบ้าง ก็ยังดีเสียกว่าการไม่มีรายได้เพิ่มเข้ามาสู่ธุรกิจเลย
โมเดลที่เราเห็นชัดเจนในช่วงเวลาเหล่านี้ก็ถูกนำร่องโดยร้านชาบูที่มีเพนกวินเป็นตัวชูโรง ที่ปรับตัวได้รวดเร็ว แถมยังหา Pain Point ของลูกค้าที่เป็นคนชอบกินชาบู แต่ไม่เคยทำกินเองที่บ้าน ด้วยการจับมือกับซัพพลายเออร์ผลิตหม้อชาบู จนเกิดชุดชาบูที่ส่งวัตถุดิบมาพร้อมหม้อเพื่อทำกินเองกับครอบครัวได้เลย แถมยังเพิ่มโอกาสในการกลับมาสั่งวัตถุดิบใหม่อีกครั้งด้วย ก็แหม่… ไหนๆ ก็มีหม้อชาบูแล้วนี่นา ถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าติดตามก้าวต่อไปของผู้ประกอบการไทยและอีกหลายๆ รายครับ
ขณะที่นั่งเขียนบทความไป ผมก็กินมะม่วงจิ้มน้ำปลาหวานไปด้วย เลยนึกถึงกรณีตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งจากการปรับตัวเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจในช่วงวิกฤตแบบนี้ ซึ่งใครชอบกินมะม่วงต้องห้ามพลาดเลยครับ ขอพาผู้อ่านไปยัง ‘บ้านหมากม่วง’ ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ครับ
บ้านหมากม่วง เป็นทั้งฟาร์มมะม่วง คาเฟ่ และสถานที่ที่เปิดรับนักเดินทางและท่องเที่ยวเขามาชมและเก็บผลมะม่วงได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่เกษตรเชิงพาณิชย์ที่น่าสนใจมากๆ เลยทีเดียว ซึ่งมีพื้นที่มากถึง 250 ไร่ ในขณะที่การดำเนินธุรกิจกำลังไปดีๆ โควิด-19 ก็มาสกัดให้ล้มเสียอย่างนั้น เสียทั้งนักท่องเที่ยว และราคาขายต่อผลมะม่วงด้วย
ในขณะที่ทุกอย่างย่ำแย่ ผลมะม่วงก็ยังคงออกผลคาต้นแบบปกติ การจะใช้วิธีเก่าๆ ด้วยการแบกมะม่วงหลายตันเข้าตลาดในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนก็คงไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก คุณวราภรณ์ มงคลแพทย์ ทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านหมากม่วง จึงทดลองการขายรูปแบบใหม่ ด้วยการใช้โซเชียลมีเดียอย่างเพจ บ้านหมากม่วง KhaoYai The Mango House Farm ซึ่งมีคนกดติดตามกว่า 10,000 คน มาประชาสัมพันธ์การขายมะม่วงในรูปแบบใหม่ นั่นคือการเปิดจองต้นมะม่วง! ในฟาร์มของเธอ ซึ่งพอถึงฤดูเก็บเกี่ยว เธอกับชาวสวนจะช่วยกันเก็บผลผลิตจากต้นมะม่วงที่ลูกค้าจองไว้แพ็กใส่บรรจุภัณฑ์แล้วส่งไปยังที่บ้านของลูกค้าผู้เป็นเจ้าของมะม่วงในแต่ละรอบนั่นเอง
นั่นหมายถึงถ้าเราจองมะม่วงต้นหนึ่ง พอถึงวันที่เก็บเกี่ยวผลผลิต หากต้นนั้นออกลูก 50 ลูก ทางฟาร์มก็จะเก็บแล้วส่งมาให้เราโดยตรง ซึ่งทางคุณวราภรณ์ก็มีการออกแบบราคามะม่วงแต่ละต้นที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากบางต้นออกลูกเยอะ บางต้นออกลูกน้อยกว่านิดหน่อย สาเหตุที่ทำเช่นนี้ได้เพราะมีการจัดเก็บข้อมูลเรื่องผลผลิตของแต่ละต้นอยู่แล้วเป็นพื้นฐาน และยังได้รับผลตอบรับที่ดีพอสมควรกับการแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤตแบบนี้
จากทั้ง 2 กรณีของการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการของธุรกิจบอกให้เราเห็นถึงความสำคัญของการได้เปิดโอกาสให้ตัวเองทดลองในสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อน และการไม่หยุดที่จะคิดและลงมือทำ ถึงแม้ว่าผลลัพธ์จะไม่ได้มารองรับความอยู่รอดจากวิกฤตอย่างสบายใจ แต่อย่างน้อยเรื่องราวที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ก็ทำให้ทีมงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันมีความหวังกันขึ้นมาบ้าง ส่วนกำไรก็คือผู้บริโภคที่นอกจากจะได้ลิ้มชิมรสจากอาหารและผลไม้ที่ดีแล้ว ยังได้เรื่องราวดีๆ มาเล่าต่อเป็นกรณีศึกษากันอีกด้วย