การรอคอย

อยู่กับเวลาที่น่าเบื่อให้ได้อย่างถูกใจกับเศรษฐศาสตร์แห่งการรอคอย

ภาพที่เห็นบ่อยที่สุดในวันหยุดยาวหรือเมื่อมีเทศกาลต่างๆ คือภาพของผู้คนจำนวนมากยืนต่อคิวกันเป็นกระจุกเพื่อรอรถขนส่งมวลชนพาพวกเขากลับบ้านไปเจอครอบครัว ทว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทาง เพราะการเดินทางที่แท้จริงต้องต่อสู้กับสภาวะหลายๆ อย่าง เช่น การรอคอยรถขนส่ง การเสียเวลาจากสภาพการจราจรที่ใช้เวลาเดินทางนานกว่าปกติหลายชั่วโมงที่จริงเพียงแค่รอรถหลังเลิกงานก็ทำให้หลายๆ คนต้องต่อคิวยาวนานนับชั่วโมงแล้ว

     ดังนั้น หลายคนจึงต้องมีการเตรียมตัวด้วยการบันทึกอัลบั้มเพลงที่อยากฟัง ซีรีส์ที่อยากดู หรือคอนเสิร์ตที่อยากชม เอาไว้ในสมาร์ตโฟนพร้อมกับแบตสำรองที่ชาร์จมาเต็มอัตรา เรียกได้ว่าเตรียมตัวมาพร้อมต่อสู้กับความน่าเบื่ออย่างเต็มที่

     การรอคอยที่น่าเบื่อหน่ายจึงเป็นต้นทุนด้านเวลาที่หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงด้วยการหากิจกรรมบางอย่างที่สนใจมาชดเชยในช่วงเวลาเหล่านั้น อย่างน้อยมันก็ทำให้เรารู้สึกว่า ความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้เรามีโอกาสได้ฟังเพลงที่อยากฟัง ได้ดูซีรีส์ที่อยากดู และคอนเสิร์ตที่อยากชมได้เต็มที่แบบไม่รู้สึกเสียดายเวลาไปเปล่าๆ นี่คือวิธีการสร้างจุดสมดุลทางความรู้สึกในแบบที่หลายๆ คนทำอยู่กันเป็นประจำ

     ใช่ว่าสภาวะเหล่านี้จะเกิดขึ้นและถูกแก้ไขโดยตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว เพราะสภาวะเช่นนี้ยังส่งผลกระทบต่อฝั่งผู้ประกอบการซึ่งต้องหาทางกำจัดความรู้สึกเบื่อของลูกค้าที่ต้องต่อแถวยาวหรือรอคิวยาวด้วยเช่นกัน

 

     ศาสตราจารย์ Ziv Carmon จาก INSEAD และ ศาสตราจารย์ Daneil Kahneman จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับความรู้สึกและการรับรู้ของผู้คนที่เห็นการต่อแถวยาวนั้นว่าส่งผลต่อพวกเขาอย่างไร ผลปรากฏว่าการเห็นแถวที่ยาวทำให้คนที่ต่อแถวอยู่นั้นรู้สึกว่าการรอต่อแถวใช้เวลานานกว่าปกติ

     จากข้อมูล ทั้งสองจึงแนะนำให้ผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงหรือหาทางแก้ไขกับภาพการต่อแถวยาวเหยียดเพื่อลดความรู้สึกเชิงลบที่อาจส่งผลกระทบต่อตัวสินค้าหรือแบรนด์ของผู้ประกอบการได้ ดังนั้น เราจึงจะเห็นสถานบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ค่ายมือถือ โรงพยาบาล คลินิก และร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ใช้วิธีการแจกบัตรคิวหรือการจองคิวผ่านแอพพลิเคชันแทนการมายืนต่อคิวหน้าร้าน และบางครั้งก็มีกิจกรรมให้เล่นฆ่าเวลาไปด้วย นี่จึงเป็นจุดบริหารความรู้สึกของลูกค้าที่สำคัญอย่างมหาศาล

     ทว่าเรื่องมันยังไม่จบแค่นี้ เพราะเอาเข้าจริงถึงแม้ว่าสองศาสตราจารย์จะออกมาป่าวประกาศว่าแถวที่ยาวเหยียดจะส่งผลอย่างไรบ้างกับคนที่รอ แต่ใช่ว่าผู้ประกอบการทุกคนจะมีทางเลือกในการแก้ไขด้วยการซื้อเครื่องแจกบัตรหรือสร้างแอพพลิเคชันมาบริการอย่างทันท่วงที มันก็ต้องมีบ้างแหละที่จะเกิดการต่อแถวเพื่อซื้อสินค้า ซึ่งมองอีกแง่มุมหนึ่ง นี่ก็เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดกับสินค้าที่เพิ่งออกมาใหม่ และหวังให้เกิดเป็นกระแสกับสังคมก็ย่อมมีบ้าง

 

     แต่หากถามว่าพอมีใครเห็นวิธีการสร้างกำไรจากโอกาสของการต่อคิวบ้างไหมหนอ… เขียนไปแล้วก็นึกถึงตัวอย่างหนึ่งในห้องเรียนของ Tina Seelig ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

     Tina Seelig แบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นหลายทีม โดยแต่ละทีมจะได้รับซองขาวหนึ่งซอง และเมื่อพวกเขาเปิดซองก็พบว่ามีเงินจำนวน 5 ดอลลาร์ฯ อยู่ในนั้น ซึ่งเป็นเงินตั้งต้นต่อการทำภารกิจพ่วงกับโจทย์คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เงินงอกเงยมากที่สุดโดยมีระยะเวลากำหนด 5 วัน สุดท้ายแต่ละกลุ่มต้องมานำเสนอวิธีการและผลลัพธ์ที่หน้าชั้นกลุ่มละ 3 นาที วัตถุประสงค์ของภารกิจนี้คือการหัดให้นักเรียนใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขปัญหาต่อข้อจำกัดที่มีอยู่นั่นเอง

     เมื่อถึงวันนำเสนอ มีไอเดียมากมายหลั่งไหลออกมาจากความคิดของเด็กๆ เช่น เปิดบริการล้างรถ ตั้งซุ้มขายน้ำมะนาว โดยนำเงิน 5 ดอลลาร์ฯ ไปซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อสร้างผลกำไรจากต้นทุน กระทั่งมีนักเรียนกลุ่มหนึ่งออกมานำเสนอผลลัพธ์ที่สร้างรายได้กว่า 600 ดอลลาร์ฯ นั่นเท่ากับว่าพวกเขาสร้างผลตอบแทนทางการเงินสูงกว่า 400% จากต้นทุน 5 ดอลลาร์ฯ

 

     สงสัยใช่ไหมครับว่าพวกเขาทำได้อย่างไร งั้นลองไปศึกษาความคิดของพวกเขากัน ขั้นแรก พวกเขาตั้งสมมติฐานความเป็นไปได้ต่อเงินทุนและระยะเวลาที่กำหนดเป็นอันดับแรก จากนั้นก็พยายามสำรวจความเป็นไปได้ทุกทาง จนพวกเขาคิดว่าควรเลิกที่จะจดจ่ออยู่กับเงิน 5 ดอลลาร์ฯ นี้ซะ และควรตีปัญหาที่อยู่ตรงหน้าให้กว้างขึ้น

     นั่นคือการตั้งคำถามใหม่ว่า ‘เราจะหาเงินได้อย่างไรหากไม่มีเงินทุน’

     เมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนไปแต่เป้าหมายยังเหมือนเดิม พวกเขาใช้ข้อสังเกตร่วมกับความคิดสร้างสรรค์เพื่อไขปัญหารอบๆ ตัว จนพบทางสว่างอย่างน่าทึ่งคือ พวกเขาสังเกตว่าปัญหาทั่วไปที่พบได้ในเมืองนี้คือการเข้าแถวรอหน้าร้านอาหารดังในคืนวันเสาร์ ช่องโหว่นี้จึงเป็นโอกาสของพวกเขา

     พวกเขาจึงลิสต์รายชื่อร้านอาหารชื่อดังในเมืองและจับคู่กันตระเวนจองโต๊ะตามร้านอาหารที่วางแผนไว้ จากนั้นจึงขายคิวจองให้แก่ลูกค้าที่ยินดีจ่ายเงินเพื่อลดการเสียเวลาในการต่อแถว นี่จึงเป็นที่มาของการเพิ่มมูลค่าจากต้นทุน 5 ดอลลาร์ฯ แบบที่ต้นทุนยังอยู่แต่กำไรเติบโตมหาศาล คิดแล้วก็อิจฉานักเรียนเหล่านั้นนะครับ เชื่อว่าเมื่อพวกเขาโตขึ้นใครสักคนในกลุ่มน่าจะเป็นอภิมหาเศรษฐีได้ไม่ยากเลย

 

     ส่วนตัวผมเองนั้นไม่ได้หวังว่าจะเป็นเศรษฐีเหมือนใครเขาหรอก แค่หลีกเลี่ยงการเดินทางในวันหยุดเพื่อประหยัดต้นทุนด้านเวลาแล้วนำมาเขียนคอลัมน์ส่งให้บรรณาธิการก็ตื่นเต้นแล้ว เพราะยังมีงานที่ต้องทำอีกเป็นคิวยาวยิ่งกว่าการต่อแถวรอซื้อของอยู่น่ะสิครับ เฮือก!