House Money Effect

House Money Effect เงินที่ได้มาในแต่ละครั้งล้วนมีอารมณ์ติดตามมาด้วยเสมอ

หลายวันก่อนเพิ่งอ่านบทความของ Rolf Dobelli นักเขียนที่ผมชื่นชอบที่สุดคนหนึ่ง ในบทความของเขาชวนผมตั้งข้อสังเกตว่า เงินหรือรายได้ที่เรารับมาในแต่ละครั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบในฐานะของพนักงานเงินเดือนหรือฟรีแลนซ์ เงินเหล่านั้นจะมีแพ็กเกจจิ้งทางอารมณ์ห่อหุ้มมาให้เรามีความรู้สึกในการตัดสินใจต่อการใช้จ่ายอย่างมีนัยยะสำคัญอยู่เสมอ

        ถ้าคุณผู้อ่านยังไม่ค่อยแน่ใจกับคำถามที่ตั้งไว้ งั้นผมขออนุญาตถามอีกครับ ถ้าคุณสามารถเก็บเงินจากการทำงานประจำมาตลอดทั้งปีได้เป็นจำนวนครึ่งแสนด้วยความอุตสาหะ คุณคิดว่าจะนำเงินก้อนนี้ไปทำอะไรต่อครับ ถ้าคิดไม่ออกผมมีตัวเลือกให้ครับ ระหว่าง

        1. เก็บเงินไว้นิ่งๆ

        2. เอาไปลงทุน

        3. เอาไปเที่ยว

        ถ้าคุณมีคำตอบอยู่ในสองข้อแรก คุณคือคนส่วนใหญ่ที่คิดแบบนี้ครับ

        งั้นผมขออนุญาตเปลี่ยนคำถามใหม่ ถ้าคุณถูกหวยรางวัลจนได้เงินมาในจำนวนที่เท่ากันคือครึ่งแสน คุณจะเอาไปทำอะไรครับ แน่นอนว่ามูลค่าเงินที่ได้รับเท่ากัน แต่ปัจจัยต้นทางที่ได้มาไม่เหมือนกัน ส่งผลให้การตัดสินใจในการนำเงินก้อนที่ได้รับมาไปใช้อย่างแตกต่างกันสุดขั้ว นี่คืออารมณ์ที่ห่อหุ้มมากับเงินในแบบที่เราอาจไม่ทันได้สังเกต และแน่นอนว่าโอกาสที่คนถูกหวยจะใช้เงินจำนวนครึ่งแสนพาตัวเองไปเที่ยวหรือใช้จ่ายอย่างไม่คิดหน้าคิดหลังมีอยู่สูงเลยทีเดียว

        ข้อมูลและสมมติฐานที่ Rolf Dobelli ตั้งมานั้นน่าสนใจ เพราะหากให้เอ่ยถึงสภาพที่เกิดขึ้นจริงจากภาวะเบื้องต้นที่นำเสนอไป อารมณ์กับเงินมักมาเป็นของคู่กันเสมอ การที่ต้องใช้แรงกายและแรงใจในการแลกมาเพื่อรายได้ จึงก่อให้เกิดอาการเสียดายในการใช้จ่ายแต่ละครั้ง เพราะเราตระหนักได้ว่าเงินที่เราได้มานั้นล้วนมีต้นทุนที่ลงทุนไปอย่างชัดเจนจนรู้สึกได้

        ส่วนการได้เงินมาฟรี โดยที่ไม่ได้ต้องใช้ต้นทุนด้านทุนทรัพย์ แรงกาย หรือแรงใจ บุคคลเหล่านั้นก็ไม่ได้มีอารมณ์ร่วมในการมองเห็นมูลค่าและคุณค่าของเงินที่ได้มา ถ้าเทียบให้เห็นง่ายๆ ก็เหมือนกับการที่คนถูกหวยหรือคนที่ได้รับมรดกตกทอดจากผู้ใหญ่มาแบบไม่เคยมีความเกี่ยวพันกันมาก่อน ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโอกาสในการขายทอดสู่ตลาดในอนาคต

 

        อารมณ์และความรู้สึกกับเรื่องเงินยังไม่จบแค่นั้น เพราะ Rolf Dobelli ยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า หลักการเหล่านี้ยังถูกนำไปใช้ในการตลาดให้กลายเป็นกลยุทธ์กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการช้อปปิ้งได้อีกด้วย เช่น การสมัครบัตรเครดิตฟรีพร้อมกับสิทธิพิเศษในการซื้อของภายในราคา xxxx หรือการได้รับแต้มพิเศษที่สามารถเลือกของไปได้ฟรีๆ

        กลยุทธ์การตลาดเหล่านี้ก็ใช้หลักการทางอารมณ์กับการเงินที่ได้มาฟรีๆ กระตุ้นให้เราเกิดพฤติกรรมใช้จ่ายกันอย่างสบายอกสบายใจ จนเราอาจไม่รู้ตัวว่า นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการกำหนดพฤติกรรมจากสนามอารมณ์เหนือเงินตราในชีวิต จนอาจเรียกได้ว่า ก็คนจะใช้… ของมันเลยต้องมี

        เมื่ออารมณ์อยู่เหนือเหตุและผล รวมถึงความจำเป็นในแผนการใช้จ่าย ผนวกกับอำนาจในการซื้อของที่สะดวกสบายอย่างการใช้บัตรเครดิต ที่มาพร้อมสิทธิพิเศษอีกมากมาย ก็สามารถทำให้เราทั้งหลายเพลิดเพลินกับอารมณ์และพฤติกรรมเบื้องต้นที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ไปโดยไม่รู้ตัว

        ที่จริงแล้วเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการใช้อารมณ์นำในการซื้อสินค้าเพราะความพึงพอใจ หรือการใช้บัตรเครดิตในการใช้จ่าย เพียงแต่อยากให้รู้ว่า เงินที่เราได้มาในแต่ละครั้งนั้นมันมีต้นทุนที่ติดมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนลงแรง หรือแม้กระทั่งได้มาฟรีๆ ก็อยากให้ทุกคนบริหารเงินให้ดี และค่อยๆ คิด ค่อยๆ ใช้อย่างรัดกุมครับ

        เพราะ Rolf Dobelli กับ ผม อยากให้ทุกคนมีอารมณ์ที่ดีไปกับชีวิตที่มีเงินให้ใช้ไม่ขาดมือครับ 

 


อ้างอิง: บทความ House Money Effect  จากหนังสือ The Art of Thinking Clearly 2