Latte Factor

Latte Factor กลยุทธ์การออมที่ทำให้ชีวิตสนุกขึ้น

สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ นี่เป็นการเขียนคอลัมน์ครั้งแรกของผมใน a day BULLETIN เกี่ยวกับเรื่องการเงิน การออม สนุกๆ ที่ทุกคนสามารถอ่านได้ ตอนรับโจทย์มานั้น ผมนั่งคิดอยู่สักพักว่าควรเขียนเรื่องอะไรดี แล้วผมก็ยกกาแฟเย็นขึ้นมาดื่ม จากนั้นก็วางลงอย่างช้าๆ แล้วก็เพ่งมองไปที่กาแฟแก้วนั้น จู่ๆ ก็นึกถึงเรื่องราวการเงินของ ดอกเตอร์สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ จาก บลจ. ธนาคารทหารไทย ซึ่งเคยมาเล่าเรื่อง Latte Factor ในห้องเรียนให้ฟังครับ

     ดอกเตอร์สมจินต์เล่าให้ผมกับนักศึกษาคนอื่นๆ ในห้องเรียนฟังว่า การเงินไม่ควรซับซ้อนและควรทำให้เป็นภาษาที่ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้มากที่สุด นี่คือปณิธานที่ท่านตั้งใจจะถ่ายทอดต่อไปในชีวิตการทำงาน เพราะท่านเชื่อว่าถ้าเรามีความรู้ทางการเงินที่ดีและนำไปปฏิบัติได้ นี่คือสมบัติล้ำค่าที่จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตเราได้ในอนาคต ที่สำคัญ เมื่อชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นด้วยความรู้ทางการเงิน เราก็ควรส่งต่อความรู้นั้นให้กับคนรอบๆ ตัวเพื่อให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการทำความเข้าใจง่ายๆ อย่างไม่ซับซ้อน

     พอเล่าถึงตรงนี้ ท่านยอมรับว่าคนส่วนใหญ่มองว่าจะไปลงทุนได้อย่างไรในเมื่อเงินเดือนในแต่ละเดือนที่ออกมานั้นยังใช้แทบไม่เพียงพอที่จะออม นี่เป็นโจทย์และจุดเริ่มต้นในเวลาเดียวกันที่ทำให้หลายคนในห้องรู้จักที่มาของคำว่า ‘Latte Factor’

 

     จุดเริ่มต้นของคำว่า ‘Latte Factor’ มาจากคำถามของหญิงชาวอเมริกันคนหนึ่งที่โยนคำถามในลักษณะที่ผมได้ตั้งไว้ว่า ‘เงินเดือนเพียงน้อยนิดจะหาเงินที่ไหนมาเริ่มลงทุน เพราะแค่ออมยังลำบากเลย’ แน่นอนว่าคนธรรมดาอย่างผมคงคิดไม่ออกและคงหาคำตอบให้แก่คนตั้งคำถามนี้ไม่ได้ แต่ไม่ใช่กับ เดวิด บาค (David Bach) ผู้เขียนหนังสืออันโด่งดังอย่าง The Automatic Millionaire

     บาคได้ขอให้หญิงชาวอเมริกันเล่าถึงชีวิตประจำวันให้เขาฟัง ว่าตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนเธอได้ทำอะไรบ้าง แน่นอนว่าเธอเล่าอย่างละเอียด และในรายละเอียดนั้น บาคสนใจกาแฟที่เธอต้องดื่มในทุกๆ เช้า และแนวคิดของ Latte Factor จึงเริ่มขึ้น

     บาคแนะนำว่า สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราจ่ายออกไปในแต่ละวันนั้น ถ้ามองดูแล้วอาจเป็นเงินจำนวนไม่เยอะ แต่ถ้าเราเปลี่ยนหน่วยจากวันเป็นเดือนให้กลายเป็นปี เราจะพบว่ากาแฟลาเต้ที่เธอจ่ายไปนั้นจะกลายเป็นเงินก้อนที่มีมูลค่ามหาศาลมากทีเดียว เช่น ถ้ากาแฟแก้วนั้นราคา 50 บาท และเธอต้องดื่มทุกวัน เท่ากับว่าปีหนึ่งๆ เธอจะเสียเงินให้แก่กาแฟไปทั้งสิ้น 18,250 บาท ซึ่งหากเธอไม่ได้ดื่มกาแฟทุกวัน เงินจำนวนเหล่านั้นสามารถเป็นเงินออมเพื่อนำไปลงทุนได้นั่นเอง

     บาคพยายามชี้ให้เห็นว่า จุดเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่ในค่าใช้จ่ายประจำวัน สามารถเป็นจุดเริ่มต้นในการออมเพื่อการลงทุนได้ ถึงแม้จำนวนจะไม่ได้มาก แต่ก็สำคัญต่อก้าวที่ยิ่งใหญ่ในการเริ่มต้นออมให้ต่อเนื่องอย่างมีวินัย

 

     เขียนมาถึงขนาดนี้ผมก็คาดการณ์ว่าจะมีดราม่าถึงเรื่องเงินกับกาแฟแน่ๆ แต่บอกก่อนว่านี่เป็นเพียงแนวคิดที่มีตัวอย่างเป็นกาแฟครับ เพราะจริงๆ แล้วเราสามารถนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์กับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในชีวิตประจำวันได้หมดเลย ไม่จำเป็นต้องเป็นกาแฟอย่างเดียว เพราะเอาเข้าจริงสำหรับบางคน กาแฟถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการทำงานในแต่ละวัน

     ดอกเตอร์สมจินต์เล่าเสริมว่า สำหรับบางคน การดื่มกาแฟเป็นเรื่องที่จำเป็นในการทำงานมาก แน่นอนว่าการห้ามใครไม่ให้ดื่มกาแฟคงเป็นเรื่องยาก ท่านเลยเล่าถึงแนวคิดเรื่อง Latte Day ให้ฟัง ซึ่งเรื่องมันมีอยู่ว่า กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มีเสน่ห์และหอมมาก โดยเฉพาะครั้งแรกที่เราได้กลิ่นและรสสัมผัสของมันหลังจากชงมาใหม่ๆ นี่คือความสุขที่คนดื่มกาแฟปรารถนาเป็นอันมาก แต่สังเกตไหมว่านานวันเข้า ความตื่นเต้นหรือความสุขกับกลิ่นกาแฟแบบวันแรกๆ ที่เคยได้รับนั้นหายไปโดยปริยาย เพราะถูกความเคยชินขโมยช่วงโมเมนต์แห่งความสุขไป

     คำถามคือ เราจะทำอย่างไรถึงจะเรียกความสุขเช่นนั้นกลับคืนมาไปพร้อมกับการออมเงินได้ด้วย นี่คือที่มาของ ‘Latte Day’ นั่นคือการรอคอยวันพิเศษที่เราจะได้ดื่มกาแฟจากร้านที่ชื่นชอบจริงๆ อาจจะหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ก็ได้ แล้ววันที่เหลือเราอาจชงกาแฟธรรมดาๆ ที่บ้านหรือที่ออฟฟิศแทน

     ทั้งหมดเป็นเรื่องราวและแนวคิดที่ผมได้เรียนรู้จากในห้องเรียนและเห็นว่ามีแง่มุมที่น่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟัง คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนอ่าน ที่อย่างน้อยทุกคนก็น่าจะได้ทำความรู้จักกับ เดวิด บาค และหนังสือของเขา รวมถึงข้อคิดเรื่องการเงินจาก Latte Factor และ Latte Day ครับ