ในวันที่กำลังเขียนบทความชิ้นนี้อยู่ คือวันครบรอบ 23 ปี ของการลอยค่าเงินบาท และทำให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งแน่นอนว่าวิกฤตครั้งนั้นนำมาสู่หายนะของภาคธุรกิจ ธนาคาร และตลาดหุ้นที่ดิ่งลงจาก 1,789 สู่ 204 จุด จนกลายเป็นเหตุการณ์และบทเรียนสำคัญที่ยังคงเตือนสติและเตือนใจต่อคนไทยในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะคนที่ทำธุรกิจที่ยังคงต้องอาศัยการกู้เงินมาลงทุนอยู่เสมอ
บังเอิญผมได้ไปเห็นสเตตัสของ คุณวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซี โอ แอล จำกัด (มหาชน) เขียนมาแบบนี้หลายคนอาจจะงุนงง แต่ถ้าบอกว่าคุณวรวุฒิคือเจ้าของแบรนด์สินค้าที่เกี่ยวข้องกับออฟฟิศไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องเขียนและอีกหลายๆ อย่าง อย่าง ‘OfficeMate’ เชื่อว่าหลายคนน่าจะร้องอ๋อขึ้นมาทันที
สเตตัสของคุณวรวุฒิของช่วงสายในวันครบรอบ 23 ปี การลอยตัวค่าเงินบาท เขียนไว้ว่า
New normal ก็คือ New problem
New problem ก็คือ New risk และ New opportunity
ซึ่งทั้งหมด ต้องการ New strategy และ New execution
แม้จะเป็นประโยคสั้นๆ แต่ก็ซ่อนวิธีคิดการอยู่ร่วมกับสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีนักในช่วงโควิด-19 ได้อย่างมีความหวังและมอบกำลังใจแก่คนทำงานตัวเล็กๆ อย่างผม รวมถึงผู้ประกอบการหลายขนาดอยู่พอสมควร และเมื่อผมคิดไปคิดมานั้นก็นึกขึ้นได้ว่า เคยมีโอกาสฟังงานบรรยาย The S Curve Digital Branding for Crisis เป็นงานสำหรับผู้ประกอบการหลากหลายอุตสาหกรรมที่มาร่วมฟังความรู้ ประสบการณ์ และการปรับตัวจากคุณวรวุฒิ ผู้ที่เคยผ่านวิกฤตปี 2540 มาก่อน
ปี 2526 คือจุดเริ่มต้นของการทำงาน นั่นคือการเข้าไปช่วยพลิกฟื้นธุรกิจเครื่องเขียนของคุณพ่อที่ตอนนั้นกำลังประสบกับปัญหาภาวะหนี้สิน คุณวรวุฒิจึงนำความรู้จากการเรียนบริหารธุรกิจมาช่วยวางรูปแบบและกลยุทธ์ในการสร้างรายได้ในเวลานั้น ด้วยการจัดทำระบบแคตาล็อกและ Price List กับสินค้าจำพวกปากกา สมุด และเครื่องเขียนอื่นๆ
จากนั้นเขาก็สวมบทบาทเป็นเซลส์แมนด้วยการหอบแคตาล็อกที่ร่วมกันทำกับพี่น้องไปเคาะประตูติดต่อสำนักงานออฟฟิศหลายๆ แห่ง เพื่อขอโอกาสพูดคุยกับฝ่ายจัดซื้อ ซึ่งในเวลานั้นนับว่าเป็นการเปิดตลาดการให้บริการอุปกรณ์สำนักงานออฟฟิศและโรงงานอย่างรวดเร็วและทันท่วงที
คุณวรวุฒิเผยว่า ตอนนั้นเขามีแก่นอยู่ 3 คำ นั่นคือ ครบ เร็ว ถูก หมายถึง ของครบ ส่งเร็ว ราคาถูก เรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่มาพลิกฟื้นรายได้ธุรกิจและหนี้สินของคุณพ่อได้อย่างรวดเร็ว จนคนแถวบ้านคิดว่าคุณพ่อค้ายาเพราะว่าแต่ละวันมีรถขนของขับเข้าออกกันอย่างต่อเนื่องเลยทีเดียว
เมื่อความสามารถและวิธีคิดสร้างความมั่นใจในตัวเอง การที่คนคนหนึ่งจะกล้าฝันใหญ่จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ในเวลานั้นเขาฝันว่าจะเป็นบริษัทเครื่องเขียนที่ดีที่สุดและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ความฝันที่ใหญ่และชัดเจนทำให้คุณวรวุฒิเป็นคนไทยแรกๆ ที่เน้นการขายสินค้าผ่านแคตาล็อกและอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาทำงานและหาความรู้ด้วยการเรียนต่อในระดับปริญญาโทด้าน MBA ควบคู่ไปด้วย
ผลงานในการบริหารธุรกิจของคุณวรวุฒิกำลังไปได้สวย เขาสามารถสร้างยอดขายปีแรกได้ถึง 20 ล้านบาท จากนั้นปีที่ 2 และ 3 ยอดขายเติบโตไปถึง 100 ล้านบาท เรียกได้ว่า OfficeMate ในเวลานั้นคือดาวรุ่งของวงการธุรกิจที่หลายคนกำลังจับตามมอง
แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2540 วิกฤตการเงินครั้งใหญ่ได้มาเยือน จากยอดขาย 100 ล้านบาท ลดลงเหลือ 20 ล้านบาท เรียกได้ว่าขาดทุนไป 80% หลายคนบอกว่าก็ไม่เห็นเป็นไร ถือว่ากลับไปสู่จุดกำไรในปีแรกที่สร้างมา แต่อย่าลืมว่าปีแรกมีค่าใช้จ่ายพนักงานแค่ 30 คน แต่ปีต่อมาจำนวนพนักงานเพิ่มมาเป็น 90 คน ทำให้บริษัทมีภาระที่ต้องแบกค่าใช้จ่ายพนักงานอยู่พอสมควร ทว่าเวลานั้นไม่มีการไล่พนักงานออกใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเขามีความหวังที่จะพา OfficeMate กลับมาอีกครั้ง และสิ่งที่เขาหวังไว้ก็กลับมาจนได้
หลังเหตุการณ์วิกฤตปี 2540 เริ่มบางเบา ธุรกิจ OfficeMate กลับมาผงาดด้วยการสร้างยอดขายได้มากถึง 100 ล้านบาทอีกครั้ง โดยใช้ระยะเวลาเพียง 6 เดือนในปี 2542 ด้วยการกลับมาตั้งหลักและกำหนดนิยามของธุรกิจตัวเองใหม่ว่า OfficeMate จะไม่ใช่ธุรกิจที่ขายเครื่องเขียนอย่างเดียว แต่จะเป็นธุรกิจที่ให้บริการทุกอย่างที่สำนักงานออฟฟิศและโรงงานต้องการ ไล่ไปตั้งแต่ปากกา สมุด ยา แอลกอฮอล์ทำความสะอาด หรือแม้กระทั่งลูกอม ถามว่าทำไมต้องขายลูกอม เพราะเวลานั้นสำนักงานหลายแห่งมักจะวางลูกอมเอาไว้ที่เคาน์เตอร์ให้ลูกค้าหรือผู้ที่มาติดต่อหยิบไปได้นั่นเอง
คุณวรวุฒิอธิบายเพิ่มเติมว่า การกำหนดนิยามการให้บริการของธุรกิจจะเป็นตัวบ่งบอกขนาดธุรกิจของคุณเป็นอย่างดี ผสมกับการใช้เครื่องมือการเสนอขายอย่างแคตาล็อกและการให้บริการทางอินเทอร์เน็ตเป็นเจ้าแรกๆ เราจึงไม่แปลกใจว่าทำไม OfficeMate จึงเติบโตและยังผ่านพ้นในช่วงวิกฤตหลังปี 2540 มาได้จนถึงทุกวันนี้
แม้ว่าบทเรียนในปี 2540 อาจไม่สามารถตอบโจทย์กับวิกฤตในครั้งนี้ที่ได้รับผลกระทบกันทุกภาคส่วน แต่ผมเชื่อว่ากรณีศึกษานี้น่าจะช่วยสร้างกำลังใจให้แก่คนทำงานและผู้ประกอบการทุกคนที่กำลังดิ้นรนและต่อสู้กับช่วงเวลาอันหนักหนานี้ไปได้ไม่มากก็น้อยครับ
อ้างอิง: งาน The S Curve Digital Branding for Crisis