ไม่สู้ก็แพ้ ไม่ปรับตัวก็ตาย

‘ไม่สู้ก็แพ้ ไม่ปรับตัวก็ตาย’ บทเรียนการเปลี่ยนแปลงทั้งวิธีคิดและรายได้ของคนขับแท็กซี่ลูกสาม

ผมเพิ่งมีโอกาสคุยกับคนขับรถแท็กซี่อายุราวๆ 50 ปีคนหนึ่ง ซึ่งต้องขอบคุณโอกาสที่ทำให้ผมได้เรียกใช้บริการในครั้งนี้ เพราะทันทีที่ผมขึ้นรถ เขาบอกทันทีว่า “น้องครับ พี่ขอวนรถเข้าไปในธนาคารสักประเดี๋ยว เพื่อจะไปหย่อนสลิป”

          แล้วเขาก็วนรถเข้าไปในธนาคารแห่งหนึ่ง เปิดประตู และหย่อนสลิปลงไปในกล่องพลาสติก—ผมมองตามด้วยความสงสัย และถือโอกาสถามทันทีที่เขากลับขึ้นมาบนรถ

        “พี่ครับ…พี่หย่อนสลิปอะไรลงไปในกล่องหรือครับ”

        “อ๋อ มันคือหลักฐานรายได้จากการขับรถให้ธนาคารครับน้อง”

        ประโยคที่เขาตอบกลับมาทำให้ผมสนใจ และได้พูดคุยสอบถามเรื่องราวของเขาไปตลอดทาง

 

        รายได้เฉลี่ยจากการขับแท็กซี่ของโชเฟอร์รายนี้อยู่ที่วันละประมาณ 2,000 กว่าบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากพอสมควร ที่สำคัญคือรายได้เหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นวิธีคิดในการวางแผนทางการเงินที่น่าสนใจอีกด้วย

        เขาเคยทำงานอยู่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นเวลานานถึง 12 ปี จนกระทั่งถูกเลย์ออฟจากงานพร้อมกับเงินชดเชยอีก 14 เดือน โดยที่ไม่ทันตั้งตัว และในช่วงนั้นเองที่เพื่อนของเขาชักชวนให้หันมาหาเลี้ยงชีพด้วยการขับรถแท็กซี่—ตอนแรกเขาปฏิเสธ—แต่พอได้กลับมาทบทวน จึงเกิดเปลี่ยนใจและคิดว่าจะลองหาเงินด้วยวิธีนี้ดูสักตั้ง

        เขาพบว่าการหารายได้ทางนี้ต้องมีความใจเย็นและเข้าใจลูกค้าให้มาก และต้องหัดใช้แอพพลิเคชันต่างๆ อย่างเช่น Grab เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ รวมถึงการสมัครเป็นแท็กซี่บริการพนักงานธนาคารชั้นนำหลายๆ แห่ง

        เขาอธิบายให้ฟัง พร้อมกับชี้ให้ผมดูที่หน้าจอข้างเครื่องมิเตอร์ที่แสดงให้เห็นรายชื่อของผู้ใช้บริการ พร้อมกับตำแหน่งและที่อยู่อย่างเป็นระบบ นอกจากนั้นยังมีบัตรสมาชิกของธนาคารอีกหลายแห่ง—สิ่งเหล่านี้คือระบบการสร้างรายได้ของเขา ที่ทำให้เขาไม่ต้องเสี่ยงเหมือนกับแท็กซี่คันอื่นๆ ที่มักจะขับรถไปเรื่อยๆ เพื่อหวังน้ำบ่อหน้าอย่างไร้แบบแผน

        “ก่อนจะตื่นเช้าขึ้นมาขับรถ ผมก็พอจะคำนวณรายได้แล้วว่าในแต่ละวันผมจะได้รับประมาณกี่บาท เพราะมีรายการจองข้ามวันจากในระบบมาแล้ว ผมจึงรู้ว่าจะต้องขับรถไปรับผู้โดยสารที่ไหนเวลาใด”

        ผมนั่งฟังอย่างเพลิดเพลินและตื่นเต้น แต่ความตื่นเต้นของผมยังไม่หมดแค่นั้น เพราะเขายังมีหมัดเด็ดจากการสร้างรายได้ทางภาษาอีกด้วย

        “บางครั้งผมไปรับ-ส่งผู้โดยสารชาวต่างชาติที่สนามบินสุวรรณภูมิ ผมก็พยายามชวนเขาคุยและแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในเมืองไทย—แม้กระทั่งร้านเด็ดๆ ที่อยู่นอกลิสต์สถานที่แนะนำของนักท่องเที่ยว ผมก็จะคอยบอกให้พวกเขารู้—แม้ว่าผมจะพูดถูกบ้างผิดบ้าง แต่ก็พยายามใส่สำเนียงเข้าไปเพื่อให้ดูเป็นมืออาชีพ สุดท้ายพวกเขาก็รู้เรื่องแถมยังชอบใจเราอีกด้วย ผู้โดยสารบางคนถึงกับให้ทิปในระดับหลักร้อยไปจนถึงหลักพันเลย”

        เรื่องราวของพี่คนขับรถแท็กซี่ในวันนั้นกลับมาสอนใจพนักงานออฟฟิศอย่างผมรุนแรงมาก—แต่ละวันเรามัวแต่นั่งจดจ่อกับงานที่ค้างอยู่ตรงหน้า โดยไม่ได้สนใจเลยว่าเราจะเดินต่อไปได้อีกไกลแค่ไหน หรือเราควรจะเริ่มปรับตัวอย่างไรบ้าง

        ผมจึงตั้งสติและเริ่มวางแผนต่อหน้าที่การงานในอนาคตของตัวเอง เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถอื่นๆ นอกเหนือไปจากงานที่กองอยู่บนโต๊ะ โดยนำสิ่งที่ผมสังเกตเห็นจากเขาได้อย่างชัดเจนมาปรับใช้—การสร้างโอกาสด้วยการปรับตัวให้สอดคล้องไปกับนโยบายขององค์กรใหญ่ รู้จักใช้เครื่องมือที่สนับสนุนการสร้างรายได้ แถมยังฝึกฝนด้านการใช้ภาษาสากลซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่ง

        แม้เศรษฐกิจจะซบเซา เทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปไกล หรือวันหนึ่งโชคร้ายอาจจะมาเยือนจนส่งผลให้ต้องตกงาน แต่หากเราไม่หยุดอยู่กับที่ หัดมองโอกาสและวางแผนให้เป็น ผมเชื่อว่าเรายังมีความหวังอยู่เสมอ และเป็นความหวังที่เราสร้างได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องหยิบยืมจมูกใครหายใจ แน่นอนว่าในช่วงแรกมันอาจจะสร้างความอึดอัดอยู่บ้าง แต่คนขับแท็กซี่บอกกับผมว่า

        “ถ้าไม่สู้ เราก็แพ้ ถ้าไม่ปรับตัว เราก็ตาย”

        เราไม่มีทางรู้อย่างแน่ชัดหรอกว่าในอนาคตจะมีอะไรมาเขย่าชีวิตให้ต้องดิ้นรนไปอีกมากน้อยแค่ไหน แต่ในเมื่อพี่คนขับแท็กซี่ในวัย 50 กว่า มีลูกอีก 3 คนที่ต้องดูแล ยังไม่ย่อท้อต่อชีวิต… ถ้าคนหนุ่มอย่างผมไม่ต่อสู้ ไม่เริ่มปรับตัว ไม่คิดอยากพัฒนา—ก็คงอายพี่เขาแย่เลยล่ะ