เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินว่า ลงทุนอะไรไม่สำคัญเท่าการลงทุนในตัวเอง ซึ่งเป็นประโยคที่เป็นจริงทุกประการ เพราะถ้าเรามีความรู้และความคิดที่เท่าทันทุกเหตุการณ์ ความเสี่ยงทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนย่อมน้อยลง
เขียนมาแบบนี้ผมไม่ได้จะมาชวนให้ผู้อ่านหยิบเงินไปลงทุนในตลาดหุ้น กองทุน หรือทองคำแต่อย่างใด หากแต่อยากมาทบทวนชวนถามว่า หลักการวัดต่อการลงทุนในตัวเองนั้น ผู้อ่านมีหลักอะไรที่ใช้กับตัวเองอยู่บ้าง ถ้าใครมีก็สามารถเขียนแนะนำมาได้นะครับ แต่ถ้าใครยังคิดไม่ออก ครั้งนี้ผมมี 5 ข้อสำคัญมาแนะนำจาก โนงุจิ มาฮิโตะ ผู้เชี่ยวชาญการประเมินกิจการ และผู้เขียนหนังสือ ทำงานยังไงให้ ‘คุณ’ มีมูลค่าสูงสุดในองค์กร
1. มองหาความหมายของงานที่ทำ
โนงุจิเล่าว่า การที่คนทำงานส่วนใหญ่เฉยชากับงานที่ทำอยู่เหมือนนั้นไม่มีความหมาย อาจไม่ได้เกิดจากตัวงาน แต่มาจากการไม่ได้มีวิธีคิดเชื่อมโยงเรื่องเงินเป็นพื้นฐาน หากปรับได้ อยากให้ลองคิดใหม่เสียว่า ทุกครั้งที่ได้โอกาสทำงาน จงมองงานนั้นอย่างมีความหมายว่าวันข้างหน้า ทักษะที่ได้จากงานที่เราตั้งใจทำในอดีต จะสามารถตอบสนองความต้องการของตลาด และต่อยอดมูลค่าในตัวของเราเองได้ในอนาคต
2. ความสามารถของลูกน้องก็คือมูลค่าของคุณ
ในบรรดาหัวข้อจากหนังสือของโนงุจิ ผมชื่นชอบข้อนี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นการบ่งชี้ว่าการลงทุนสร้างคุณค่าและมูลค่าให้แก่ตัวเองนั้น ใช่ว่าจะตักตวงเพื่อเติมความสามารถให้แก่ตัวเองเพียงมุมเดียว แต่ข้อนี้ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าการดึงศักยภาพของลูกทีมที่ดูแลอยู่ให้มีประสิทธิภาพ ยังเป็นอีกหนึ่งเกณฑ์ในการวัดถึงความสามารถที่มีมูลค่าซึ่งองค์กรหรือบริษัทควรรักษาเราเอาไว้ด้วยเช่นกัน
3. ปฏิเสธงานเก่งก็ยิ่งพัฒนา
การปฏิเสธงานนี้ไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธเพื่ออู้งานหรือไม่มีความรับผิดชอบแต่อย่างใด แต่เป็นบริบทของการปฏิเสธเพื่อเรียงลำดับความสำคัญของการทำงานที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของคนทำงานเก่งๆ ซึ่งมักมีทักษะการบริหารเวลาและผลลัพธ์ของงานที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการปฏิเสธงานที่มีความสำคัญน้อยซึ่งแทรกเข้ามา ก็เป็นอีกหนึ่งทักษะที่คนทำงานควรฝึกให้เป็น เพื่อสร้างมูลค่าจากงานทำอยู่นั่นเอง
4. ถ้าอยากพิสูจน์ตัวเองจงเลือกบริษัทอันดับสอง
นี่เป็นอีกข้อหนึ่งที่ตอนอ่านหัวข้อแล้วก็รู้สึกท้าทายไปโดยปริยาย โนงุจิให้เหตุผลว่า การเลือกไปอยู่บริษัทอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ดีต่อประวัติการทำงาน แต่คุณอาจจะไม่ได้ทำอะไรที่แปลกใหม่เลย เพราะถูกคลุมไปด้วยมาตรฐานอันดับหนึ่งที่ทำมาช้านาน แต่หากท้าทายความสามารถและต้องการพัฒนาตัวเองให้เกิดคุณค่าและมูลค่า การไปบริษัทอันดับสอง คุณจะได้โอกาสที่มากกว่าในการทำสิ่งต่างๆ เพื่อแทรกบริษัทที่ยืนอยู่ในอันดับหนึ่งได้มากกว่านั่นเอง
5. ความน่าเชื่อถือคือการเพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง
ข้อนี้ถึงแม้ว่าในหนังสือของโนงุจิจะไม่ได้เน้นในเรื่องของศีลธรรมอะไรมากมาย แต่หากปรับมาอยู่ในบริบทของไทย ยังไงสิ่งนี้ก็ยังคงสำคัญต่อเรื่องของการได้รับความไว้วางใจ สำหรับงานโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ ที่จะได้รับผิดชอบในอนาคตจากองค์กรหรือบริษัทเอง
หากถามว่าความน่าเชื่อถือควรเริ่มจากอะไร ก็ขอให้ย้อนกลับไปตั้งแต่ข้อแรกและค่อยๆ ทำให้เกิดเป็นผลลัพธ์จนเริ่มมีคนยอมรับกับงานที่เราทำนั่นแหละครับ ตัวเราเองไม่ต้องเป็นคนตะโกนบอกหรอกว่าฉันเก่งและมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน เพราะงานทุกชิ้นที่เราทำจะตะโกนบอกทุกคนเองว่าคนทำงานคนนี้มีคุณค่าและมูลค่าเกินกว่าเงินเดือนที่ได้รับในทุกวันนี้ และองค์กรหรือบริษัทควรจะรับผิดชอบและดูแลอย่างไรเพื่อไม่ให้มันสมองที่ดีในองค์กรรั่วไหลไปที่อื่นแทน
นี่คือ 5 ข้อสำคัญต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้คนทำงานที่ทุกองค์กรต้องการในสไตล์ของ โนงุจิ มาฮิโตะ ที่ผมชื่นชอบและนำมาฝากผู้อ่านทุกคนครับ
อ้างอิง: หนังสือ ทำงานยังไงให้ ‘คุณ’ มีมูลค่าสูงสุดในองค์กร