Making a plan but don’t stick a plan

Making a plan but don’t stick a plan หลักคิดจาก มิ้นท์ I Roam Alone ที่นำมาปรับใช้กับโลกการเงินและการทำงาน

ผมมีโอกาสไปเยือนงาน START UP THAILAND ซึ่งจัดขึ้นที่ TCDC บางรักภายในงานมีหัวข้อหลากหลายให้ผู้ที่สนใจเข้าไปร่วมฟัง หนึ่งในหัวข้อของงานที่ผมสนใจเป็นพิเศษ คือ ‘Turning Point become an influencer’

        วันนั้นคนที่ผมอยากฟังมากที่สุดหนีไม่พ้น คุณมิ้นท์ I Roam Alone หญิงสาวที่ออกเดินทางรอบโลกตั้งแต่วัย 20 ต้นๆ เดินทางมาแล้วกว่า 90 ประเทศ ตลอดระยะเวลา 7 ปี และการเดินทางก็ทำให้เธอเรียนรู้สิ่งต่างๆ อีกมากมาย

        มีคำถามหนึ่งที่พิธีกรถามว่า เดินทางมามากขนาดนี้ มองอนาคตตัวเองไว้อย่างไรบ้าง เพราะข้อจำกัดของการเป็นนักเดินทางคือเรื่องของวัย สุขภาพ รายได้ และอื่นๆ

        มิ้นท์ยกไมค์ขึ้นตอบโดยทันทีว่า คำถามนี้เป็นคำถามที่เธอถามตัวเองอยู่ตลอด เพราะปีนี้หลักอายุเปลี่ยนจากเลข 2 เป็นเลข 3 แล้ว การคำนึงถึงอนาคตที่กำลังใกล้เข้ามาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่คือการทบทวนคำถามอย่างจริงจังของนักเดินทางหญิงอารมณ์ดี

        มิ้นท์บอกว่า ยังเห็นภาพไม่ชัดเจนเท่าไหร่ว่าการเดินทางของตัวเองในอนาคตจะไปจบลงที่ไหน แต่เธอเชื่อว่าอนาคตที่ดีคือการเต็มที่กับวันนี้หรือทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพราะพื้นฐานของเธอเป็นคนทำอะไรเต็มที่อยู่แล้ว แล้วเธอเชื่อว่า ‘ความสุด’ ของเธอจะทำให้อนาคตมีเส้นทางของมันเอง

        ฟังดูแล้วอาจเหมือนภาพอนาคตที่เลื่อนลอย มิ้นท์อธิบายเสริมว่า การเต็มที่กับทุกสิ่งไม่เว้นแม้กระทั่งปัญหาที่เจอคือการสร้างโอกาสในอนาคต เราไม่มีทางแน่ใจได้เลยว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่การเดินทางที่ผ่านมานั้นสอนเธอว่าคนที่เตรียมตัวให้พร้อมที่สุดจะสามารถสร้างทุกอย่างให้เป็นโอกาสได้ ต่อให้สิ่งที่เข้ามานั้นจะเป็นปัญหาก็ตาม

        เธอเชื่อว่าวิธีและแนวคิดนี้คืออนาคตที่เธอกำลังเตรียมพร้อมอยู่ ซึ่งผมฟังแล้วก็ชื่นชอบวิธีคิดในการมองเรื่องอนาคตของมิ้นท์ แม้ภาพอาจจะไม่ชัดเจนนักก็ไม่เป็นไร แต่การเตรียมตัวรับมือกับปัญหาแล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นโอกาสนี่สิสำคัญมาก นั่นหมายความว่าถ้ามีโอกาสที่ดีก็รับ ถ้ามีปัญหาเข้ามาก็เรียนรู้ จัดการ และสร้างเป็นทักษะเพื่อเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต

 

        พิธีกรถามขยายต่อว่า ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่เรียกว่าแผนการยังคงสำคัญไหม มิ้นท์ตอบว่าสำคัญและสำคัญมากด้วย

         การเดินทางสอนเธอเป็นอย่างยิ่งว่าแผนการนั้นสำคัญ เพราะอย่างน้อยเมื่อออกเดินทางก็มีความอุ่นใจว่าเรากำลังจะไปไหน ด้วยวิธีอะไร

        แต่ในอีกมุมหนึ่งการเดินทางก็สอนเธอเสมอว่า ต่อให้วางแผนไปรัดกุมแค่ไหนก็มักจะเจอปัญหาอยู่ดี แต่นั่นแหละคือสิ่งที่เธอได้ทักษะเรียนรู้จากการเดินทาง ซึ่งทำให้ผมนึกถึงคำสอนของอดีตเจ้านายสมัยที่ผมเคยทำงานฝ่ายกลยุทธ์มาก่อน

        ทุกครั้งที่เราประชุมกันมักจะเริ่มจากแผนการที่ใหญ่โตมโหฬาร เรียกได้ว่าเห็นภาพรวมในการเดินหมากอย่างชัดเจนว่าจะเดินตอนไหน กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร และจะมีโอกาสเกิดผลลัพธ์อะไรบ้าง

        แต่สิ่งหนึ่งที่เจ้านายบอกเสมอคือ ‘Making a plan but don’t stick a plan.’ หรือการมีแผนการคือสิ่งที่ดี แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้นคือต้องรู้จักยืดหยุ่นแผนการตามสถานการณ์

        ถ้าเป็นเรื่องของการเงิน เคยมีพี่คนหนึ่งซึ่งเป็นนักวางแผนการเงิน มาเล่าเรื่องแผนเกษียณของลูกค้าให้ฟังว่า ลูกค้ารายนี้อายุเยอะแล้ว ซึ่งพอคำนวณเป้าหมายกับเงินที่ต้องเก็บระหว่างทางให้ไปบรรจบตอนอายุ 60 ก็นับว่าเป็นเงินก้อนใหญ่พอสมควร และอาจทำให้สภาพคล่องในการใช้ชีวิตอึดอัดไปมาก ถ้าเรายังยึดตามแผนโดยไม่ปรับเปลี่ยนตามไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของลูกค้าเลย แผนการเงินนี้จะเป็นเครื่องมือที่ทรมานการใช้ชีวิตของลูกค้าอย่างยิ่ง

        ดังนั้น ต้องรู้จักปรับแผนไปตามสถานการณ์ โดยการหาทางออกด้วยการขยายเวลาออกไปเล็กน้อย เพื่อให้เงินออมและเงินลงทุนต่อเดือนลดทอนลงบ้าง แต่คุณภาพชีวิตยังคงดีเหมือนเดิม เพราะเราไม่ใช่เป็นผู้กำหนดอนาคตได้ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ กับสภาพแวดล้อมและความสนใจของเป้าหมายที่เปลี่ยนไป บางทีเราก็ต้องทำให้แผนนั้นปรับเปลี่ยนตาม ซึ่งผมมองว่าวิธีคิดของมิ้นท์กับแผนการตลาดที่อดีตเจ้านายสอนนั้นเหมือนกัน ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตและการทำงานได้เสมอคือ

        มีเป้าหมายใหญ่ในชีวิต ฝึกเป็นคนที่พร้อมต่อโอกาสที่จะเข้ามา และยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป มองปัญหาให้เป็นโอกาส

        นั่นอาจเป็นนิยามใหม่ของอนาคตที่กำลังมาถึง ไม่ว่าอนาคตนั้นจะมาในรูปแบบของทักษะ การงาน หรือการเงิน