หนึ่ง จักรวาล

‘ไม่มีต้นทุนชีวิต แต่ใช้ความฝันสร้างกำไร’ บทเรียนอันน่าทึ่งของชายที่ชื่อ หนึ่ง จักรวาล

หากพูดถึงตำแหน่ง Music Director หรือ Producer แห่งวงการดนตรี ชื่อของ ‘หนึ่ง’ – จักรวาล เสาธงยุติธรรม จัดอยู่ในอันดับต้นๆ ด้วยผลงานซึ่งเป็นที่รู้จักทั้งจากรายการเพลงยอดนิยมอย่าง The Mask Singer หน้ากากนักร้อง และ I Can See Your Voice Thailand นักร้องซ่อนแอบ 

        ทั้งหมดนั้นคือเบื้องหน้าที่เราแต่รอยยิ้มและแสงไฟที่สาดส่องไปยังเขาบนเวที

        แต่ชีวิตของเขายังมีแง่มุมที่น่าสนใจกว่านั้น กว่าที่ชื่อของ หนึ่ง จักรวาล จะเป็นที่รู้จักและได้รับการยกย่องอย่างทุกวันนี้ ชีวิตบนเส้นทางสายดนตรีของเขาไม่ง่ายเลย เริ่มต้นจากการเติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการมีสุนทรียะทางด้านดนตรี 

        ถ้าถามว่ามากแค่ไหน อยากให้คุณลองจินตนาการถึงเด็กน้อยคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของสลัมคลองเตย ชุมชนที่ขึ้นชื่อว่ายาเสพติดชุกชุมและคนมีคุณภาพชีวิตย่ำแย่ติดอันดับของกรุงเทพมหานคร

        หนึ่งเล่าให้ฟังว่า ตอนเป็นเด็ก การจะมีของเล่นสักชิ้น เขาต้องไปช้อนหาจากในคลองซึ่งเต็มไปด้วยน้ำครำ ถ้าเจอของเล่นจึงค่อยนำมันมาล้างให้สะอาด ชีวิตวัยเด็กเช่นนี้ดูไม่น่าจะส่งเสริมให้เขาเข้าใกล้โลกของดนตรีเลยสักนิด 

        ทว่าจุดเริ่มต้นสู่การสนใจดนตรีของหนึ่งมาจากพ่อของเขา ที่คอยเปิดเพลงและเล่นดนตรีให้ฟังจนเขาเริ่มชอบและพยายามหัดเคาะจังหวะตามพ่อไปด้วย ดังนั้น เครื่องดนตรีชิ้นแรกของเขาคือกระป๋องที่คอยเอาไว้เคาะจังหวะเล่นไปตามประสา ส่วนชิ้นที่สองคือชามตราไก่ใบเก่าๆ ที่สามารถเปลี่ยนโน้ตได้ด้วยการเติมน้ำลงไปในชาม 

        เสียงเพลงนำหนึ่งมาสู่การเป็นนักศึกษาที่วิทยาลัยนาฏศิลป จากเหตุผลข้อเดียวคืออยากเห็นและเล่นเปียโนสักครั้งในชีวิต แต่เมื่อเข้าไปเรียนจริงๆ เขากลับถูกบังคับให้เรียนไวโอลินเป็นหลัก ด้วยความดื้อดึง—หนึ่งแอบไปซ้อมเปียโนด้วยตัวเองทั้งที่มีกฎระเบียบคอยห้ามไว้อยู่ก็ตาม 

        สาเหตุที่หนึ่งอยากเล่นเปียโนขนาดนั้น เป็นเพราะว่าครั้งหนึ่งเขาได้ดูบันทึกการแสดงดนตรีจากวงออร์เคสตรา และสังเกตเห็นว่าในวงนั้นเต็มไปด้วยนักไวโอลินจำนวนมาก ดังนั้น ค่าจ้างจึงต้องถูกหารเฉลี่ยกันไปมากด้วยแน่ๆ 

        ส่วนคอนดักเตอร์ที่เอาแต่ยืนแกว่งไม้บาตองไปมาอยู่หน้าวงดนตรี หนึ่งก็ไม่เข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร แต่แท่นเปียโนที่ตั้งอยู่โดดเด่นในมุมหนึ่งบนเวที มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะได้เล่น และยิ่งเมื่อรู้ในภายหลังว่าคนเล่นเปียโนได้รับเงินมากกว่าตำแหน่งอื่นๆ เขาจึงใฝ่ฝันว่าจะต้องเป็นนักเปียโนให้ได้ 

        เมื่อความสนใจก่อตัวขึ้นจนกลายเป็นฝันที่ชัดเจน ในช่วง ม.1 เทอม 2 หนึ่งเริ่มหาสนามฝึกฝีมือด้วยการขอพ่อแม่ไปเล่นแบ็กอัพตามคาเฟ่ในวันธรรมดาหลังเลิกเรียน ตั้งแต่ 1 ทุ่มถึงตี 3 กลับถึงบ้านตี 4 แล้วค่อยไปโรงเรียนตอนตี 5 วนเวียนแบบนี้ทุกสัปดาห์ นานถึง 3 ปี หนึ่งบอกว่าชีวิตของเขาช่วงนั้นไม่รู้จักคำว่าเตียงนอนเลย  

        ถามว่านอนที่ไหนเวลาใด คำตอบคือในห้องเรียน 

        เพราะไม่มีครูบาอาจารย์คอยสอนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว การเล่นแบ็กอัพในคาเฟ่ที่นอกจากจะได้เงินแล้วยังได้ฟีดแบ็กจากพี่ๆ ในวง ที่จะทำให้เขารู้ตัวเองด้วยว่าฝีมือดีขึ้นหรือแย่ลง 

        แน่นอนว่า ช่วงแรกเขาถูกพี่ๆ เแทบทุกคนด่า แต่ด้วยความที่อยู่ในคลองเตยมาก่อน การโดนก่นด่าจึงเป็นเรื่องปกติที่ชีวิตต้องพบเจออยู่บ่อยๆ เขาจึงปล่อยวางได้มากพอที่จะนำความคิดเห็นเหล่านั้นกลับมาพัฒนาฝีมือการเล่นดนตรีให้ดีขึ้นในทุกๆ คืน  

        ส่วนในวันหยุดอย่างเสาร์-อาทิตย์ หนึ่งจะขังตัวเองอยู่ในห้องซ้อมเปียโนพร้อมกับนม 1 กล่อง และขนมปัง 2 ชิ้น ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น การฝึกสมัยนั้น เขาไม่ใช้วิธีการแกะโน้ตเพลงตามหนังสือ แต่ใช้วิธีการจดจำเสียงตัวโน้ตแต่ละห้องแล้วไล่หาเสียงให้ครบจนจบเป็นบทเพลง 

        เขาฝึก-ฝึก-และฝึก จนคนในคณะเริ่มแนะนำหนึ่งให้กับวงดนตรีและศิลปินคนอื่นๆ ที่กำลังมองหาคนมาช่วยเล่นแบ็กอัพให้ นี่คือจุดกำเนิดของจักรวาลทางดนตรีของเขา ที่ค่อยๆ ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเรียนรู้โดยไม่มีวันหยุด

        หนึ่งเล่าว่าการได้มีโอกาสเล่นดนตรีกับศิลปินทุกๆ คนคือความภาคภูมิใจของเขา และศิลปินเหล่านั้นคือครูในชีวิตของเขาด้วยเช่นกัน 

        ในวันที่มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์รายการเพลงชื่อดังอย่าง The Mask Singer หน้ากากนักร้อง หนึ่งไม่ลืมครูในอดีต เขานำบทเพลงเก่าๆ ที่เคยร่วมเล่นกับศิลปินมากมายที่สาบสูญไปกับกาลเวลาให้คืนชีพกลับมา ผ่านการเรียบเรียงทำนองและคำร้องจากศิลปินหน้าใหม่ร่วมสมัย กลายเป็นกลยุทธ์คืนชีพศิลปินระดับตำนานให้กลับมายืนบนเวทีพร้อมกับการโปรโมตศิลปินหน้าใหม่ไปในตัว โมเดลนี้ยังนำงานใหม่ๆ เข้ามาหล่อเลี้ยงชีวิตศิลปินทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่เหล่านั้นอีกด้วย 

        นี่คือชีวิตที่เต็มไปด้วยการเดินทางที่แสนลำบาก แต่อบอวลไปด้วยบทเรียนมากมาย

        หนึ่งบอกว่าวันที่เขารู้ตัวว่าชอบดนตรี เขาลงมือฝึกฝนและตั้งใจซ้อมอย่างต่อเนื่องและเต็มที่ ไม่ใช่เพื่อที่จะเล่นให้ได้เท่านั้น เพราะสิ่งที่จะทำให้แตกต่างและก้าวไปได้ไกลกว่าไม่ใช่แค่คำว่า ‘เล่นได้’ แต่ต้อง ‘เล่นดี’ ด้วย 

        คำนี้คือคำที่เขาคอยบอกตัวเองอยู่เสมอ และมันยังคงเป็นคำที่เตือนสติให้เขายังคงเป็นนักเรียนรู้ นักสร้างสรรค์ในโลกดนตรี เพื่อออกไปสร้างความสุขให้แก่ผู้ฟังและเพื่อนศิลปินอย่างต่อเนื่อง 

        นี่จึงเป็นเรื่องอัศจรรย์ของการกำเนิดจักรวาลแห่งโลกดนตรี ของเด็กชายคนหนึ่งจากสลัมคลองเตยที่เริ่มบรรเลงเสียงเพลงจากกระป๋องและชามตราไก่ใส่น้ำ

 


ที่มา: เวทีเสวนา The Talks #LifeLongLearning โดย SEAC