peter brand

ถ้าใครไม่ชอบทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย ให้ลองไปเรียนรู้การกอบกู้ทีมจาก Peter Brand

ถ้าให้เลือกภาพยนตร์ที่ชื่นชอบสักเรื่อง คงมีหลายเรื่องที่ทำให้ผมต้องคิดหนัก แต่หากเปลี่ยนคำถามเป็น อยากได้ตัวละครตัวไหนมาเป็นเพื่อนร่วมงานสักคน คนแรกที่ผมนึกถึงคือ ปีเตอร์ แบรนด์

     หลายคนคงงุนงงว่าไอ้เจ้า ปีเตอร์ แบรนด์ เป็นใครมาจากไหน ถ้ายังคิดไม่ออกผมให้เวลาผู้อ่าน 3 วินาทีครับ

     นับ 1… นับ 2… นับ 3…

     ผมเชื่อว่าหากเอ่ยชื่อภาพยนตร์เรื่อง Moneyball (2011) หลายคนคงร้องอ๋ออย่างแน่นอน ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าถึงสถานการณ์ของ Oakland Athletics ทีมเบสบอลที่ตอนนั้นกำลังมีผลงานในเมเจอร์ลีกอย่างย่ำแย่ในช่วงปี 2002 ซึ่งมีผู้จัดการจอมห้าว อย่าง บิลลี บีน (แสดงโดย แบรด พิตต์) เป็นคนคอยสร้างและขับเคลื่อนทีมในช่วงที่เกิดวิกฤต

     สถานการณ์ในช่วงนั้นต้องยอมรับว่า Oakland Athletics ย่ำแย่มาก เพราะนอกจากพ่ายแพ้ติดต่อกันไม่พอ ยังต้องจำใจปล่อยผู้เล่นคนสำคัญๆ ออกไปจากทีมอีก หากใครแนะนำว่าให้ทุ่มเงินเพื่อซื้อผู้เล่นมากฝีมือเข้ามาเสริมทีมนั้น ขอให้ลืมไปได้เลย เพราะงบการเงินในตอนนั้นก็ย่ำแย่พอกัน เมื่อทุกอย่างมีทรัพยากรที่ถูกจำกัดอย่างหนักหน่วงคู่กับสถานการณ์อันเลวร้ายแบบนี้ทีมของ บิลลี บีน ไม่มีทางไปรอดแน่ถ้าไม่เจอคู่คิดอย่าง ปีเตอร์ แบรนด์ (แสดงโดย โจนาห์ ฮิลล์)

     ปีเตอร์ แบรนด์ เป็นบัณฑิตป้ายแดงด้านเศรษฐศาสตร์ที่เข้ามาช่วยเสนอทางออกให้แก่ บิลลี บีน ที่อยู่ในช่วงถังแตก แถมยังต้องพาทีมฝ่ามรสุมช่วงนี้ไปให้ได้ ด้วยการนำวิชาด้านสถิติมาคัดเลือกนักเบสบอลในตำแหน่งต่างๆ เช่น ผู้เล่นที่ขว้างบอลด้วยท่าประหลาดทำให้คู่แข่งวิเคราะห์ได้ยากและมีการทำแต้มได้ ซึ่งสถิติที่ ปีเตอร์ แบรนด์ คัดเลือกผู้เล่นเข้าสู่ทีม Oakland Athletics นั้น มีสิ่งที่ทำให้น่าประหลาดใจคือ ผู้เล่นหลายๆ คนที่มีสถิติเหมาะต่อทีมนั้น ล้วนเป็นผู้เล่นที่ดูธรรมดาทั้งนั้น และไม่ได้โดดเด่นกับทีมที่เคยอยู่มาก่อน

     ทว่าเมื่อจับมารวมตัวกันแล้วผ่านการฝึกซ้อมเพื่อให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทีม Oakland Athletics ที่เป็นทีมแปลกๆ ในสายตาของฝ่ายตรงข้าม กลับค่อยๆ สร้างผลงานได้ดีขึ้น จนทำสถิติชนะต่อเนื่องถึง 20 แมตช์ ซึ่งในเวลานั้นกลายเป็นสถิติใหม่ในเมเจอร์ลีกเบสบอลเลยทีเดียว

 

      Moneyball จึงกลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ในดวงใจของผมที่นอกจากจะได้ชมเกมกีฬาและการแสดงที่ยอดเยี่ยมจาก แบรด พิตต์ แล้ว ยังได้เรียนรู้เกมกลยุทธ์จาก ปีเตอร์ แบรนด์ ด้วย ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกคนเพื่อสร้างทีมทำงาน หรือการริเริ่มเส้นทางการเงินด้วยการลงมือทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เราเห็นพฤติกรรมโดยภาพรวมของชีวิตเราได้ชัดเจนมากที่สุดทางหนึ่งครับ

     หากเราทำบัญชีอย่างละเอียดว่าในแต่ละวันเราใช้จ่ายไปกับอะไร หนึ่งปีผ่านไป เราสามารถกลับมาวิเคราะห์เพื่อทำ New Year’s Resolution ให้ตัวเองผ่านการบันทึกบัญชีรายรับ-รายจ่ายได้ชนิดที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว

     ผมขอยกตัวอย่างประสบการณ์ของผมว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาพบว่าผมมีค่าใช้จ่ายในการซื้อกาแฟดื่มเป็นประจำทุกวันในตอนเช้า โดยผมลองคำนวณแล้วว่าจากเงินจำนวนที่ต้องจ่ายตลอดทั้งปี หากผมลงทุนซื้อเครื่องชงมาทำเอง จะสามารถประหยัดไปได้หลายเท่าเลยทีเดียว

     สถิติอย่างละเอียดทางบัญชีรายรับ-รายจ่ายยังสามารถกลับมาประเมินสุขภาพเราได้ด้วยว่าก่อนที่เราจะป่วยนั้น เราเสียค่าใช้จ่ายไปกับการกินดื่มอะไรในช่วงนั้น ซึ่งทำให้ครั้งหน้าเราสามารถวางแผนหลีกเลี่ยงหรือลดจำนวนต่อการกินดื่มเที่ยวได้เช่นกัน นี่คือประโยชน์จากการทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย ที่กลายมาเป็นแหล่งข้อมูลที่สามารถสะท้อนเกมชีวิตของเราได้อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียวครับ

     ฉะนั้น อย่ามองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายนะครับ เพราะสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำต่อเนื่องอยู่ทุกวันเนี่ยแหละ จะเป็นกุญแจสำคัญในการไขพฤติกรรมและช่วยชี้ทางออกให้แก่ชีวิตในช่วงที่เจอมรสุมต่างๆ ได้ดี ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงิน สุขภาพ หรือภาพรวมของชีวิตในอดีตที่กำลังจะส่งผลต่อชีวิตในอนาคตก็ตาม

     นี่คือเกมชีวิตที่เราล้วนกำหนดเอง